xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : “นิมิต” ในสมาธิ จริงหรือไม่จริง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักปฏิบัติบางท่านที่ติดนิมิตจนถอนตัวไม่ขึ้น หลับตาทำสมาธิก็ตกลงในวังวนแห่งภาพต่างๆที่ปรุงแต่งขึ้นในห้วงสมาธิ จริงบ้าง ปลอมบ้าง แล้วแต่สภาพของสังขารปรุงแต่งหรือญาณกำเนิด

ครูบาอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานจึงเตือนผู้ปฏิบัติชั้นหลังมาทุกยุคทุกสมัยในเรื่องนิมิตและความสุขในสมาธิ นักปฏิบัติธรรมบางท่านก็หลงใหลได้ปลื้มกับนิมิต หรือให้ความสำคัญกับผู้รู้เห็นนิมิตว่าเป็นผู้วิเศษเลิศเลอ

ภาพในนิมิตที่ปรากฏและถูกต้องนั้นมีเพียงเล็กน้อย นอกนั้นเกิดจากสังขารปรุงแต่งเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนิมิตที่ปรากฏขึ้นเองและนิมิตที่กำหนด

จิตเมื่อเข้าสู่สมาธิอ่อนๆ ก็มีนิมิตจางๆ แล้วค่อยๆชัดขึ้นเมื่อสมาธิสงบ จนกระทั่งชัดที่สุด ทุกครั้งที่ปรากฏนิมิตต้องใช้ปัญญาอบรมจิตควบคู่กันไปด้วย (เพราะนิมิตที่ปรากฏ อยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์) แล้วปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในนิมิต เพื่อพัฒนาการจิตในระดับต่อไป ก็จะออกมาในอีกหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นปีติในลักษณะต่างๆ รวมทั้งความรู้สึกหลากหลายของความสงบก็จะปรากฏขึ้นมาเป็นลำดับ

ทั้งนี้ต้องใช้ไตรลักษณ์เป็นหัวข้อธรรมใหญ่ในการพิจารณาองค์ประกอบของสมาธิทุกรูปแบบก็ว่าได้

เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติทั้งหลายพึงสังวรระวัง เกี่ยวกับเรื่องนิมิตต่างๆ ถ้าท่านภาวนาแล้วเกิดนิมิตต่างๆ ขึ้นมา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มักเกิดขึ้นเพราะอุปาทานที่ท่านคิดว่าอยากรู้อยากเห็น ระดับจิตที่สงบลงเป็นสมาธิในขั้นอุปจารสมาธินั้น ถ้าจิตมันปรุงแต่งอะไรขึ้นมาในขณะนั้น มันจะกลายเป็นตัวเป็นตนไปหมด เพราะสิ่งที่มองเห็นนั้นรู้สึกมองเห็นด้วยตาธรรมดา

ตาท่านหลับอยู่แต่ท่านก็มองเห็นได้ ทำไมจึงมองเห็นได้ ก็เพราะจิตท่านเป็นผู้ปรุงแต่งขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่าง อันนี้พึงสังวร

ในเมื่อเหตุการณ์ที่กล่าวนี้เกิดมาแล้ว ควรจะปฏิบัติต่อนิมิตทั้งหลายเหล่านี้อย่างไร

๑. อย่าไปเอะใจ อย่าไปตื่นในการที่ได้พบเห็น ให้ประคองจิตอยู่ในท่าทีที่สงบเป็นปกติ
๒. อย่าไปยึดว่าสิ่งนั้นเป็นจริง ถ้าจริงมันจะสงสัย


สมาธิอ่อนๆ กระแสจิตส่งออกไปข้างนอกให้ประคองจิตให้เป็นสมาธิไว้นานๆ ภาพนิมิตนั้นจะอยู่ให้ท่านชม

บางทีท่านอาจจะนึกว่าภาพนิมิตที่มองเห็นนั้นเป็นสิ่งที่สนุกเพลิดเพลิน สนุกยิ่งกว่าไปดูหนัง อันนี้แล้วแต่มันจะเป็นไปตามอำนาจกิเลสของใคร

แต่ถ้าผู้เห็นนิมิตนั้นเคยมีสมาธิดี มีปัญญาดี อาจจะจับเอานิมิตนั้นเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ พิจารณาเป็นกรรมฐานในแง่ของวิปัสสนาเลย กำหนดหมายว่านิมิตนี้ก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงยักย้ายอยู่เสมอ

ถ้าท่านสามารถกำหนดพิจารณาได้อย่างนี้ ท่านก็จะได้ความรู้ในแง่วิปัสสนา เรื่องนิมิตต่างๆนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายโดยถ่ายเดียว เป็นสิ่งที่ให้ทั้งคุณเป็นสิ่งที่ให้ทั้งโทษ

ถ้าผู้ปฏิบัติกำหนดหมายเอานิมิตเป็นเครื่องรู้ของจิตเป็นเครื่องระลึกของสติ เป็นอารมณ์ที่จะน้อมนึกพิจารณาวิปัสสนากรรมฐานหรือสมถะกรรมฐานก็แล้วแต่ ย่อมได้ประโยชน์สำหรับผู้มีสติปัญญา สามารถรู้เท่าทันนิมิตนั้นๆ แต่ถ้าผู้หลงว่าเป็นจริงเป็นจัง จิตอาจจะไปติดนิมิตนั้นๆชอบอกชอบใจในนิมิตนั้นๆ บางทีก็จะไปเที่ยวกับนิมิตนั้น

ฝากเอาไว้ให้นักปฏิบัติได้โปรดพิจารณาเอาเอง เพราะสิ่งเหล่านี้มันจะเป็นทางผ่านของผู้บำเพ็ญจิต แต่ถ้าจะเปรียบเทียบกับนิมิตต่างๆ ซึ่งเกิดจากการพิจารณากรรมฐาน โดยยกเอากายของเราเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ จะน้อมนึกไปในแง่ไม่สวยงามก็ตาม จะน้อมนึกไปว่ากายเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ตาม

ในเมื่อจิตสงบลงแล้ว ยิ่งเห็นจริงในอสุภกรรมฐานหรือในธาตุกรรมฐาน จนมองเห็นอสุภกรรมฐาน ว่าร่างกายนี้เป็นของสกปรก เป็นสิ่งปฏิกูลเน่าเปื่อยน่าเกลียดผุพังสลายตัวไปจนไม่มีอะไรเหลือ ยังเหลือแต่สภาพจิตที่ยังสงบนิ่ง ใส บริสุทธิ์ สะอาด สิ่งที่รู้เห็นทั้งหลายหายหมดไปแล้ว ยังเหลือแต่จิตดวงเดียวล้วนๆ

แต่เมื่อจิตถอนออกมาจากความเป็นสภาพเช่นนั้นแล้ว มาสู่ปกติธรรมดา ร่างกายที่มองเห็นว่าสาบสูญหายไปนั้นก็ยังปรากฏอยู่ จะปรากฏว่าสูญหายไปหรือปฏิกูลเฉพาะในขณะที่อยู่ในสมาธิเท่านั้น

เพราะฉะนั้น สิ่งที่รู้เห็นอันนี้เป็นเพียงนิมิต ซึ่งหลักของการปฏิบัติสมถกรรมฐาน เมื่อจิตเพ่งจดจ่ออยู่ในสิ่งที่รู้แน่วแน่ นิมิตย่อมเกิดขึ้น อันดับแรกเรียกว่า "อุคคหนิมิต" ในอันดับต่อไปเรียกว่า "ปฏิภาคนิมิต"

อุคคหนิมิตจิตจดจ่อรู้ในสิ่งๆ เดียวอย่างแน่วแน่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง นิมิตนั้นก็อยู่ในสภาพปกติ จิตก็อยู่ในสภาพปกติ
แต่รู้เห็นกันอย่างติดหูติดตา หลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น อันนี้เรียกว่า"อุคคหนิมิต"

ทีนี้ถ้าหากว่าจิตสามารถปฏิวัติความเปลี่ยนแปลงของนิมิต ให้มีอันเป็นไปต่างๆ ขยายให้ใหญ่โตขึ้นหรือย่อให้เล็กลง หรือถึงขนาดสลายตัวไปไม่มีอะไรเหลือ จิตก็ก้าวขึ้นสู่ภูมิของ"ปฏิภาคนิมิต"

ถ้าหากว่านิมิตมีการเปลี่ยนแปลงยักย้ายอยู่อย่างนั้น ถ้าจิตสำคัญมั่นหมายในการเปลี่ยนแปลงของนิมิต โดยกำหนดอนิจจสัญญา คือความจำหมายว่าไม่เที่ยง เข้ามาแทรกความรู้เห็นในขณะนั้นโดยอัตโนมัติ จิตของท่านจะกลายเป็นการเดินภูมิวิปัสสนากรรมฐาน และนิมิตที่ปรากฏนั้นก็ปรากฏในขณะที่อยู่ในสมาธิเท่านั้น

ในขั้นนี้เรื่องราวหรือนิมิตอะไรที่พึงเกิดขึ้นภายในจิตของผู้ปฏิบัติอยู่ก็ตาม ให้สังวรระวังรักษาความรู้สึกนึกคิดเอาไว้ว่า

สิ่งนี้คือจิตของเราปรุงแต่งขึ้นในขณะที่จิตของเรามีสมาธิ เอาความรู้สึกอันนี้มาสกัดกั้นเอาไว้ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้จิตของเราหลงหรือรู้ผิด นี่คือหลักการปฏิบัติที่เราพึงสังวรระวัง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 145 มกราคม 2556 โดย พระราชสังวรญาณ(พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา)

กำลังโหลดความคิดเห็น