ทุกวันนี้มีเครื่องดื่มมากมายหลายชนิดในท้องตลาด ทั้งที่เป็นชนิดกล่อง กระป๋อง ขวด หรือแม้กระทั่งชนิดบรรจุลงถุงอย่างดี น้ำดื่มดังกล่าวก็มีทั้งที่เป็นน้ำผลไม้แท้ ๑๐๐% น้ำผลไม้ที่มีทั้งน้ำและเนื้อปนกัน นมสด นมถั่วเหลือง น้ำนมข้าว เครื่องดื่มบำรุงกำลัง และกาแฟ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นของชั้นดีมีคุณภาพควรแก่การบริโภคทั้งนั้น
หากผู้บริโภคเป็นฆราวาสผู้อยู่ครองเรือนจะดื่มเพื่อดับกระหาย หรือเสริมสร้างบำรุงกำลังด้วยเครื่องดื่มดังกล่าว ย่อมเป็นสิ่งที่สมควรโดยแท้ แต่หากเหล่าพระภิกษุ สามเณร หรือผู้รักษาศีลอุโบสถจะฉันหรือดื่มเครื่องดื่มดังกล่าว ต้องมีการพิจารณาที่ละเอียดลึกซึ้งตามหลักพระวินัยว่า เครื่องดื่มเหล่านั้นเป็น “น้ำปานะ” หรือไม่
คำว่า “ปานะ” แปลว่า เครื่องดื่ม หรือน้ำสำหรับดื่มที่คั้นจากผลไม้ ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ ๘ ชนิด หรือที่เรียกว่า น้ำอัฏฐบาน ได้แก่ น้ำมะม่วง, น้ำชมพู่หรือน้ำหว้า, น้ำกล้วยมีเมล็ด, น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด, น้ำมะซางต้องเจือด้วยน้ำจึงจะควร, น้ำลูกจันทน์หรือองุ่น, น้ำเหง้าบัว และน้ำมะปรางหรือลิ้นจี่ หากเทียบเคียงกับปัจจุบันก็น่าจะหมายถึง บรรดาน้ำผลไม้ทั่วไปนั่นเอง
วิธีทำน้ำปานะที่ท่านแนะไว้ คือ ปอกหรือคว้านผลไม้เหล่านี้ที่สุก เอาผ้าขาวบางห่อแล้วบิดให้ตึง อัดเนื้อผลไม้ให้คายน้ำออกจากผ้า อย่าให้มีกาก จากนั้นเติมน้ำลงไปให้พอดี แล้วผสมกับน้ำตาลและเกลือเป็นต้นเพื่อให้ได้รสที่ดีขึ้น
แต่ปานะดังกล่าวก็มีข้อจำกัดที่จะพึงทราบคือ ปานะนี้ให้สุกด้วยแสงแดดเท่านั้น ห้ามให้สุกด้วยไฟ และน้ำปานะจัดเป็นยามกาลิก จึงควรเก็บไว้ฉันได้ตลอด ๑ วัน กับ ๑ คืนเท่านั้น เมื่อขึ้นอรุณของวันใหม่แล้วเป็นอันฉันไม่ได้
เมื่อทราบถึงวิธีการทำน้ำปานะแล้ว ยังต้องทำความเข้าใจถึงวัตถุดิบที่จะนำมาทำน้ำปานะด้วย ว่าเป็นของที่สมควรหรือไม่สมควร เพื่อเป็นการป้องกันการล่วงละเมิดพระบัญญัติ ดังต่อไปนี้
๑. น้ำปานะที่ไม่สมควรตามหลักพระวินัย ได้แก่ น้ำแห่งธัญชาติ (ข้าว) ๗ ชนิด คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวละมาน ข้าวฟ่าง ลูกเดือย และหญ้ากับแก้
น้ำแห่งมหาผล (ผลไม้ใหญ่) ๙ ชนิด คือ ผลตาล มะพร้าว ขนุน สาเก น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไทย แตงโม และฟักทอง
น้ำแห่งอปรัณณชาติ ได้แก่ ถั่วชนิดต่างๆ มีถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วดำ และงาเป็นต้น แม้จะต้มจะกรอง ทำเป็นเครื่องดื่มชนิดต่างๆ เช่น น้ำนมถั่วเหลืองชนิดกล่อง หรือชนิดขวดที่วางขายตามท้องตลาด และน้ำนมข้าว เป็นต้น จัดเป็นน้ำปานะที่ไม่สมควรทั้งนั้น
๒. น้ำปานะที่สมควรตามหลักพระวินัย ได้แก่ น้ำปานะ ๘ ชนิดข้างต้น และน้ำปานะแห่งผลไม้เล็ก เช่น ลูกหวาย มะขาม มะงั่ว มะขวิด สะคร้อ และเล็บเหยี่ยว เป็นต้น เมื่อพิจารณาตามนี้จะพบว่า น้ำผลไม้ชนิดไม่มีเนื้อปน ที่วางขายอยู่โดยส่วนใหญ่ จัดเป็นน้ำปานะที่สมควร
อย่างไรก็ดี ที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ เห็นจะเป็นเรื่องราวของ “น้ำนม” เนื่องจากมีสิกขาบทหนึ่ง ระบุว่า น้ำนมเป็นโภชนะอันประณีต ไม่ควรดื่มในเวลาวิกาล แต่ในเรื่องนี้ก็ยังมีข้อความจากพระไตรปิฎกที่ขัดแย้งกันอยู่ ๒ แห่งด้วยกัน กล่าวคือ ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ ขุททกนิกาย มหานิเทส ได้ระบุว่า “ปโยปานํ” หรือน้ำนม จัดเป็นน้ำปานะ และในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ ว่าด้วยเรื่องเสขิยกัณฑ์ ได้กล่าวถึง พราหมณ์คนหนึ่งปรุงน้ำนมถวายสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายได้รับน้ำนมมาแล้วก็ดื่มน้ำนมทำเสียงดังซู้ดๆ จึงเป็นที่มาของสิกขาบทที่พระพุทธองค์ทรงห้ามพระภิกษุไม่ให้ฉันทำเสียงดังซู้ดๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจทำให้เกิดการสับสนขึ้นได้ว่า “น้ำนม” หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำนมควรหรือไม่ควรกันแน่
ในปัจจุบัน วัดหรือสำนักปฏิบัติธรรมบางแห่งก็อนุญาตให้ดื่มน้ำนมได้ ส่วนบางแห่งก็ไม่อนุญาตให้ดื่ม ในเรื่องนี้ แม้แต่ในพระไตรปิฎกก็ยังมีข้อความที่ก่อให้เกิดความสับสนทางความคิด เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงขอทำการแบ่งประเภทของน้ำปานะออกเป็น ๓ ระดับขั้น โดยพิจารณาจากเครื่องดื่มที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นเกณฑ์การตัดสิน ดังนี้
๑. ขั้นหยาบ ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีเนื้อปน เช่น น้ำเฉาก๊วย เครื่องดื่มธัญญาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ น้ำผลไม้ที่มีเนื้อปน แม้แต่น้ำนมถั่วเหลืองก็ดื่มไม่ได้
๒. ขั้นกลาง ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีเนื้อปน เช่น น้ำผลไม้แท้ ๑๐๐% ชนิดที่ไม่มีเนื้อปน น้ำหวาน น้ำอัดลม กาแฟผสมครีมเทียม และน้ำนม เนื่องจากน้ำนมก็ได้รับการอนุญาตไว้ตามพระไตรปิฎกข้างต้น ท่านใดเห็นว่าควรดื่ม ก็ไม่ควรไปตำหนิเขา ส่วนท่านใดเห็นว่าไม่ควรดื่ม ก็งดเว้นเสีย
๓. ขั้นละเอียด ได้แก่ น้ำปานะที่ทรงอนุญาตไว้ ๘ อย่าง น้ำผลไม้แท้ ๑๐๐% กาแฟชนิดที่ไม่มีครีมเทียมอันเป็นส่วนผสมของน้ำนม
เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ทั้ง ๓ ข้างต้น ก็คงพอจะกำหนดได้ถึงความเหมาะสมของเครื่องดื่มแต่ละประเภท แต่หากพิจารณาถึงคุณค่าที่แท้จริงของการดื่มน้ำปานะแล้ว จะพบว่า การดื่มน้ำปานะก็เพื่อบรรเทาความหิวกระหาย และการดับธาตุไฟที่เผาผลาญอาหารอยู่ภายในร่างกาย เพื่อให้ผู้ปฏิบัติมีกำลังในการเจริญสมณธรรม ไม่ถูกความหิวบีบคั้นจนกระสับกระส่ายเกินไปในการปฏิบัติธรรม
นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้ถวายที่เป็นทายก ทายิกา มีความต้องการที่ช่วยเหลือส่งเสริมเหล่านักปฏิบัติ เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปในช่วงขณะหนึ่งเท่านั้น หาใช่ต้องการให้ดื่มจนอิ่มหนำอันเป็นที่มาแห่งความกำหนัดไม่
สำหรับฆราวาสผู้มุ่งหวังบุญกุศลในการใส่บาตรถวายเครื่องดื่มในปัจจุบัน ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมของเครื่องดื่มดังกล่าวโดยใช้เกณฑ์การตัดสินข้างต้นเป็นหลักสำคัญ กล่าวคือ เครื่องดื่มที่จัดอยู่ในขั้นหยาบไม่ควรถวายเลยจะดีที่สุด แต่ควรถวายเฉพาะเครื่องดื่มที่จัดอยู่ในขั้นกลางและขั้นละเอียดเท่านั้น เมื่อถวายแล้วก็ควรทำใจให้เป็นกุศลในบุญที่ได้ทำไว้ ส่วนนักปฏิบัติก็ควรดื่มพร้อมทั้งพิจารณาถึงคุณค่าและเจตนาที่แท้จริงของผู้ถวายด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องดื่มในปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงไปมากจากครั้งอดีตกาล หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า เครื่องดื่มเกือบทุกประเภทจะต้องผ่านการพาสเจอร์ไรส์ (Pasteurization) ซึ่งเป็นกระบวนการถนอมอาหารโดยใช้ความร้อนในอุณหภูมิที่สูง เพื่อยืดอายุการเก็บอาหาร และทำให้อาหารปลอดภัยควรแก่การบริโภค
เมื่อเป็นเช่นนี้ เครื่องดื่มเหล่านั้นก็ชื่อว่าได้รับการหุงด้วยไฟ ไม่ใช่เป็นของที่ให้สุกด้วยแสงแดดตามพระบัญญัติ ครั้นจะบอกว่า เครื่องดื่มเหล่านั้นไม่ควรดื่ม เนื่องจากได้รับการหุงด้วยไฟ แต่ก็เป็นกรรมวิธีที่มีความปลอดภัยสูงและเหมาะสมแก่การบริโภคด้วย จึงเป็นการตัดสินที่ยากเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้น เมื่อจะเลือกเครื่องดื่มใด ก็ควรพิจารณาตามความเหมาะสมของยุคสมัยด้วย แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดการติเตียนขึ้นในภายหลัง จึงจะถือได้ว่า เครื่องดื่มนั้นมีความเหมาะสมและควรค่าแก่ความเป็นน้ำปานะ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 147 มีนาคม 2556 โดย พระมหาอดิเดช สติวโร (สุขวัฒนวดี) วัดเกตุมดีศรีวราราม จ.สมุทรสาคร)