xs
xsm
sm
md
lg

จี้พิสูจน์ภาพโบราณ “ดอยผาตูบ” เหมืองแม่เมาะด่วน ก่อนซ้ำรอยสุสานหอยล้านปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลำปาง - ภาคประชาชนจี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิสูจน์ภาพเขียนสีโบราณ “ดอยผาตูบ” กลางพื้นที่ประทานบัตรหินปูนเหมืองแม่เมาะ หลังใกล้ถูกระเบิดทิ้ง หวั่นซ้ำรอย “สุสานหอยล้านปี” กลางเมือง ที่สุดท้ายเหลือแค่ 18 ไร่

รายงานข่าวแจ้งว่า ปมปัญหาภาพเขียนโบราณบนดอยผาตูบ กลางพื้นที่ประทานบัตรเหมืองหินปูนของเหมืองแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์กันมากขึ้น โดยจุดที่พบภาพเขียนสีดังกล่าวอยู่บนหน้าผาของดอยผาตูบ เป็นรูปสัตว์ลักษณะคล้ายลิง และวัว สีน้ำตาลแดง อยู่ห่างจากหมู่บ้านแม่จางข่วงม่วง ต.นาสัก อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ทางทิศเหนือ ประมาณ 5 กิโลเมตร

ชาวบ้าน ต.นาสัก ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ต่างตั้งข้อสงสัยว่า การขอสัมปทานเหมืองแม่เมาะบริเวณดอยผาตูบ และดอยผาช้างทำได้อย่างไร การขอสัมปทานดังกล่าวแน่นอนว่าต้องผ่านการบวนการขออนุญาต และทำการสำรวจสิ่งแวดล้อม ทำประชาคม แต่ทำไมขั้นตอนเหล่านั้นไม่มีการระบุถึงภาพเขียนสีโบราณ “ภาพเหล่านี้เพิ่งรู้เพิ่งค้นพบ หรือไม่มีสาระสำคัญทางนักวิชาการ”

ขณะที่พระสาธิต ธีระปัญโญ พระจากวัดธรรมสถาน สถาบันธรรมาภิวัฒน์ บ้านสบเติน หมู่ 2 ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เปิดเผยว่า อาตมาสนใจงานอนุรักษ์ป่ามานาน พยายามพาชาวบ้านออกไปสำรวจป่าเป็นประจำ ประมาณปี 2552 ชาวบ้านที่ออกไปล่าสัตว์ในบริเวณดังกล่าวมาบอกว่า พบภาพเขียนจึงออกเดินป่าไปดูกัน ก็พบว่ามีภาพเขียนสีอยู่บริเวณหน้าผาห่างจากปากถ้ำเล็กน้อย เป็นภาพคล้ายลิง หรือรูปคน ถัดไปเห็นเป็นภาพสัตว์สี่เท้าคล้ายวัว ห่างไปอีก 100 เมตรพบเครื่องปั้นดินเผาอยู่ในสภาพแตกเสียหาย ซึ่งได้เก็บเศษดินเผาเหล่านั้นมาด้วย

“ครั้งนั้นไม่มีใครให้ความสำคัญ อาตมาคิดอยากให้กรมศิลปากรมาอนุรักษ์ เพราะเชื่อว่าบริเวณดังกล่าวเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณอย่างแน่นอน ถ้ามีการสำรวจอย่างจริงจังอาจพบภาพเขียนสีมากกว่านี้ก็เป็นได้”

แต่ในที่สุดพื้นที่บริเวณที่พบภาพเขียนสีโบราณก็กลายเป็นพื้นที่สัมปทานของเหมืองแม่เมาะ และขณะนี้การระเบิดหินได้คืบคลานมาใกล้เพิงผาที่มีภาพเขียนสีโบราณอยู่ มีร่องรอยภาพบางภาพหินกะเทาะเสียหายไปบ้างแล้ว

นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ เปิดเผยว่า มีผู้สนใจโพสต์ภาพเขียนสีโบราณขึ้นมาเนื่องจากเป็นภาพที่น่าสนใจและสำคัญทางประวัติศาสตร์ ส่วนชาวบ้านเชื่อว่ามีอยู่จริง เพราะอยู่ในพื้นที่เห็นกันมาหลายชั่วอายุคน แต่ถ้ามองภาพรวมสังคมอาจยังไม่เชื่อ หรือยังมองว่าเป็นภาพจริงหรือไม่ ซึ่งต้องพิสูจน์กัน เพราะไม่น่าเชื่อว่าภาพเขียนสีจะปรากฏอยู่ในเขตสัมปทานทำเหมืองได้

นางมะลิวรรณระบุว่า เหมืองแม่เมาะขอสัมปทานบริเวณดังกล่าวเพื่อนำหินปูนไปใช้ในกิจการเหมืองถ่านหิน จำนวน 285 ไร่ 2 งาน 88 ตารางวา น่าจะผ่านการตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นในความเป็นจริงจะต้องมีภาพเหล่านี้อยู่ในรายงาน ถ้าไม่มีอาจเป็นการพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่ภาพโบราณ หรืออีกมุมหนึ่งนักวิชาการอาจไม่ได้เข้าไปสำรวจจริงแล้วออกใบอนุญาตไปโดยขาดความรับผิดชอบ

เช่นเดียวกับกรณีที่ชาวบ้านแม่เมาะ เปิดเผยเรื่องสุสานหอยโบราณที่มีอยู่ในเหมืองถ่านหินแม่เมาะจำนวน 43 ไร่ ชาวบ้านได้รวมตัวกันฟ้องศาลปกครองกลางเมื่อปี 2548 ในที่สุดศาลติดสินให้ชาวบ้านชนะเมื่อปี 2550 ระยะเวลาที่ผ่านไปทำให้สุสานหอยล้านปี เหลืออยู่ในปัจจุบันเพียง 18 ไร่เท่านั้น

“นั่นเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรงในสมบัติของชาติ ซึ่งเกรงว่าภาพเขียนสีโบราณถ้าเป็นภาพที่มีความสำคัญจริง เราอาจไม่เหลือสิ่งสำคัญเหล่านี้ไว้ให้ลูกหลานดูอีกต่อไปก็เป็นได้”

นายพิชัย ศรีใส นักวิชาการประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น เปิดเผยว่า จากข่าวที่ออกมาภาพที่เห็นทางโซเชียลมีเดีย พบว่าเป็นภาพที่น่าสนใจ แต่น่าจะต้องเร่งเข้าไปศึกษาว่าภาพเหล่านั้นมีจริงหรือไม่ ถ้าเป็นภาพที่มีจริง พื้นที่ดังกล่าวจะเป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์โบราณเช่นเดียวกับที่ผาแต้ม จ.อุบลราชธานี ก็เป็นได้

“ก่อนอื่นคงต้องหยุดกระบวนการทำเหมืองทั้งหมดแล้วหน่วยงานที่รับผิดชอบควรเข้าตรวจสอบก่อนที่จะสายเกินไป”



กำลังโหลดความคิดเห็น