“วัดคูหาภิมุข” หรือ “วัดหน้าถ้ำ” ตั้งอยู่เลขที่ 136 หมู่ 1 บ้านหน้าถ้ำ ตำบลหน้าถ้ำ อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ทราบว่า พ.ศ.2390 ผู้ใหญ่บ้านอาศัยอยู่ที่บ้านหน้าถ้ำ ได้สร้างวัดคูหาภิมุข เพื่อประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลในหมู่บ้าน ภายในวัดคูหาภิมุขมีถ้ำใหญ่ ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ ภายในถ้ำยังมีหินงอกหินย้อย และน้ำใสสะอาดไหลรินจากโขดหิน
“วัดคูหาภิมุข” เป็นวัดที่สำคัญของเมืองยะลา มีพิพิธภัณฑ์ศรีวิชัย เก็บวัตถุโบราณที่ได้มาจากวัดถ้ำ ภูเขากำปั่น พระพิมพ์ดินดิบ สถูปเม็ดพระศก อิฐฐานพระพุทธรูป จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เปลี่ยนชื่อ “วัดหน้าถ้ำ” เป็น “วัดคูหาภิมุข”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระยายะหริ่งมาสร้างเมืองยะลา ตั้งที่ว่าราชการ ณ บ้านท่าสาป ตำบลท่าสาป และสร้างวัดขึ้นที่ริมเขาหน้าถ้ำ ที่มีพระพุทธไสยาสน์ภายในถ้ำ พ.ศ.2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาประทับแรมที่วันแห่งนี้ มีพระปรมาภิไธย ย่อ ป.ป.ร. ที่ผาหินภายในวัดคูหาภิมุข
ตำบลหน้าถ้ำ ภาพพิกัดทางภูมิศาสตร์ของวัดคูหาภิมุขตำบลหน้าถ้ำ เคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบร่องรอยศาสนสถาน เมืองโบราณ ซึ่งเป็นศาสนสถานที่พบเทวรูปสำริด กำแพงเมือง พระพิมพ์ดินดิบแบบทวารวดีศรีวิชัย ภาพเขียนสีพระพุทธรูปฉาย ภาพเขียนสีราชรถมีสัตว์เทียม มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-17 ยะลาเป็นชุมชนเกษตร นักโบราณคดีได้พบภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์บริเวณถ้ำคูหาภิมุข เป็นภาพพระพุทธฉาย และภาพราชรถแกะสลักไว้บนหน้าผา ภายในบริเวณถ้ำคูหาภิมุข
พระพุทธไสยาสน์เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ ปั้นด้วยดินเหนียวโดยใช้ไม่ไผ่เป็นโครง สร้างขึ้นสมัยศรีวิชัยรุ่งเรืองราว พ.ศ.1300 หรือสมัยเดียวกับพระบรมธาตุเมืองนคร มีขนาดความยาว 81 ฟุต 1 นิ้ว ประดิษฐานภายในถ้ำคูหาภิมุข เดิมชื่อ วัดหน้าถ้ำ กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 วัดคูหาภิมุข มีพระพุทธรูปสมัยศรีวิชัย สมัยสุโขทัย สมัยอู่ทอง ใกล้ๆ กับวัดมีภูเขากำปั่นเป็นภูเขาหินอ่อนสีชมพู สวยงามมาก ปัจจุบัน รัฐบาลได้ให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนทำหินอ่อนจำหน่าย หินอ่อนสีชมพูจากยะลามีความสวยงาม มีชื่อเสียงระดับประเทศ
พิพิธภัณฑ์ศรีวิชัย ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดคูหาภิมุข มีวัตถุโบราณที่ขุดค้นได้จากถ้ำต่างๆ ในตำบลหน้าถ้ำ ได้แก่ ภูเขาวัดถ้ำ ภูเขากำปั่น กรมศิลปากรค้นพบพระพิมพ์ดินดิบ สมัยศรีวิชัย สถูป เม็ดพระศก อิฐฐานพระพุทธรูป ขวานหินขัด และบริเวณสนามบินท่าสาป ได้ค้นพบโคกอิฐ เนินดิน ซากกำแพงเมืองโบราณ เครื่องถ้วยชาม เทวรูปพระนารายณ์สำริด สูงประมาณ 1 ศอก (0.5 เมตร) พระพุทธรูปแกะสลักในแผ่นหินมีสภาพสมบูรณ์ จำนวน 3 องค์ กว้าง 21.50 เซนติเมตร สูง 30 เซนติเมตร สลักเป็นรูปนูนต่ำ รูปพระพุทธเจ้าประทับนั่ง ปางสมาธิ อีกองค์หนึ่งชำรุดครึ่งหนึ่ง มีแร่พระเศียร พระพุทธรูปสมัยศรีวิชัย สมัยสุโขทัย สมัยอู่ทอง
พระพุทธรูปที่ค้นพบที่ถ้ำคนโท ที่เป็นพระพุทธรูปสลักในแผ่นหินมีอยู่ 3 องค์ องค์ที่สมบูรณ์ที่สุดสลักในแผ่นหินกว้าง 21.5 เซนติเมตร สูง 30 เซนติเมตร สลักเป็นรูปนูนต่ำรูปพระพุทธเจ้า ประทับนั่งแสดงปางสมาธิ ส่วนอีกรูปหนึ่งมีขนาดใกล้เคียงกัน แต่ชำรุดเสียครึ่งหนึ่ง มีแต่พระเศียร พระพุทธรูปสำริด ที่พบจากถ้ำคนโทมีจำนวนมากมาย ส่วนใหญ่ตกเป็นสมบัติเอกชน และไม่เป็นที่เปิดเผยว่าอยู่ที่ใดบ้าง ที่เป็นสมบัติของวัดคูหาภิมุข เพราะชาวบ้านนำมาถวาย ซึ่งมักจะไม่สมบูรณ์ มีทั้งที่เป็นแบบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย สมัยอู่ทอง บางองค์ก็สันนิษฐานว่า เป็นแบบศรีวิชัย แต่ยังไม่มีการยืนยันให้แน่นอนลงไปได้ เนื่องจากภูเขากำปั่นเป็นภูเขาหินอ่อนสีชมพู ซึ่งหาได้ยากมาก รัฐบาลจึงได้ให้สัมปทานแก่บริษัทเอกชนสำรวจทำหินอ่อนออกจำหน่าย ปัจจุบัน หินอ่อนสีชมพู จากยะลามีชื่อเสียงมาก แต่ในอนาคต ถ้ำสำเภา ถ้ำคนโท และเรื่องราวในอดีตเกี่ยวกับพระพุทธรูป พระพิมพ์ในภูเขาแห่งนี้คงจะสูญหายไปด้วย
จากบันทึกของนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักวิชาการข้างต้นทำให้ทราบว่า พื้นที่จังหวัดยะลาบริเวณตำบลท่าสาป และตำบลหน้าถ้ำปัจจุบัน เคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ กลุ่มชนเหล่านี้ได้มีการติดต่อสัมพันธ์กัน และพัฒนาเรื่อยมาจนเข้าสู่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์
ปัจจุบัน “วัดคูหาภิมุข” หรือ “วัดหน้าถ้ำ” มีความสงบเงียบ ไร้นักท่องเที่ยวที่เคยเฟื่องฟูเหมือนครั้งเก่าก่อน เนื่องจากสภาพปัญหาทางด้านเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งส่งผลกระทบให้สภาพของ “วัดหน้าถ้ำ” ไม่ต่างไปจากโบราณสถานที่ไร้ผู้เหลียวแล จะมีแต่ชาวบ้านหน้าถ้ำที่อาศัยอยู่มาเนิ่นนาน แวะเวียนเข้าไปปฏิบัติศาสนกิจ และทำพิธีทางศาสนา ครั้งเมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนาก็จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่ก็เป็นอย่างนั้นไม่นาน
ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จะมีนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน และจังหวัดใกล้เคียงแวะเวียนเข้าไปเที่ยวชมความงดงามของ “วัดหน้าถ้ำ” และกราบไหว้สักการบูชาพระพุทธไสยาสน์อย่างไม่ขาดสาย อย่างไรก็ตาม “วัดคูหาภิมุข” หรือ “วัดหน้าถ้ำ” ก็ยังคงเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนา และโบราณสถานในลำดับต้นๆ ของจังหวัดยะลา ที่นักท่องเที่ยวหลายๆ ท่านมักกล่าวอ้างถึงเมื่อนึกถึงจังหวัดยะลา ดังคำขวัญที่กล่าวไว้ว่า “ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน” ซึ่งพร้อมที่จะต้อนรับผู้มาเยือนอีกครั้ง
ภาพ/เรื่อง โดย... เอกรักษ์ ศรีรุ่ง