xs
xsm
sm
md
lg

รักษ์วัดรักษ์ไทย : ภาพสุริยจักรวาลแห่งแรกใน วัดบรมนิวาส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วัดบรมนิวาส เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนพระราม 1 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เดิมเรียกกันว่า “วัดนอก” เนื่องจากอยู่นอกเขตกำแพงเมือง (แต่ ในบางตำรา เรียกวัดบรมสุข) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศฯ เมื่อปี พ.ศ. 2377 เพื่อให้เป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี หรือวัดป่า คู่กับวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นวัดฝ่ายคามวาสี หรือวัดในชุมชน ของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดบรมนิวาส” และเป็นพระอารามที่ทรงริเริ่มการใช้แบบแผนมหาสีมา แบบสีมา 2 ชั้น เป็นพระอารามแรกด้วย

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังโปรดให้ “ขรัวอินโข่ง” พระสงฆ์ผู้เป็นจิตรกรเอกในสมัยนั้น วาดภาพจิตรกรรมฝาผนังตามแบบอย่างของศิลปะตะวันตก โดยเปลี่ยนแนวการเขียนภาพแบบเล่าเรื่อง มาเป็นการเสนอความคิดเป็นภาพปริศนาธรรม แทนการเขียนพุทธประวัติ ในพระอุโบสถวัดบรมนิวาส ซึ่งเป็นภาพปริศนาธรรมที่มีเนื้อหาและรูปแบบแทบจะเหมือนกันกับวัดบวรนิเวศวิหาร

โดยภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดบรมนิวาสแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ผนังระหว่างช่องหน้าต่างและประตู เขียนภาพประเพณีสำคัญของไทย บานหน้าต่างและผนังกบเขียนภาพเครื่องบูชาแบบจีน ผนังเหนือช่องหน้าต่างและประตู เขียนภาพปริศนาธรรม

ขรัวอินโข่งใช้การเขียนภาพแบบตะวันตก ที่มีระยะใกล้-ไกลตามหลักทัศนีวิทยา(perspective) และเขียนภาพให้มีแสงและเงา เป็นภาพเหมือนจริง ภาพปริศนาธรรมทั้งหมดเขียนตามแบบอย่างของศิลปะตะวันตก และอาคารบ้านเรือน ผู้คนที่ปรากฏในภาพ ล้วนเป็นชาวตะวันตกทั้งสิ้น

แต่สิ่งหนึ่งที่จิตรกรรมฝาผนังสีฝุ่นวัดบรมนิวาส แตกต่างจากวัดบวรนิเวศวิหารก็คือ ภาพเขียนจักรวาลวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ โดยมีภาพดวงดาวทั้งหมด 8 ดวง ครบตามดาราศาสตร์ตะวันตกสมัยนั้น ได้แก่ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัส ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ และดาวยูเรนัส โดยปรากฏภาพดวงอาทิตย์ด้านหลังพระประธาน เป็นศูนย์กลางระบบสุริยจักรวาล แทนเขาพระสุเมรุตามคติจักรวาลแบบไตรภูมิที่เป็นองค์ประกอบจักรวาลวิทยาของคนไทยมาอย่างยาวนาน และพระพุทธศาสนาของไทยก็อิงกับเรื่องไตรภูมิมาตลอด ดังปรากฏในงานศิลปกรรม สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ตามพระอารามต่างๆมากมาย

แสดงให้เห็นถึงความคิดที่ว่า “โลก” เป็น “ศูนย์กลาง” ของจักรวาล ซึ่งมีรากฐานจากอินเดีย มาสู่แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่มี “ดวงอาทิตย์” เป็น "ศูนย์กลาง" ตามแบบวิทยาศาสตร์ของตะวันตก ทั้งนี้เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถในทางดาราศาสตร์สมัยใหม่ จึงทรงนำมาถ่ายทอดให้กับขรัวอินโข่ง

กล่าวได้ว่า จิตรกรรมฝาผนังที่วัดบรมนิวาส เป็นหลักฐานสำคัญที่มีการจำลองระบบสุริยจักรวาลตามแบบวิทยาศาสตร์มาไว้ในประเทศไทยเป็นแห่งแรก แม้ว่าจะปรากฏดาวเคราะห์ไม่ครบทุกดวงก็ตาม

แม้ว่ารูปแบบของภาพจิตรกรรมจะออกแนวทางศิลปะตะวันตก แต่พระอุโบสถยังคงวางผังตามแบบแผนโบราณ ตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ สร้างอุโบสถเป็นประธานหน้าพระเจดีย์ ส่วนพระประธานเป็นพระพุทธรูปหล่อ ปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย อัญเชิญมาจากเมืองพิษณุโลก นามว่า พระทศพลญาณ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม ต่อมาพระอุบาลีคุณูปมาจารย์(จันทร์ สิริจนฺโท) อดีตเจ้าอาวาสได้บูรณะครั้งใหญ่ ล่าสุดปี 2553 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เริ่มดำเนินโครงการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ พระเจดีย์ ศาลา กำแพงแก้ว ระเบียงคต งานซ่อมอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง และปรับปรุงภูมิทัศน์ในเขตพุทธาวาส โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2558

• ภาพสระน้ำมีดอกบัวนานาพรรณชูช่ออยู่ในสระ มีดอกบัวใหญ่ดอกหนึ่งชูดอกสูงกว่าบัวดอกอื่นๆ มีผู้คนมาชมและดมกลิ่นหอมของดอกบัว ซึ่งเป็นหญิงชายชาวตะวันตก นั่งบ้างยืนบ้างอยู่ตามริมสระนั้น

ภาพปริศนาธรรมห้องที่ 4 ความอุปมาว่า มีสระโบกขรณีหนึ่ง มีปทุมชาติหลายอย่างหลายพรรณ แต่มีดอกปทุมชาติหนึ่งใหญ่พ้นน้ำงามสะอาดกว่าปทุมชาติอื่น มีกลิ่นหอมวิเศษกว่าดอกไม้อื่น ตลบทั่วไปในทิศศานุทิศทั้งปวง มีคนมากด้วยกันมาชมดอกบัวใหญ่ ได้กลิ่นแล้วชื่นชมยินดี หมู่แมงผึ้งแมลงภู่ก็มาเชยเอาชาติเกษร

ความอุปไมยว่า ดอกบัวใหญ่เหมือนพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก มีคุณอันประเสริฐฟุ้งไปในทิศทั้งปวง กลิ่นดอกบัวใหญ่เหมือนพระธรรม เพราะเป็นของเกิดแต่พระพุทธเจ้า หมู่คนที่ชื่นชมดอกบัวเหมือนหมู่อริยเจ้าที่ได้พระธรรมพิเศษ ได้มรรคผลเพราะได้ฟังพระธรรมเทศนา

• ขรัวอินโข่ง มีนามเดิมว่า "อิน" เป็นชาวบางจาน เมืองเพชรบุรี มาบวชเป็นสามเณรที่กรุงเทพฯ แม้อายุเกินก็ไม่ยอมบวชพระ จนถูกล้อเป็นเณรโค่ง แต่ในที่สุดก็ยอมบวชเป็นพระที่วัดราชบูรณะ(วัดเลียบ) ชื่ออินโข่ง จึงสันนิษฐานว่ามาจากการถูกเรียกล้อว่า “อินโค่ง” ก่อนจะเพี้ยนเป็น “โข่ง” ส่วนคำว่า “ขรัว” มาจากมีอายุพรรษาและทรงความรู้มากขึ้น ได้รับการเคารพนับถือ ซึ่งเจ้านายสมัยนั้นนิยมเรียกว่า “ขรัว” คนทั่วไปจึงเรียกพระภิกษุอินว่า “ขรัวอินโข่ง”

ผลงานสร้างชื่อเสียงคือภาพปริศนาธรรมที่ฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศและวัดบรมนิวาส จิตรกรรมฝาผนังในหอพระราชกรมานุสร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 148 เมษายน 2556 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)




กำลังโหลดความคิดเห็น