พืชสมุนไพรของไทยที่ยอดเยี่ยมอีกชนิดหนึ่งก็คือ กะเม็ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Eclipta prostrata Linn. เป็นพืชในวงศ์เดียวกับทานตะวัน และดาวเรือง และมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น กะเม็งตัวเมีย, คัดเม็ง (ภาคกลาง) บังกีเช้า (จีน) หญ้าสับ, ฮ่อมเกี่ยว (ภาคเหนือ) เป็นต้น พบขึ้นตามที่รกร้าง และที่ชื้นแฉะทั่วไป
กะเม็งเป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 30-50 ซม. ลำต้นมีขนหรือบางต้นก็ค่อนข้างเกลี้ยง มีกิ่งก้านแตกที่โคนต้น ใบเป็นรูปรี หรือรูปหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ริมขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ผิวเนื้อใบเกลี้ยง ดอกสีขาว ออกเป็นกระจุก ส่วนผลมีลักษณะเป็นรูปลูกข่าง เมื่อแก่จัดจะมีสีดำ
สรรพคุณทางสมุนไพรของกะเม็งมีมากมาย ได้แก่
• รักษาแผล ช่วยห้ามเลือดและป้องกันการติดเชื้อ ใช้ต้มอมบ้วนปาก รักษาอาการปากและเหงือกเป็นแผล รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก อาการฟกช้ำ
• แก้บิดถ่ายเป็นมูกเลือด
• แก้โรคผิวหนังผื่นคันจากการทำนา การศึกษาวิจัยสมัยใหม่พบว่ากะเม็ง มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อทั้งราและแบคทีเรีย
• แก้ผมหงอกก่อนวัย ทำให้ผมดกดำ
• ทำเป็นชาสมุนไพรสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
• รักษาตับ อาการดีซ่านตัวเหลืองตาเหลือง มีการศึกษาวิจัยเป็นจำนวนมากถึงผลของกะเม็งต่อตับ โดยพบว่า กะเม็งสามารถแก้ความเป็นพิษที่ตับ และป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายจากสารพิษ รวมทั้งจากแอลกอฮอล์ ป้องกันไม่ให้เซลล์ตับถูกทำลายจากไวรัส แถมยังช่วยในการฟื้นตัวของตับที่ถูกทำลายได้อีกด้วย
• แก้อักเสบ บวมน้ำ
• โรคไต นำต้นกะเม็งแบบชนิดแห้ง 1 กำมือ ต้มกับน้ำจนเดือด ดื่มครั้งละ 1 แก้ว เช้า กลางวัน เย็น หรือต้มดื่มน้ำทั้งวันก็ได้ จะช่วยล้างพิษหรือสารตกค้างจากไตจนหมด ทำให้ไตสมบูรณ์ขึ้น
• แก้มะเร็งโดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งตับ นอกจากนี้แล้วยังพบว่า กะเม็งลดการกดภูมิคุ้มกันซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ใรักษาความเป็นปกติของร่างกายขณะได้รับเคมีบำบัด
• รักษาอาการแผลเรื้อรังเน่าลุกลามรักษายาก เช่น แผลจากเบาหวาน แผลจากมะเร็ง
• แก้หืด
• แก้โรคปอด หลอดลมอักเสบ
• แก้จุกเสียด
• รักษาแผลในกระเพาะ ลำไส้
• แก้กลากเกลื้อน
• รักษาอาการชักเกร็ง มือเกร็ง ที่เกิดจากอาการทางประสาททำให้เป็นลมวิงเวียน ชักเกร็ง มือเกร็ง
• มีฤทธิ์คลายเครียด ช่วยทำให้นอนหลับ
• เป็นยาอายุวัฒนะ จากการศึกษาสมัยใหม่พบว่า กะเม็งทำให้เยื่อหุ้มเซลล์ของเม็ดเลือดแดงแข็งแรงขึ้น ซึ่งยืนยันการใช้เป็นยาอายุวัฒนะของคนสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี
การเก็บกะเม็งมาใช้เป็นยานั้น จะเก็บมาใช้ทั้งต้นในขณะที่ต้นเจริญเต็มที่ กำลังออกดอก เมื่อเก็บมาแล้ว ควรล้างดินออกให้สะอาด หั่นเป็นท่อนหรือชิ้นเล็กๆ ตากหรือผึ่งให้แห้ง ใช้ทั้งต้นแห้ง 10-30 กรัม ต้มน้ำกิน หรือจะนำมาบดเป็นผง ทำเป็นยาเม็ดลูกกลอน หรือกินเป็นผงก็ได้
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 147 มีนาคม 2556 โดย เก้า มกรา)