xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : พระปางอะไร...บูชาแล้วดี?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในเมืองไทยนี้มีพระบูชาปางต่างๆเยอะ ไม่ทราบกี่ปางต่อปาง และที่อาจารย์ต่างๆแนะนำให้บูชา เช่น คนเกิดวันจันทร์บูชาพระปางนั้น วันอังคารบูชาปางนี้ วันพุธบูชาปางโน้น เรื่อยไป 7 วัน 7 ปาง หรืออาจมีปางมากกว่านั้นอีก

การสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ท่านเอามาจากพุทธจริยาหรือพุทธประวัติ อย่างปางห้ามญาติ ก็คือปรารภถึงตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปห้ามพระญาติที่ทะเลาะกันเรื่องการแย่งน้ำในแม่น้ำโรหินี และห้ามได้สำเร็จ ก็สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นมาเป็นที่ระลึก แล้วก็มาสมมติให้เป็นพระบูชาของคนวันจันทร์ และมีปางต่างๆอีกเยอะแยะ แล้วแต่จะคิดประดิดประดอยขึ้นมา

ผมคิดว่า การบูชาพระพุทธรูป ถ้าเราคิดว่าเป็นสื่อให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า บูชาปางไหนก็ได้ครับ

ถ้าเราบูชาพระประจำวันกันแล้ว เราอยู่ที่บ้าน เกิดกันคนละวัน เราจะไม่ไต้องบูชาพระ 7 องค์หรือครับ จะต้องสะสมพระปางต่างๆมาไว้ 7 องค์ เพื่อจะได้ครบวันเกิดของแต่ละคนในบ้าน ดูเหมือนจะชอบกลอยู่

พระพุทธรูปจะทำด้วยทองเหลือง ทองแดง หรือทองคำ ด้วยเงิน ด้วยตะกั่ว ทำด้วยไม้ไผ่ ไม้แก่นจันทร์ ทำด้วยไม้อะไรก็เหมือนกันทุกองค์ เพราะว่าเป็นสิ่งแทน หรือสื่อให้เราระลึกถึงพระพุทธเจ้า

ถ้าเราคิดว่าบูชาพระพุทธรูป เพื่อให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เพื่อความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่เพื่อขอผลประโยชน์ ขอให้ท่านอำนวยประโยชน์ให้ ขอหวย ขอเบอร์ ขอพรอะไรต่างๆ ขอผลดลบันดาลจากพระพุทธรูป

เพราะถ้าเราไม่มีความตั้งใจ ไม่ได้คิดที่จะขอผลประโยชน์จากพระพุทธรูปแล้ว บูชาพระพุทธรูปองค์ไหนก็เหมือนกัน จะปางไหนก็เหมือนกัน พระพุทธรูปจะทำด้วยอะไรก็มีค่าเท่ากัน ราคาเท่านั้นที่ต่างกัน พระพุทธรูปที่ทำด้วยทองคำก็ราคาแพง ถ้าทำด้วยเพชร ราคาก็จะแพงขึ้นไปอีกไม่รู้เท่าไร

ค่ากับราคาไม่เหมือนกัน ราคาขึ้นอยู่กับวัตถุที่นำมาทำ ส่วนค่านั้นคือคุณค่าของสิ่งนั้น

เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าเหมือนกับเราบูชารูปพ่อแม่ รูปครูบาอาจารย์ที่เราเคารพนับถือ ไม่ได้หวังจะให้ท่ามาช่วยอะไร แต่เราระลึกถึงท่าน เคารพนับถือท่าน บูชาท่าน อันนั้นคือการบูชาที่ถูกต้อง และไม่ต้องเสียเงินมากด้วย

พระพุทธรูปท่านจัดเป็นอุเทสิกเจดีย์ เจดีย์ แปลว่าที่ระลึก ที่ตั้งแห่งความระลึกถึง อุเทสิกเจดีย์ก็คือที่ตั้งแห่งความระลึกถึงที่สร้างอุทิศพระพุทธเจ้า

เมื่อก่อนสมัยโบราณแท้ เขาไม่กล้าสร้างพระพุทธรูป เขาสร้างเป็นบัลลังก์ที่ประทับเฉยๆ ไม่กล้าสร้างรูปพระพุทธเจ้า ก็ได้จากธรรมเนียมที่ว่า เมื่อพระสงฆ์นั่งประชุมกันที่ไหน ท่านจะปูลาดอาสนะเอาไว้สำหรับพระพุทธเจ้า ถ้าเผื่อว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาจะได้ประทับนั่ง ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ถ้าจะสร้างเพื่อให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้ว ก็สร้างเพียงบัลลังก์ที่ประทับของพระพุทธเจ้า แต่ไม่สร้างองค์ของพระพุทธเจ้า

ต่อมาก็ได้ทำเป็นพระพุทธรูปขึ้นสมัยกรีกเข้าครองอินเดีย ตามประวัติการสร้างพระพุทธรูป แล้วก็สร้างกันมากมาย มาวิจิตรพิสดารมากเหลือเกินในเมืองไทย มีองค์ใหญ่ องค์กลาง องค์เล็ก องค์น้อย องค์ขนาดสารพัด แล้วแต่จะสร้างกันไป บางคนก็คิดว่าจะสร้างองค์ใหญ่ที่สุดด้วยวัสดุที่ดีที่สุด บางคนก็สร้างเป็นองค์เล็กๆ เพื่อจะได้พกติดตัว อย่างนั้นก็มี จะสร้างอะไรก็ได้ให้เป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธเจ้า

แต่สิ่งที่แทนพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงมอบไว้ให้จริงๆ ตรัสไว้ว่า สิ่งแทนพระองค์ไม่ใช่พระพุทธรูป แต่เป็นพระธรรมวินัย

“ดูก่อน..อานนท์ ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว จะเป็นศาสดาแทนเรา เป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย เป็นครูของเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว”

นั่นแหละคือสิ่งแทนแท้จริง สิ่งแทนพระพุทธเจ้าแท้จริงที่เหนือกว่าพระพุทธรูป ก็คือพระธรรมวินัย ถ้าปฏิบัติตามพระธรรมวินัยถูกต้อง ดีงาม ครบถ้วน เดินตามพระธรรมวินัยแล้ว ก็มีพระพุทธเจ้าประจำตัวอยู่ตลอดเวลา

(จากหนังสือ สิ่งที่ควรทำความเข้าใจกันใหม่ เพื่อความถูกต้อง)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 148 เมษายน 2556 โดย อ.วศิน อินทสระ)
กำลังโหลดความคิดเห็น