xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : เป็น “ผู้ใหญ่ที่ดี” ได้อย่างไร จดหมายจากพ่อถึงลูก ฉบับที่ 4

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถึง...ตุลย์....ลูกรัก

พ่อได้แนะนำลูกให้รู้จักการทำตนให้เป็นผู้มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ด้วยรู้คุณคน และเป็นผู้มีสติ มาโดยลำดับ ด้วยอาศัยหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน แล้วนำความรู้จากประสบการณ์ที่นำให้พ่อประสบความสำเร็จในชีวิตมาเป็นส่วนขยายอธิบายความนั้น เพื่อที่ลูกจะได้เรียนรู้แล้วนำไปปรับประยุกต์ในการดำเนินชีวิตของตน

ลูกจะทราบถึงผลของการปฏิบัติดังกล่าวได้จากปฏิสัมพันธ์จากคนที่ลูกไปเกี่ยวข้องด้วย ทั้งในครอบครัวและที่ทำงาน ถ้าลูกสามารถเลี้ยงดูหลานตามแนวทางที่พ่อได้สอนมานี้ ลูกก็จะตระหนักถึงคุณค่าของหลักการเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

ชีวิตของคนเราในโลกนี้ ย่อมมีความแตกต่างกันไปตามอำนาจแห่งกรรมที่ตนได้กระทำไว้แล้ว คนที่มีความเข้าใจในเรื่องของกรรม ย่อมเป็นคนที่มีใจเปิดรับความเปลี่ยนแปลงของชีวิตได้เป็นอย่างดี ด้วยพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระพุทธเจ้า ผู้ค้นพบธรรมชาติของชีวิต พระองค์ทรงสอนพุทธบริษัทให้มีความตระหนักในศรัทธา ความเชื่อ และปสาทะ ความเลื่อมใส เป็นเบื้องต้นในการปฏิบัติตนตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา

ศรัทธาที่ทรงสอนไว้นั้น ปราชญ์ในพระพุทธศาสนาได้สรุปไว้เป็น ๔ ประการ คือ

๑. เชื่อในกรรม ได้แก่การเชื่อในการกระทำทั้งหลาย คนเราทุกคนที่เกิดมาย่อมมีการกระทำที่แตกต่างกันไป ในพระพุทธศาสนาจำแนกไว้เป็นการทำดี การทำชั่ว และการทำไม่ดีไม่ชั่ว

๒. เชื่อในผลของกรรม ได้แก่การเชื่อว่าเมื่อกระทำดี ย่อมได้รับผลดีเสมอ เป็นความสุขความเจริญอยู่เสมอ เมื่อกระทำชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว เป็นความทุกข์ยากลำบากเดือดร้อน อยู่เสมอ เมื่อทำไม่ดีไม่ชั่ว ย่อมได้รับผลที่เป็นกลางๆอยู่เสมอ

๓. เชื่อว่าตนเองเป็นกรรมเป็นของของตน เราจะทำกรรมอันใดไว้ เป็นบุญหรือบาป เราต้องได้รับผลของกรรมนั้นเสมอ นี่คือทรงสอนให้เราได้ตระหนักถึงผลของกรรมที่เราประสบอยู่ในขณะนี้ว่า เป็นกรรมในส่วนอดีตที่เราได้ทำไว้

ลูกคงได้ยินคนเขาพูดกันว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป นี่คือคำพูดของคนที่ไม่ทราบถึงความเชื่อในข้อนี้ คนทำความชั่วและได้ดีไม่มีหรอกในโลกนี้ ผลที่ทำให้เขาได้ดี ก็คือกรรมดีในส่วนอดีตที่เขาได้ทำไว้แล้ว กฎแห่งกรรมจึงเป็นสัจธรรมอยู่เสมอ

๔. เชื่อในพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็คือเชื่อในพุทธธรรมที่ทรงสอนไว้เป็นหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ถ้ามีความเชื่อเช่นนี้แล้ว ก็จะนำตนเข้าศึกษาพุทธธรรม แล้วทำความเข้าใจในหลักธรรมนั้น พร้อมทั้งยึดมั่นไว้เป็นหลักแห่งความประพฤติปฏิบัติ นำพาตนไปสู่ความสำเร็จตรงตามผลของธรรมนั้น

หลักการที่พ่อสอนลูกมาตั้งแต่ต้นก็เป็นไปตามหลักของศรัทธานี่เอง ซึ่งถ้าลูกสามารถเข้าใจในหลักศรัทธาได้ดี และปฏิบัติตนตามหลักการที่กล่าวมานี้ ลูกก็จะเป็นผู้ดำเนินชีวิตอยู่ในเหตุผลของสัจธรรมอยู่เสมอ

ความเป็นผู้มีสติ ที่พ่อได้พรรณนามาในจดหมายฉบับที่แล้วนั้น เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินชีวิตไปสู่ความสำเร็จที่ตนปรารถนา สติที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความศรัทธา ย่อมก่อปัญญา ความรอบรู้ ที่นำชีวิตให้มีความสุขสดใสอยู่เสมอ

ดังนั้น สติจึงจำเป็นต้องมีธรรมเป็นเครื่องให้ระลึกยึดเหนี่ยวไว้อยู่เสมอ และธรรมของผู้ที่ประสงค์จะประสบความสำเร็จในชีวิตพึงมีก็คือ ธรรมของความเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งจากประสบการณ์ของพ่อ คิดว่าความเป็นผู้ใหญ่ต้องประกอบด้วยหลักธรรม ๒ ประการ คือ ๑.หลักแห่งการปฏิบัติตน ได้แก่ พรหมวิหารธรรม ๒. ปัญญาที่ได้จากการเรียนรู้ใน สัปปุริสธรรม บุคคลที่มีธรรมทั้งสองนี้ ย่อมเป็นผู้ใหญ่ที่กอปรด้วยลักษณะของผู้นำอยู่เสมอ

ลูกคงทราบดีอยู่แล้วว่า พรหมวิหารธรรม ประกอบ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา พ่อก็คงไม่อธิบายความให้พิสดารมากนัก แต่พ่ออยากจะให้ลูกได้ตระหนักว่า พรหมวิหารธรรมเป็นหลักที่จะทำให้ลูกได้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ทั้งในครอบครัวและที่ทำงาน ด้วยการปฏิบัติพรหมวิหารธรรมดังนี้

เมตตา โดยความหมายคือ ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข พ่อได้อธิบายความไว้ในจดหมายฉบับแรกแล้ว แต่อยากเพิ่มเติมอีกประการหนึ่งคือ ความหวังดีต่อผู้อื่นความหวังดี เป็นความรู้สึกในจิตใจของผู้มีเมตตาเป็นคุณธรรมประจำตน สามารถแสดงออกทางกายและวาจาได้ตามโอกาส

ลูกลองคิดดูสิว่าจะมีความหวังดีอย่างไรกับหลานได้บ้าง แล้วลูกจะปฏิบัติตนด้วยความหวังดีกับหลานอย่างไร หลานจึงจะได้รับความสุขจากการปฏิบัตินั้น ความหวังดีที่กอปรด้วยสัปปุริสธรรม จะเป็นเมตตาที่เหมาะสมกับฐานะของความเป็นผู้ใหญ่อยู่เสมอ

กรุณา โดยความหมายคือ ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ แต่พ่อชอบใช้ความหมายว่าความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพราะนี่จะแสดงถึงการปฏิบัติตนต่อกันได้อย่างชัดเจน คนผู้กอปรด้วยกรุณา ย่อมมีจิตใจที่มุ่งจะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นอยู่เสมอตามกำลังความสามารถของตน ด้วยการช่วยเหลือทางทรัพย์สินบ้าง หรือด้วยการพูดคุยบ้าง เพื่อช่วยบรรเทาความทุกข์ของเขาให้ลดน้อยจางลงไป ความช่วยเหลือเกื้อกูลที่กอปรด้วยสัปปุริสธรรม จะเป็นกรุณาที่เหมาะสมกับฐานะของความเป็นผู้ใหญ่อยู่เสมอ

มุทิตา โดยความหมายคือ ความยินดีเมื่อผู้อื่นมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น โดยไม่มีจิตใจริษยา พ่อขอใช้ในความหมายว่า การให้กำลังใจแก่กันและกัน ด้วยความผูกพันกันไว้อย่างญาติและฉันมิตร ลูกลองตรองดูเถอะว่า จิตใจที่มีมุทิตาต่อหลานและเพื่อนร่วมงาน มีความเหมือนกันไหม ถ้าพบว่าต่างกันอยู่ ก็ปรับปรุงให้เป็นความเหมือนกันให้ได้ แล้วการแสดงออกทางกายและวาจาควรจะเป็นไปในทางสร้างสรรค์สิ่งดีงามที่ควรมีต่อกันให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ มุทิตาที่กอปรด้วยสัปปุริสธรรม จะเป็นมุทิตาที่เหมาะสมกับฐานะของความเป็นผู้ใหญ่อยู่เสมอ

อุเบกขา ส่วนใหญ่จะให้ความหมายว่า การรู้จักวางเฉย แต่พ่อชอบใจในความหมายตามศัพท์ที่แปลความได้ว่า ปัญญาที่เฝ้าสังเกตดูอยู่อย่างใกล้ชิด ลูกจะปฏิบัติตนตามหลักของเมตตา กรุณา มุทิตา ได้ผลดี ลูกจำเป็นต้องมีสติ ระลึกถึงเมตตา กรุณา มุทิตา ในขณะที่กำลังปฏิบัติอยู่ สิ่งที่ลูกได้เรียนรู้ก็คือปัญญา ความรู้ นั่นเอง ด้วยปัญญานี้จะทำให้ลูกตระหนักถึงความพอดีในการปฏิบัติเมตตา กรุณา มุทิตา ซึ่งเมื่อถึงที่สุดแล้ว ลูกก็จะปล่อยวางในสิ่งเหล่านั้น

พูดง่ายๆ คือทำเต็มกำลังความสามารถแล้ว ผลจะเป็นเช่นไรก็ไม่ติดใจ ด้วยความตระหนักรู้ที่เกิดจากการกระทำตามปรารภแล้ว อุเบกขาที่กอปรด้วยสัปปุริสธรรม จะเป็นอุเบกขาที่เหมาะสมกับฐานะของความเป็นผู้ใหญ่

ลูกจะสังเกตเห็นว่า พรหมวิหารธรรมที่มีประสิทธิภาพจะต้องประกอบด้วยสัปปุริสธรรมเสมอ พ่อจะขออธิบาย สัปปุริสธรรม ธรรม ๗ ประการที่เป็นคุณสมบัติของคนดี ให้ลูกได้อ่านพิจารณาสร้างเป็นปัญญาของตนเองดังนี้

๑. ธัมมัญญุตา รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ นี่ก็คือปัญญาที่เกิดจากการศึกษาหาความรู้ที่เป็นสัจธรรม เป็นกฎเกณฑ์ในสังคม ซึ่งความรู้จักเหตุ ย่อมทำให้มีความสามารถแยกแยะสิ่งที่ตนกำลังประสบอยู่ว่าควรปฏิบัติเช่นไรในขณะนั้นๆ

การเรียนรู้หลักธรรมในพระพุทธศาสนาก็เป็นการรู้จักเหตุแห่งการดำเนินชีวิตด้วย ลูกอยากจะประสบความสำเร็จในชีวิต ก็ต้องจัดสรรเวลาเรียนรู้จักเหตุที่นำให้เกิดความสำเร็จในชีวิตของบุคคลสำคัญด้วย

๒. อัตถัญญุตา ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือเป็นผู้รู้จักผล นี่เป็นปัญญาที่เกิดสืบเนื่องจากธัมมัญญุตา การดำเนินชีวิตด้วยรู้จักจุดมุ่งหมายของชีวิต ย่อมทำให้สามารถเลือกสรรแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมทำให้ตนเองประสบความสำเร็จในจุดมุ่งหมายที่ปรารถนา

๓. อัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักตน คือ รู้ว่าเรานั้น ว่าโดยฐานะ กำลังความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น บัดนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป คนที่หมั่นสำรวจตนเองอยู่เสมอ ย่อมรู้จักพัฒนาคุณธรรมที่ตนเองยังขาดอยู่ รู้จักแก้ไขปรับปรุงตนเองในสิ่งที่นำความล้มเหลวมาสู่ชีวิต ไม่ทำตนให้เป็นคนหยิ่งผยอง หมั่นศึกษาพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

๔. มัตตัญญุตา เป็นผู้รู้จักประมาณ คือรู้จักยับยั้งชั่งใจในสิ่งที่ควรและไม่ควรแก่ชีวิต มีความฉลาดในการดำเนินชีวิตให้เหมาะสมกับฐานะ

๕. กาลัญญุตา เป็นผู้รู้จักกาล คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจ กระทำหน้าที่การงาน เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น คนเราจะมีความพยายามดำเนินชีวิตไปสู่ความสำเร็จได้ ด้วยมีความอดทนต่อการเวลา การรู้จักกาล จะทำให้รู้ว่าเวลาใดควรเร่งรีบ เวลาใดควรผ่อนคลาย นี่ก็จะทำให้สามารถดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะแก่กาลเวลา

๖. ปริสัญญุตา เป็นผู้รู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ พูดง่ายๆก็คือการรู้จักมารยาททางสังคม แล้วประพฤติตนให้เหมาะสมกับสังคมนั้นๆ

โบราณจึงมีคำกล่าวสอนไว้ว่า ความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดี การรู้จักฐานะของคนในสังคมที่ต้องไปคบหาด้วย จะทำให้เกิดความเกรงใจได้เสมอ

๗. ปุคคลัญญุตา เป็นผู้รู้จักบุคคล คือ รู้จักความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้ จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร

การจะทำตนให้ประสบความสำเร็จในชีวิต จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเลือกคบหาแต่บุคคลที่เป็นบัณฑิต ไม่เป็นคนพาล การจะรู้ว่าบุคลเป็นบัณฑิตหรือคนพาล ต้องอาศัยการอยู่ร่วมกันในระยะหนึ่ง อย่าไปตัดสินใจคนเพียงแค่การพบกันครั้งแรก ต้องใช้กาลเวลาเป็นเครื่องตัดสิน คนโบราณจึงสอนว่า “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน”

พ่ออยากลูกให้ได้ค้นคว้าเพิ่มเติมในส่วนของสัปปุริสธรรม แล้วนำมาเป็นหลักในการปฏิบัติตนตามหลักพรหมวิหาร ลูกจะรู้ในที่สุดว่า ความเป็นผู้ใหญ่ที่แท้จริงเป็นเช่นไร ทำไมคนที่มีอายุมากแล้ว จึงไม่เป็นผู้ใหญ่อย่างแท้จริง ความเป็นผู้ใหญ่ย่อมทำให้มีลักษณะของผู้นำได้เสมอ

ในที่สุดนี้ พ่ออยากบอกว่าพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาที่บรรพบุรุษนำพาเราให้เคารพเลื่อมใส จะไม่ก่อประโยชน์แก่ชีวิตของเราเลย ถ้าไม่ได้ศึกษา แล้วนำมาปฏิบัติให้ประสบผลตามที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ ขอให้ลูกจงมีความเป็นผู้ใหญ่อยู่ตลอดไป

รักลูกมากเสมอ
พ่อโต


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 148 เมษายน 2556 โดย พระครูพิศาลสรนาท(พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)





กำลังโหลดความคิดเห็น