อ่างทอง - บูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ “วัดไชโยวรวิหาร” วัดดังเมืองอ่างทอง คาดใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท โดยการบูรณะซ่อมแซม สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และในระหว่างการบูรณะซ่อมแซม ทางวัดไม่อนุญาตให้ประกอบพิธีพุทธาภิเษกใดๆ ทั้งสิ้น
วันนี้ (19 ก.พ.) พระครูปลัดวิเชียร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไชโยวรวิหาร ต.ไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางวัดไชโยวรวิหาร (วัดเกษไชโย) กำลังดำเนินการบูรณะซ่อมแซมศาสนสถานภายในวัดทั้งหมด โดยการบูรณะครั้งนี้ เป็นการซ่อมแซมครั้งใหญ่ในรอบประวัติศาสตร์ เนื่องจากเสนาสนะภายในวัดชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา ประกอบกับวัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จึงถูกน้ำท่วมบ่อยครั้งทำให้โครงสร้างเสียหาย และกระแสน้ำกัดเซาะชั้นใต้ดิน
“สิ่งก่อสร้างหลักสำคัญที่ต้องบูรณะซ่อมแซม ประกอบด้วย อุโบสถ มหาวิหารประดิษฐานพระมหาพุทธพิมพ์ มหาวิหารประดิษฐานรูปหล่อเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ โตๆ ตามเจตนารมณ์ของเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจาร์ยโต พรหมรังสี นอกจากนี้ ยังมีศาลากุฎิสงฆ์ และศาลาหอสวดมนต์ที่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ คาดว่าใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ในระหว่างการบูรณะซ่อมแซมทางวัดไม่อนุญาตให้ประกอบพิธีพุทธาภิเษกใดๆ ทั้งสิ้น ที่สำคัญพบว่าได้มีประชาชนเดินทางมาเฝ้ารอว่าจะพบพระสมเด็จเกษไชโย ซึ่งอาจตกค้างหลงเหลืออยู่ในมหาวิหารอีกหรือไม่
การบูรณะซ่อมแซมดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ รับโครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พุทธศาสนิกชนสามารถบริจาคปัจจัยบูรณะวัดหลวงโดยเสด็จพระราชกุศลตามกำลังศรัทธา”
สำหรับ “วัดไชโยวรวิหาร” เดิมเป็นวัดราษฎร์โบราณ ซึ่งต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ได้สร้างพระพุทธรูปปางสมาธิองค์ใหญ่เป็นปูนขาวไม่ปิดทองไว้กลางแจ้ง ณ วัดแห่งนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้เสด็จมานมัสการ และโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดไชโย ในปี พ.ศ.2430
ระหว่างการลงรากพระวิหาร ทำให้องค์หลวงพ่อโตพังลงมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหลวงพ่อโตขึ้นใหม่ตามแบบหลวงพ่อโต วัดกัลยาณมิตร มีขนาดหน้าตักกว้าง 16.10 เมตร สูง 22.65 เมตร แล้วพระราชทานนามว่า “พระมหาพุทธพิมพ์” สร้างพระวิหารเป็นเรือนองค์พระพุทธรูป ความสูง 1 เส้นเศษ สร้างพระอุโบสถเป็นมุขลดยื่นออกมาข้างหน้า รวมทั้งศาลารายรอบพระวิหาร รวม 4 หลัง เสร็จสมบูรณ์เมื่อปีมะแม พ.ศ.2438 รวมเวลาที่ปฏิสังขรณ์นาน 8 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะวัดไชโยขึ้นเป็นอารามหลวง
ตั้งแต่ระยะแรกของการปฏิสังขรณ์ พร้อมกับพระราชทานนามพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่นี้ว่า “พระมหาพุทธพิมพ์” นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าฯ ให้มีมหกรรมเฉลิมฉลองพระอารามวัดไชโยเป็นงานใหญ่ 3 วัน 3 คืน เมื่อวันที่ 5-7 ตุลาคม พ.ศ.2438 พระราชทานของช่วยงาน ได้แก่ ละคร 1 โรง หนัง 1 โรง ดอกไม้เพลิง 1 ต้น กัลปพฤกษ์ 2 ต้น ต่อมา ปี พ.ศ.2531 ได้เริ่มปิดทององค์พระมหาพุทธพิมพ์ โดยดำเนินการภายใต้การควบคุมดูแลของกรมศิลปากร