การทำวัตร หมายถึง การทำกิจที่ต้องทำประจำจนเป็นวัตรปฏิบัติของพระภิกษุ สามเณร รวมถึงอุบาสกอุบาสิกาที่เข้าวัดรักษาอุโบสถศีล เรียกสั้นๆว่า ทำวัตร เป็นกิจที่ต้องทำประจำวันละ ๒ เวลา คือเช้ากับเย็น โดยกิจที่ต้องทำนี้ได้แก่ การสวดบูชาพระรัตนตรัย การสวดพิจารณาปัจจัยที่บริโภคใช้สอยทุกวัน การสวดเจริญกัมมัฏฐานตามควร และการสวดอนุโมทนาทานของทายก รวมถึงการสวดแผ่กุศลเจริญเมตตาแก่สรรพสัตว์ ซึ่งคำสวดเหล่านี้กำหนดเป็นแบบแผนนิยมไว้ทั้งสามัญทั่วไป และเฉพาะของแต่ละวัดก็มี
การสวดมนต์ คือ การสวดบทพระพุทธมนต์ต่างๆ ที่เป็นส่วนพระสูตรจากพระไตรปิฎกก็มี ที่เป็นส่วนพระปริตรก็มี ที่เป็นส่วนเฉพาะคาถาอันนิยมกำหนดให้นำมาสวดประกอบในการสวดมนต์เป็นประจำก็มี นอกเหนือจากบททำวัตร ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ภาษาบาลีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔ ขณะทรงผนวช)
เมื่อรวมการสวดทั้งสองนี้เข้าด้วยกัน จึงเรียกว่า การทำวัตรสวดมนต์
ความมุ่งหมายของการทำวัตรสวดมนต์ ก็เพื่อเป็นอุบายสงบจิต (จัดเป็นสมถกัมมัฏฐาน คืออุบายทำจิตให้สงบเป็นสมาธิ) ไม่ให้คิดวุ่นวายตามอารมณ์ได้ชั่วขณะที่ทำ เมื่อทำประจำวันละ ๒ เวลา ทั้งเช้า-เย็น เวลาประมาณครั้งละครึ่งชั่วโมง-หนึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ก็เท่ากับได้ใช้เวลาสงบจิตได้วันละไม่ต่ำกว่า ๑ ใน ๒๔ ชั่วโมง
จิตใจที่สงบแล้ว แม้เพียงเวลาเล็กน้อยก็มีผล ทำให้เยิอกเย็นสุขุมไปหลายชั่วโมง ดังคำกล่าวที่ว่า “จิตสงบจะพบความสุขที่เยือกเย็น” เหมือนถ่านไฟที่ลุกโซน เมื่อจุ่มน้ำดับสนิท กว่าจะติดไฟคุใหม่ได้ต้องใช้เวลานาน
ฉะนั้น อุบายนี้จึงเป็นที่นิยมสำหรับสมณะหรือผู้ปฏิบัติใกล้ต่อสมณะ นอกจากเป็นอุบายดังกล่าวแล้ว สำหรับพระภิกษุสามเณร การทำวัตรสวดมนต์ยังมีผลทางพระวินัยที่สามารถเปลื้องมลทินบางอย่างในการบริโภคปัจจัยโดยไม่ทันพิจารณาได้ และมีผลในการอนุโมทนาปัจจัยทานของทายกที่ถวายมาเป็นประจำ กับทั้งเป็นโอกาสให้ได้แผ่ส่วนบุญของตนแก่ผู้อื่นด้วยจิตใจที่สงบบริสุทธิ์อีกด้วย
จุดประสงค์ของการทำวัตรสวดมนต์
การทำวัตรสวดมนต์หรือการไหว้พระสวดมนต์ ถือว่าเป็นกุศลประการหนึ่ง คำสำหรับสวดนต์ นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาได้รวบรวมมาจากพระไตรปิฎกเป็นสูตร เช่น มงคลสูตร เป็นคาถา เช่น เขมาเขมสรณคมนปริทีปิกาคาถา เป็นต้น ล้วนเป็นเครื่องแสดงหลักสัมมาปฏิบัติ และกระตุ้นเตือนให้เกิดความสังเวชสลดใจ ให้มีสติช่วยตนเองให้พ้นภัยในสังสารวัฏ
ฉะนั้น ผู้สวดจะได้ความปีติปลาบปลื้มใจเป็นอานิสงส์ เพราะในขณะสวดก็เท่ากับอัญเชิญพระพุทธโอวาท หรือคำสอนของนักปราชญ์มาพร่ำสอนตนเอง เป็นเหตุปลูกความเลื่อมใสและเป็นอุบายจูงใจให้สงบ
จุดประสงค์ที่แท้จริงของการไหว้พระสวดมนต์ ตามที่ได้ยินไดัฟังมา และได้อ่านพบตามหนังสือที่ท่านผู้รู้แจ้งแต่งไว้ สามารถสรุปกล่าวได้ดังนี้
๑. เพื่อทบทวนพระพุทธพจน์ คือพระธรรมวินัย อันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธองค์
๒. เพื่อทำความคิดเห็นให้ตรง (ทิฏฐุชุกรรม) ตามหลักธรรมของพระพุทธองค์
๓. เพื่อทำให้เกิดความสามัคคีกันในหมู่คณะ
๔. เพื่อบำเพ็ญตบะฝึกกายใจตนเองให้เข้มแข็ง
๕. เพื่อบำรุงศรัทธาปสาทะของคนทั้งหลาย
๖. เพื่อรักษาธรรมเนียมโบราณอันดีงามไว้ให้คงอยู่
๗. เพื่อระลึกถึงและบูชาคุณพระรัตนตรัย
๘. เพื่อช่วยให้เกิดสมาธิสร้างพลังทางจิต มีความสงบเยือกเย็นเกิดขึ้นภายในจิตใจ และเป็นอุบายทำให้เกิดปัญญา
๙. เพื่อสร้างสิริมงคล ช่วยน้อมจิตของตนและผู้ฟังให้ยึดเหนี่ยวและตั้งมั่นในคุณความดี
ฉะนั้น การไหว้พระสวดมนต์จึงไม่ใช่เป็นการสวดอ้อนวอน เพื่อขอผลตอบแทนทางด้านวัตถุ ไม่ใช่สวดเพื่อให้เกิดผลร้ายแก่ผู้อื่น ไม่ใช่สวดเพื่อปลุกเสกให้ขลัง อันทำให้เกิดความหลงใหล และไม่ใช่สวดเพื่อขับกล่อมประกอบการสังเวยเทพเจ้า
ประโยชน์ของการสวดมนต์
๑. ไล่ความเกียจคร้าน ตัดความกังวล ก่อให้เกิดความสดชื่นแจ่มใส จิตใจเบิกบาน
๒. ได้เฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะในขณะสวดมนต์มีกายวาจาปกติ (มีศีล) มีใจจดจ่อแน่วแน่อยู่กับบทสวดมนต์ (มีสมาธิ) ได้รู้คุณความดีของพระรัตนตรัย ตามคำแปลของบทสวด (มีปัญญา)
๓. ตัดความเห็นแก่ตัว เพราะขณะสวดมนต์ จิตจดจ่ออยู่ที่บทสวด ไม่คิดถึงตัวเอง ความโลภ โกรธ หลง จึงไม่ได้โอกาสเข้ามาแทรกในจิตได้
๔. จิตมีสมาธิมั่นคง เพราะขณะสวดมนต์ผู้สวดจะต้องสำรวมใจแน่วแน่ ด้วยเกรงว่าจะสวดผิด จิตจึงเป็นสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิ ความสงบเยือกเย็นย่อมเกิดขึ้นแน่นอน ดังคำกล่าวที่ว่า “เมื่อจิตสงบ ก็จะพบความสุขที่เยือกเย็น”
๕. ได้ปัญญาบารมี การสวดมนต์ได้รู้คำแปล รู้ความหมาย ย่อมทำให้ผู้สวดได้ปัญญาบารมี
๖. เป็นการสืบต่ออายุพระศาสนา เพราะคำที่สวดล้วนเป็นแนวทางหรือข้อปฏิบัติในการดำเนินชีวิตที่ดี เมื่อปฏิบัติตาม ย่อมได้รับผลเป็นความสะอาด สว่าง สงบของจิตใจ นั่นคือพระพุทธศาสนามั่นคงอยู่กับผู้สวดมนต์ และถือได้ว่าได้ปฏิบัติบูชาโดยแท้จริง
อานุภาพของการสวดมนต์ (หรือสวดพระปริตร)
๑. งูที่มุ่งจะกัด ก็ไม่กัด ปากที่อ้าไว้ก็หุบ
๒. โจรที่ยกก้อนหินก้อนดินจะทุ่มก็ไม่ทุ่ม กลับทิ้งก้อนหินก้อนดินเสีย แล้วเปลี่ยนใจมารัก
๓. ช้างที่โกรธ วิ่งมาถึงก็กลับหยุดชะงักงัน สงบอยู่
๔. กองไฟใหญ่ ที่ลุกโชติช่วงไหม้ลามเข้ามาใกล้ก็ดับ
๕. ยาพิษแม้ที่ร้ายแรงที่ดื่มกินเข้าไป ก็กลายเป็นยา หรือแผ่ซ่านไปเป็นอาหาร
๖. ผู้ที่ประสงค์จะฆ่า เข้ามาใกล้ก็กลับยอมเป็นทาส
๗. บ่วงแร้วที่เขาดักไว้ แม้เหยียบไปก็จะไม่รัดเท้า (กับระเบิดที่เขาวางดักไว้ แม้เหยียบไป ก็จะไม่ระเบิด)
(จากหนังสือ คู่มือพุทธศาสนิกชน)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 148 เมษายน 2556 โดย แก้ว ชิดตะขบ นักวิชาการศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)