xs
xsm
sm
md
lg

รักษ์วัดรักษ์ไทย : วัดราชโอรสาราม พระอารามประจำรัชกาลที่ 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ “วัดจอมทอง” พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม วัดแห่งนี้จึงกลายเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3

มูลเหตุที่ทรงสถาปนาขึ้นนั้น คงจะเนื่องมาจากบริเวณนี้เป็นนิวาสถานของพระประยูรญาติข้างฝ่ายพระบรมราชชนนีของพระองค์ รวมทั้งเมื่อ พ.ศ. 2363 ครั้งที่ทรงดำรงพระอิสสริยยศ เป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้ทรงยกทัพไปสกัดทัพพม่าที่คาดว่าจะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี

พระองค์ได้เสด็จยาตราทัพออกจากรุงเทพโดยทางเรือ เมื่อกระบวนทัพเรือมาถึงวัดจอมทอง ฝั่งธนบุรี ได้ทรงหยุดพักประทับแรมที่หน้าวัด และทรงประกอบพิธีเบิกโขลนทวารตามตำราพิชัยสงคราม พร้อมทรงอธิษฐานขอให้การไปราชการทัพครั้งนี้ประสบความสำเร็จ และเสด็จกลับมาโดยสวัสดิภาพ

มีเรื่องเล่ากันว่า ท่านเจ้าอาวาสวัดจอมทองในขณะนั้นได้จับยามสามตาดูแล้ว ได้ถวายคำพยากรณ์ไว้ว่า การเสด็จไปทัพครั้งนี้ จะทรงประสบความสำเร็จ และเสด็จกลับมาโดยสวัสดิภาพ พระองค์จึงทรงเลื่อมใส และทรงมีพระดำรัสว่า หากเป็นเช่นนั้นจริง จะสร้างวัดถวายให้ใหม่

ปรากฏว่า ไปตั้งทัพรออยู่เกือบปี ก็ไม่มีวี่แววว่าทัพพม่าจะยกเข้ามา จึงทรงยกทัพกลับ ครั้นเสด็จกลับถึงพระนครแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดจอมทองขึ้นใหม่ทั้งวัด และได้เสด็จมาประทับคุมงานและทรงตรวจตราการก่อสร้างด้วยพระองค์เองตลอดมา โดยส่วนใหญ่จะประทับพักอยู่ที่ใต้ต้นพิกุลใหญ่ข้างพระอุโบสถ และคงจะทรงโปรดต้นพิกุลนี้มาก ถึงกับมีเรื่องเล่ากันต่อๆมาว่า พระองค์ได้เคยรับสั่งกับข้าราชบริพารว่า “ถ้าข้าตาย ข้าจะมาอยู่ที่ต้นพิกุลนี้” และในที่สุด พระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้มาบรรจุอยู่ภายใต้ฐานชุกชีของพระประธานในพระอุโบสถ

ทรงใช้เวลาถึง 11 ปี ในการดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ และเมื่อแล้วเสร็จได้ทูลเกล้าฯถวายเป็นพระอารามหลวง โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ผู้ทรงเป็นพระราชบิดา ได้โปรดเกล้าฯพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดราชโอรส” หมายถึงว่า เป็นวัดที่พระราชโอรสสถาปนา ได้มีงานสมโภชพระอารามเมื่อวันที่ 15-17 มกราคม พ.ศ.2374

ปัจจุบัน วัดราชโอรสเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ ซ.เอกชัย 4 ถ.เอกชัย แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพฯ

การสถาปนาวัดราชโอรสครั้งแรกนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คงจะทรงเห็นเป็นการส่วนพระองค์ จึงทรงพระดำริเปลี่ยนแปลงแบบอย่างศิลปกรรมขึ้นตามความพอพระราชหฤทัย เพราะขณะนั้นได้ทรงกำกับกรมท่า ทำการค้าติดต่อกับประเทศจีน และทรงนิยมศิลปะแบบจีนมาก จึงทรงโปรดให้ตกแต่งวัดด้วยศิลปกรรมแบบจีนเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีศิลปกรรมแบบไทยผสมผสานอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง

ศิลปกรรมไทยที่มีอยู่ในวัดนี้ ได้ทรงสรรค์สร้างให้กลมกลืนงดงามอย่างหาที่ติมิได้ เช่น ลายกระแหนะรูปเสี้ยวกางที่บานประตูหน้าต่างพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ นับเป็นครั้งแรกของสยามประเทศที่มีการประยุกต์ศิลปกรรมได้อย่างประณีตยิ่งนัก เช่น รูปทรงหลังคาพระอุโบสถ พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ตลอดถึงกุฏิ และนับเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่มีการสร้างโบสถ์วิหารที่ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่ก็ยังคงรูปสิ่งเหล่านี้ไว้ให้เป็นสัญลักษณ์แห่งศาสนสถานได้อย่างสง่าและงดงาม

กล่าวได้ว่า ในบรรดาพระอารามซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์ไว้เป็นจำนวนมากนั้น วัดที่สร้างด้วยมีฝีมืออันประณีตและมีแบบอย่างศิลปกรรมที่แปลกและงดงามเป็นพิเศษ จนเป็นที่เลื่องลือกล่าวขวัญกันมาก คงไม่มีวัดใดเสมอด้วยวัดราชโอรสาราม

นิยมกันว่าพระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร พระประธานในพระอุโบสถมีความงดงามกว่าพระพุทธรูปองค์อื่นๆที่ทรงสร้างในรัชกาลที่ 3 และฐานชุกชีที่ประดิษฐานก็ละเอียดประณีตงดงาม ไม่มีที่ใดเหมือน โดยทำเป็นกุดั่นคือเป็นลายทองแกมแก้ว

นับแต่สมโภชพระอาราม วัดที่มีอายุร่วม 200 ปี ก็ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา เจ้าอาวาสทุกรูปก็ได้ดูแลให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์มาทุกยุคทุกสมัย ล่าสุด ปี 2555สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้จัดทำโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชโอรสาราม เป็นปีแรก โดยเริ่มจากศาลาการเปรียญ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2556

พระแท่นที่ประทับ

แผ่นศิลาสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง 72 ซม. ยาว 90 ซม. หนา 7.5 ซม. ซึ่งประดิษฐานอยู่ใต้ต้นพิกุลด้านทิศเหนือตอนหน้าของพระอุโบสถ เป็นพระแท่นที่ประทับประจำของรัชกาลที่ 3 ขณะดำรงพระอิสสริยยศเป็นพระเจ้าพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อเสด็จมาทรงคุมงานและตรวจตรางานก่อสร้างวัดราชโอรสารามตลอดเวลา 11 ปี

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 147 มีนาคม 2556 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)




พระแท่นที่ประทับ
กำลังโหลดความคิดเห็น