ในวงการจักรยานต่างรู้จักผู้ชายคนนี้เป็นอย่างดี จากเกียรติประวัติแห่งชีวิตบนหลังอานในนามทีมชาติไทย สู่การประดิษฐ์สร้างเฟรมจักรยานของตัวเอง เปิดเป็นโรงเรียนโรงฝึกสอนอย่างง่ายๆ เพื่อถ่ายทอดกรรมวิธีการสร้างเฟรมจักรยาน กว่า 50 ปีคือชีวิตในวงการจักรยานของ “สุรชัย ศศิบุตร”
ไม่แปลกที่เขาจะได้รับการขนานนามให้เป็นตำนานคนหนึ่งแห่งวงการจักรยานไทย
หากแต่ในวันนี้หลังจากอุบัติเหตุคลาดชีวิตของ 2 สามี - ภรรยานักปั่นรอบโลกในเมืองไทย ท่ามกลางความหวังอันน้อยนิดของคนปั่นจักรยานในกรุงเทพฯ ต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง เขาเปรยถึงความรู้สึกต่อความสูญเสียอย่างปลดปลง
“มันคือความห่วยของคนขับรถในเมืองไทย ประเทศไทยอาจมีน้ำใจต่อกันในด้านอื่นๆ แต่บนท้องถนนมันไม่มีอยู่เลย” เขาเอ่ยด้วยสีหน้าจริงจัง
วันนี้ทีมงาน M - lite ได้มาถึงที่บ้านของสุรชัย ที่ได้ชื่อว่า บ้านเสือหมอบ เพราะมันเป็นบ้านที่เต็มไปด้วยจักรยานเสือหมอบ เราแอบเห็นรถของเขาจอดอยู่ในบ้าน ท้ายรถปิดสติกเกอร์เป็นข้อความสั้นๆ เหมือนเป็นนิยามชีวิตของเขา
“born to be rider” ความหมายว่า “เกิดมาปั่น”
จักรยานหัวใจแห่งวัยเด็ก
“มาหลงรักจักรยานได้อย่างไร?” นี่คือคำถามแรกที่ทีมงาน M - lite เลือกที่จะถาม แน่นอน มันเป็นคำถามที่ถูกถามมานับครั้งไม่ถ้วนแล้วในชีวิตตำนานจักรยานที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่แปลกที่คำตอบที่ได้ยินจะเจือด้วยน้ำเสียงเบื่อหน่าย หากแต่มันก็เป็นความเบื่อหน่ายที่เต็มไปด้วยความรักกับสิ่งที่อยู่เขามีชีวิตอยู่กับมันมามากว่า 50 ปี
“มันน่าเบื่อนะ เพราะอยู่มานานบางทีก็ถูกถามคำถามเดิมๆ” เขาเอ่ยขึ้น “ก็เริ่มขี่มาตั้งแต่เด็กๆ ชอบมาตั้งแต่ตอนนั้น เด็กผู้ชายมันก็ต้องคู่กับจักรยาน แล้วมันก็ติดพันขี่มาตลอด ขี่แล้วก็เก่ง ติดใจ บางทีก็ไม่รู้จะพูดยังไงนะ ก็คนมันชอบ มันเหมาะกับเราน่ะ”
ความหลงใหลในจักรยานโดยเฉพาะที่เรียกกันว่า จักรยานเสือหมอบนั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2505 เมื่อเขาอายุได้ 15 ปี และได้มารู้จักกับจักรยานเสือหมอบครั้งแรก มันทำให้เขาตกหลุมรัก
“เสือหมอบมันไม่เหมือนอย่างอื่น จากจักรยานปกติ มาเป็นเสือหมอบ การที่เราปั่นไปด้วยความเร็ว วิ่งไปในลักษณะหมอบมันเหมือนเราเหาะได้”
ความชอบตรงนี้ทำให้อดีตเด็กชายนักสะสมแสตมป์ไทยอย่างเขาตัดสินใจขายแสตมป์ทั้งหมดได้เงิน 400 กว่าบาท แล้วกำเงินไปซื้อจักรยานเสือหมอบคันแรก วันที่ 7 กันยายน 2505 เขายังคงจำวันนั้นได้ดี
“เมื่อก่อนเด็กๆเป็นนักสะสมแสตมป์ไทย ก็รวบรวมขายให้เพื่อนทั้งหมดได้ 400 กว่าบาท กำเงินไปต่อรถคันแรก 7 กันยายน 2505 ตอนนั้นอายุ 14 กว่ายังไม่ 15 เต็มเลย”
และในช่วงที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนโยธินบูรณะซึ่งมักจะมีนักกีฬากรีฑาเก่งๆ เขาพบว่าตัวเองไม่เก่งกรีฑาสักเท่าไหร่ หากแต่เมื่อมาอยู่บนหลังจักรยานเขากลับเอาชนะหลายๆ คนได้ จนถึงขั้นติดทีมชาติ
“ตอนเรียนอยู่ เราก็อยากเป็นนักกีฬาเหมือนกัน เราวิ่งไม่เร็วแต่พอมาเป็นจักรยาน เฮ่ย! เข้าท่า เราเร็วกว่า จักรยานจะใช้หน้าขามากกว่า นักวิ่งใช้น่องข้อเท้าจักรยานสังเกตท่องขาบนจะใหญ่กว่า กล้ามเนื้อเราอาจจะเหมาะอย่างนั้น รูปร่างสรีระเราก็พอได้ เลยเริ่มแข่งไปจนถึงทีมชาติ”
ตำนานการแข่งสู่บ้านเสือหมอบ
บ้านเสือหมอบคือโรงเรียนสอนทำเฟรมจักรยาน ขณะเดียวกันก็ผลิตเฟรมจักรยานยี่ห้อ BOSS ซึ่งสุรชัยเป็นผู้ผลิตขึ้นเอง ด้วยความมั่นใจในภูมิปัญญา และความยากในการต่อประกอบที่ไม่มีใครทำได้เหมือน
ทว่าหนทางจากนักปั่นทีมชาติสู่นักทำเฟรมจักรยานนั้นเกิดจากความรักที่ใส่ใจในรายละเอียดซึ่งกินเวลายาวนานหลายปี
“แรกๆ สมัยก่อนคนขับจักรยานจะโดนมองว่าเป็นพวกกุ๋ยบ้าง เด็กส่งหนังสือพิมพ์บ้าง แต่พอเรามีผลงานในการแข่งออกมา มันก็ทำให้คนมองเปลี่ยนไป จักรยานมันสร้างชื่อเสียงให้เราได้ เหรียญจากกีฬาเอเชียนเกมส์ที่ได้จากจักรยานก็ทำให้ผู้ใหญ่บริหารระดับสูงของประเทศเริ่มหันมาสนใจ”
2512 ได้เหรียญทองแดงประเภททีมถนน แมสสตาร์ท ระยะทาง 180 กม. ในการแข่งขันจักรยานชิงแชมป์เอเชีย ณ ประเทศเกาหลีใต้
2514 ได้ 2 เหรียญทอง เหรียญแรกจากประเภทถนนทีมไทม์ไทรอัล ระยะทาง 100 กม. เหรียญที่สองจากประเภทถนนบุคคลแมสสตาร์ท ระยะทาง 100 กม. และได้หรียญทองแดงจากประเภทลู่บุคคลไทม์ไทรอัล ระยะทาง 1,000 เมตร ณ สนามเมอร์เดกา ประเทศมาเลเซีย ทั้ง 3 เหรียญนี้ได้จากกีฬาเซียปเกมส์ประเทศมาเลเซีย
2516 ประสบอุบัติเหตุขณะฝึกซ้อมที่ประเทศสิงคโปร์ เจ้าภาพเซียปเกมส์ครั้งที่ 7 จึงไม่ได้ลงแข่ง ต่อจากนั้นประมาณ 1 เดือนได้เดินทางไปแข่งขันจักรยานชิงแชมป์เอเชีย ณ ประเทศญี่ปุ่น ได้อันดับที่ 4 ในประเภทสเครชสปรินทต์ระยะทาง 1,000 เมตร
การใช้ชีวิตนักแข่งจักรยานมาหลายปี ทำให้เขาอยู่กับจักรยาน ได้ผ่านเฟรมจักรยานมาหลายแบบหลายประเภท ได้เห็นจักรยานของเพื่อนนักปั่นชาวต่าวชาติ เขาก็ได้ศึกษาถึงโครงสร้าง วัสดุรวมถึงองศาของเฟรมจักรยานซึ่งเป็นเสมือนหัวใจของจักรยานทุกคัน เก็บศึกษาในทุกรายละเอียด รวมถึงพื้นฐานที่จบการศึกษาจากโรงเรียนช่างกลพระนครเหนือ สาขางานช่างเชื่อมและโลหะแผ่น ทำให้เขามั่นใจว่าสามารถสร้างเฟรมจักรยานขึ้นมาเองได้
“ครั้งแรกที่ทำ เราอาศัยว่าเราผ่านเฟรมจักรยานต่างประเทศมามาก ต่างประเทศเขามีรถแปลกเราก็ชอบไปดู ศึกษาถึงองศาของมัน ข้อต่อเป็นอย่างไรก็ไปดู”
ระหว่างชีวิตการทำงานราชการยาวนานตั้งแต่ปี 2516 - 2549 เขายังคงอยู่ในแวดวงจักรยาน เริ่มก่อตั้งบ้านเสือหมอบที่ผลิตเฟรมจักรยานยี่ห้อ BOSS ตั้งแต่ปี 2530 ซึ่งปัจจุบันนี้ก็เป็นที่ใฝ่ฝันของนักปั่นจักรยาน
“หลังจากที่เราทำเป็น ก็มีเด็กรุ่นใหม่ที่ชอบจักรยานแบบวินเทจ เขาก็สั่งเหล็กโคลัมบัสเข้ามาแล้วขอให้เราสอน เราก็ไม่รู้ว่าจะคิดค่าสอนยังไง ตอนนั้นยังให้เขาซื้อเหล็กโคลัมบัสมาเป็นค่าสอน 1 ชุดสำหรับเขาหัดเรียนต่อเอง อีกชุดเป็นค่าสอน”
มาถึงตอนนี้การสอนทำเฟรมจักรยานยังคงเป็นแบบมาขอเรียน ไม่ได้มีความเป็นทางการ ผลงานเฟรมที่สำเร็จออกมาคือใบปริญญาของลูกศิษย์แต่ละคน เขาบอกได้เลยว่า เป็น 1 ในอาเซียน
“ในโลกนี้สอนต่อจักรยานมีแค่ในอังกฤษ อเมริกา และญี่ปุ่นเท่านั้น ที่นี่ในประเทศไทยก็ถือว่ามีที่เดียว”
แต่หลังจากหลายปีที่เกษียณมาจากงานประจำสู่การเป็นอาจารย์สอนต่อจักรยานเต็มเวลา เขาพบว่างานที่เจอนั้นหนักกว่าสมัยยังทำงานอยู่
“มาถึงปีนี้ก็วางแผนไว้แล้วว่าจะเป็นปีสุดท้าย ศิษย์รุ่นต่อไปก็จะเป็นรุ่นสุดท้ายที่จะรับสอนแล้ว คือคิดว่าอยากจะไปทำอย่างอื่น ยังไงก็ไม่หนีหายไปจากจักรยาน เกี่ยวกับจักรยานนี่แหละ”
ความเศร้าหลังความตาย
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ทีมงาน M - lite มาเยือนถึงถ้ำเสือหมอบ คือคำตอบในฐานะนักปั่นจักรยานที่คลุกอยู่ในวงการมาอย่างช้านาน คำตอบของสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ของอุบัติเหตุบนถนนสาย 304 อ. พนมสารคาม จ. ฉะเชิงเทราที่เกิดขึ้นกับปีเตอร์ รูท และแมร์รี่ ทอมป์สัน 2 นักปั่นชาวอังกฤษที่ปั่นจักรยานผ่านมาแล้วหลายประเทศทั่วโลก...แต่มาเสียชีวิตที่เมืองไทย
“พูดง่ายๆ มันสะท้อนถึงความห่วยของคนขับรถที่มีต่อคนขับจักรยาน” น้ำเสียงจริงจังของนักปั่นวัย 60 ดังขึ้น “บ้านเราเห็นจักรยานเป็นสิ่งเกะกะ ไม่ระวัง เหมือนจักรยานเป็นสิ่งสร้างความรำคาญให้กับตัวเอง”
เมื่อเทียบกับต่างประเทศอย่างในยุโรปหรืออเมริกา เขาเห็นว่าแตกต่างกันมาก จะมีการระวัง หลีกทางให้ ครั้งหนึ่งที่ระหว่างไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์จักรยานในอิตาลี เขาได้เห็นจักรยานคันหนึ่งกำลังขับขึ้นเขา พบว่ารถที่ขับตามมาไม่พยายามเร่งหรือแซง หากแต่คอยให้รถผ่านไปก่อน ถึงจะเร่งเครื่องขึ้น
“เราก็ชอบดูจักรยาน ตอนนั้นมีจักรยานกำลังขึ้นเขา เสือหมอบเวลาขึ้นมันก็ไปได้ไม่เร็ว รถเขาก็ไม่แซงนะ เขาขับตามไม่มีเร่งด้วย ซึ่งผู้โดยสารที่นั่งมาด้วยก็ไม่ได้เดือดร้อน พอพ้นจักรยานก็ค่อยเร่งเครื่องไป”
ขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นท้องถนนในสังคมไทยที่ต่างชาติฉายาว่า เมืองแห่งรอยยิ้ม เขาบอกเลยว่า การบีบแตรไล่แทบจะเป็นเรื่องปกติ
“บ้านเราโดนบีบแตรไล่ แกล้งได้ก็แกล้ง ไม่มีความมีน้ำใจ เราอาจจะมีน้ำใจเรื่องอื่น แต่บนท้องถนน น้ำใจเรายังมีน้อย อาจจะมีน้ำใจ ฝรั่งมาต้อนรับขับสู้ดี แต่บนทางจราจรไม่มี วัยรุ่นขับรถเบียดได้ก็เบียด รถเมล์นี่ตัวร้าย รถใหญ่เขาชอบแกล้ง เวลาไปใกล้เขาก็รำคาญเรา พอเข้าป้ายเราแซงเขา พอออกเขาแซงเรา ทั้งหมดนี้มันมาจากที่ทัศนคติของคนไทยในการมองจักรยานยังมีปัญหาอยู่”
อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุครั้งนี้ส่วนหนึ่งจากการผ่านโลกมามากเขาก็มองว่า มันอาจเป็นเพียงเหตุบังเอิญที่ไม่มีเหตุมีผล
“เราอาจจะเห็นอะไรมาเยอะ เขาอาจจะต้องมาตายที่นี่ ทำยังไงก็ต้องตาย คนมันจะตาย มองไปเหมือนไม่มีเหตุมีผล ดูไปถึงเรื่องอะไร โชคชะตาฟ้าลิขิต เขาจะมาตายเมืองไทย ไปทั่วโลกเยอะแยะไม่ตาย เขาถึงคาดต้องมาตายที่นี่ ผมขี่มาตั้งนานยังไม่ตายก็แค่นั้นแหละ” เขาเอ่ยเหมือนการยกโทษทัณฑ์ทั้งหมดให้กับโชคชะตา ทว่าสิ่งนี้อาจเป็นการมองโลกในแง่ดี เป็นข้อความส่งถึงผู้ที่จะลุกขึ้นมาปั่นจักรยานต่อไปก็เป็นได้
และด้วยความที่กลุ่มคนมีน้อย การบาดเจ็บแทบจะเป็นเรื่องปกติ ทำให้การตายกลายเป็นเรื่องที่เล่าสู่กันฟังในวงการ เขามองว่ายังน้อยหากเทียบกับภาหนะประเภทอื่น
“อาจด้วยจำนวนคนใช้จักรยานมันก็น้อยนะ แต่มีไม่กี่คนหรอก เลยคิดว่ามันก็ไม่อันตรายมาก”
แต่เขายังคงทิ้งทวนถึงป้ายที่ติดอยู่ตามท้องถนนป้ายแผ่นหนึ่งที่สะท้อนถึงปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่
“คุณเคยเห็นใช่มั้ย? วินัยจราจรสะท้อนวินัยชาติ คนไทยส่วนหนึ่ง ส่วนใหญ่ชอบทำอะไรที่มันสบายๆ ทำได้ตามใจคือไทยแท้ สบายๆ ไม่ค่อยมีระเบียบวินัยมากมาย มันก็จะส่งสะท้อนผลพวกนี้ ไม่ค่อยแคร์อะไรใคร คือเอาแต่สะดวกตัวเอง”
วันรณรงค์โชว์จักรยาน
กระแสจักรยานปั่นในเมืองถือเป็นความฝันของคนกรุงเทพฯ หลายคน ไม่แปลกที่นโยบายเกี่ยวกับจักรยานถูกบรรจุเข้ามาในการหาเสียงผู้ว่าฯหลายคนในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด แต่เมืองที่ปลอดภัยมีทางจักรยานก็ยังไม่เกิดขึ้นเสียที
“เคยคุยกันมาหลายครั้งแล้วว่า คนไทยจะไม่ใช้จักรยานจนกว่าน้ำมันหมดโลก สาเหตุต้นๆ คนไทยยังไม่มีนิสัยรักการขี่จักรยาน” สุรชัยในฐานะนักปั่นคนหนึ่งที่มีความฝันเดียวกับนักปั่นหลายคนในประเทศวิเคราะห์สาเหตุราวกับเป็นสิ่งที่เขาคิดมาตลอดหลายปี “สาเหตุต่อๆ มามันก็มีอีก สิ่งแวดล้อมมันก็ไม่เอื้อ ร้อนชื้น เหงื่อเต็มขับไป ที่ทำงานก็ไม่รองรับ ถ้าจะะสนับสนุนเราต้องสนับสนุนหมด”
จากนั้นเขาก็เล่าถึงภาพความคิดที่พอจะเป็นไปได้ออกมา เริ่มตั้งแต่การสนับสนุนจากจุดเล็กๆ ให้มีห้องอาบน้ำในที่ทำงานอาบน้ำเปลี่ยนชุด หรือแต่งชุดที่เหมาะกับการขับจักรยานมาทำงานได้ หากเป็นโรงเรียนก็ควรมีที่จอดรถจักรยาน
“เริ่มจาก 5 - 6 คนในบริษัทก่อนก็ได้ เริ่มจากผู้บริหารเลยยิ่งดี ลูกน้องจะได้เอาอย่างตาม จากนั้นถ้ามันเวิร์กก็ค่อยเพิ่มขึ้น ขยายขึ้น คนมาใช้มากขึ้นก็สร้างสิ่งที่ให้มารองรับมากขึ้น”
และบนท้องถนนสิ่งง่ายๆ ที่สามารถเริ่มต้นได้สำหรับทุกคน เขาเผยว่า แค่บทท้องถนนคนขับรถมีความเมตาตาให้กับคนขับจักรยานบ้างก็พอ
“แค่อยากให้มีความเมตตาคนขับจักรยานบ้าง เขาอยู่บนจักรยาน มันไม่สบาย มันร้อน คนนั่งรถเก๋งมีแอร์เย็น เบาะก็นุ้มสบาย จักรยานเจอแดด เจอลม ฝนตกก็เปียก และรถ 4 ล้อยังไงก็ไม่ล้ม แต่จักรยาน 2 ล้อมันมีสิทธิ์ล้ม ดังนั้นคนใช้รถสบายแล้วก็อย่ารำคาญ ให้มีเมตตาต่อกันบ้าง รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา”
วันรณรงค์จักรยานอย่าง car free day แม้จะจัดมาหลายปี เขาออกความเห็นว่า กิจกรรมให้มาปั่นจักรยานกันเยอะๆ ในวันเดียวนั้นช่วยอะไรไม่ได้
“แรกๆ ผมก็ไปช่วยนะ แต่หลังๆ ไม่ไปแล้ว มันช่วยไม่ได้ ที่เราปั่นก็เพื่อไม่ให้รถติด ไม่ให้เกิดการสิ้นเปลืองพลังงาน แต่มาปั่นพร้อมกันในวันเดียวเป็นขบวนแบบนี้ มันกลับทำให้รถติดเข้าไปอีก คนขับรถเขาก็หมั่นไส้ มันกลายเป็นวันเอาจักรยานมาปั่นโชว์กันมากกว่า แน่จริง ปั่นในวันปกติ ปั่นทุกวันจะดีกว่า”
เขาเผยว่า อยากให้มีวันที่จะแลกให้คนขับรถมาลองขับจักรยานดูมากกว่า
“คนที่มาปั่นจักรยานในวันที่รณรงค์ให้ใช้จักรยานมันควรจะเป็นคนที่ปกติขับแต่รถ ถ้ามีวันที่จัดให้ทำแบบนั้นได้ เชื่อว่า คนขับรถจะหันมาใส่ใจคนขับจักรยานมากกว่านี้”
ต่อนโยบายหาเสียงขายฝันมากมาย เขาบอกเลยว่า หลายอย่างห่างไกลจากความจริงที่จะเป็นไปได้ การสร้างทางจักรยาน เขาฟันทิ้งทันทีโดยให้เหตุผลว่า คนขับจักรยานนั้นยังถือว่าเป็นคนส่วนน้อยของเมืองหลวงทั้งหมด
“ในกรุงเทพฯ ถนนหนทางมันก็อันตราย แต่การจะสร้างทางจักรยาน หรือที่เคยได้ยินเรื่องทางลอยฟ้า มันต้องเอางบของคนทั้งเมืองมาใช้เพื่อคนส่วนน้อยอย่างนี้ มันไม่ได้ ยิ่งตอนนี้คนปั่นยังไม่เยอะพอ”
ในมุมกลับ หากมีผู้คนออกมาใช้จักรยานกันมากขึ้น ผู้บริหารประเทศก็ต้องหันมาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับจักรยาน
“ เริ่มจากคนก่อนสิ ถ้าเกิดเห็นคนมาขับทุกวัน อย่างนี้ก็ต้องทำ เขาก็มองเห็นแล้ว ต้องทำทางให้ มันต้องรณรงค์ให้คนมาใช้เยอะๆ ก่อน ถ้าผู้บริหารไม่ทำก็โดนว่าเอง ไปยุให้เขาทำ ทำแล้วไม่มีคนใช้ก็โดน มอเตอร์ไซค์มันก็ไปวิ่งบ้าง รถแม่ค้าเข้าไปจอดเพราะคนไม่ได้ใช้จริง แม่ค้าเห็นว่างๆ ก็เอาของมาตั้งขาย ก็ต้องไล่กันไปกันมาอีก”
กระแสโลกไม่ต้องปั่นเอง
50 ปีบนหลังจักรยาน สุรชัยผ่านความพยายามหลายครั้งจนชาชินกับการทำให้จักรยานเป็นที่นิยม เป็นสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทย แต่แล้วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสจักรยานกลายเป็นสิ่งที่หลายคนสนใจ กลายเป็นแฟชั่นในหมู่วัยรุ่น ทั้งยังกลายเป็นงานอดิเรกของดาราหลายๆ คน
แม้เขาจะเอ่ยไว้ว่า คนไทยจะไม่ใช้จักรยานจนกว่าน้ำมันก็หมดโลก แต่เขาก็ไม่เคยถอดใจ เพียงแต่เข้าใจว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นมันก็ต้องเกิด
“ไม่มีความรู้สึกว่าจะถอดใจ เราก็ขี่ของเราไป อนาคตมันจะเป็นยังไงก็ช่างมันไง เราต้องเป็นของเราก่อน ถ้าทุกคนถอดใจก็จบ ไม่ต้องไปไหนกัน ต้องมีคนที่ยังยืนหยัดอยู่ ถ้าถอดใจคงไม่ขี่มา 50 ปี เราทำในส่วนที่เราทำได้ มันเกินกำลังก็ปล่อยมันไป เป็นธรรมชาติของมันเอง อย่างตอนนี้มีใครบังคับให้คนมาขับเยอะแยะ กระแสมันมาของมันเอง ไม่ใช่เฉพาะไทย มาจากทั่วโลก เนื่องจากวิกฤตพลังงาน เพราะว่าน้ำมันมันแพงขึ้นๆ คนก็เลือกประหยัด หาทางอื่น ก็มีทางเลือกที่ประหยัด ความเร็วใช้ได้ก็คือจักรยาน”
ในกรุงเทพฯ ประชากรจักรยานมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ด้วยสภาพจราจรที่รถติดเป็นเรื่องปกติ จักรยานสามารถไปได้เร็วกว่า ลูกศิษย์ของเขาหลายคนเลือกที่จะปั่นจักรยานมาเรียน
“ส่วนหนึ่งวัยรุ่นก็ชอบเป็นแฟชั่นนะ อย่างฟิกเกียร์ มันดีเพราะมันถูก ส่วนประกอบมันไม่เยอะ ไม่ต้องเบรก ส่วนประกอบน้อย วัยรุ่นชอบกันมาก แต่มาขับทางไกลๆ จริงมันก็ไม่เหมาะหรอกนะ”
ทริปตามต่างจังหวัดที่ปั่นกัน 100 กิโลเมตร เขาขอยอมแพ้ให้กับวัยรุ่นสวมกางเกงยีนขับฟิกเกียร์
“ใจมันรัก มันต้องมีกำลัง เข่าต้องดีพอ การเบรกทำอะไรต้องใช้เข่าเยอะมาก ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่เหมาะ จักรยานต้องใช้ให้ถูกประเภทด้วย จักรยานเดินทางไกล ขับใกล้ๆ หรือขับแข่งก็ต่างกัน”
เกิดมาปั่น
สำหรับผู้ใช้ชีวิตกลางแจ้งอย่างนักปั่นจักรยาน ความโรยราของวัยชราเป็นสิ่งที่ทุกชีวิตต้องไปถึง สุรชัยอาจอยู่บนกิโลเมตรท้ายๆ ในชีวิตนักปั่น ด้วยอายุที่มากขึ้น เขาสารภาพว่า ปั่นไม่ได้เหมือนสมัยหนุ่มๆ แต่ก็เป็นเรื่องปกติ สิ่งสำคัญคือทุกเมื่อเชื่อวัน หากมีเวลา เขาไม่เคยหยุดปั่น
“ถ้ามันมีเวลา เออ มันก็มีส่วนบ้างนิดหน่อย เพราะอายุที่มากขึ้น ความชรากำลังมันถดถอย การจะไปขี่อย่างสมัยหนุ่มมันก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่ก็เพื่อสุขภาพ ถ้ามีเวลามากก็ขี่ได้ตลอด”
และแผนต่อจากนี้ เขาเผยว่า จะเกษียณตัวเองจากงานสอนทำเฟรมจักรยาน แม้จะยังมีคนอยากเรียนอยู่อีกมาก เขาบอกว่า ให้คนไปศึกษาเอง ดูตามอินเทอร์เน็ตได้ เคยมีคนบันทึกไปแล้ว
“เราวางแผนว่าจะเปิดบ้านเสือหมอบรีสอร์ตจักรยาน ให้คนไปพักไปเที่ยวที่จังหวัดขอนแก่น มันใกล้แหล่งท่องเที่ยว เส้นทางปั่นจักรยานก็สวยมาก แต่มันไม่เสร็จหรอกนะ อีกนานพอสมควรเลย”
นอกจากแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อน ที่ดินแดนจักรยานของเขายังมีสนามแข่งจักรยานแบบที่ใช้ในการแข่งขัน เขาเอ่ยว่า มันเป็นรีสอร์ตเพื่อการกีฬา ดูเหมือนท้ายที่สุดแล้วชีวิตของเขาก็ยังคงแวดล้อมอยู่กับสิ่งที่เขารัก
หลังจบการสนทนา เขาชี้ไปที่ป้ายท้ายรถของเขาเอง แล้วอ่านให้ฟัง “born to be rider - เกิดมาปั่น ยังไงก็ยังอยู่ในแวดวงจักรยานนี้แหละ”
เรื่องโดย ทีมข่าว M - Lite
ภาพโดย พลภัทร วรรณดี และภาพบางส่วนจาก http://www.thaimtb.com/