xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : กายวิภาคศาสตร์ที่เกื้อหนุนต่อการปฏิบัติกัมมัฏฐาน ตอนที่ 3 รูปแบบการปฏิบัติกัมมัฏฐาน ตามหลักกายวิภาคศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กายวิภาคศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้ง และโครงสร้างของอวัยวะต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายมนุษย์ หรือที่ทางธรรมเรียกว่า “อาการ ๓๒” สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติกัมมัฏฐานได้เป็นอย่างดี เพราะช่วยทำให้การกำหนดหรือพิจารณาถึงอวัยวะส่วนนั้นๆ เป็นไปด้วยความรวดเร็วฉับไวมากยิ่งขึ้น

จึงมีคำถามว่า กายวิภาคศาสตร์ใช้ปฏิบัติกัมมัฏฐานแบบไหนได้บ้าง

พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงการพิจารณาร่างกายออกเป็นส่วนๆ ที่ปรากฏอยู่ในมหาสติปัฏฐานสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ และ ๑๒) ในหมวดของกายานุปัสสนา ซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๖ ส่วน ได้แก่

๑. พิจารณากำหนดลมหายใจเข้าออก (อานาปานบรรพ)

๒. พิจารณาอิริยาบถของกาย เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน (อิริยาบถบรรพ)

๓. พิจารณารู้ตัวในความเคลื่อนไหว เช่น ก้าวไปก้าวมา คู้แขน เหยียดแขน เป็นต้น (สัมปชัญญบรรพ)

๔. พิจารณาความน่าเกลียดของร่างกาย ซึ่งแบ่งออกเป็นส่วนย่อยต่างๆ มี ผม ขน เล็บ เป็นต้น (ปฏิกูลมนสิการบรรพ)

๕. พิจารณาร่างกายโดยความเป็นธาตุ (ธาตุมนสิการบรรพ)

๖. พิจารณาร่างกายที่เป็นศพ มีลักษณะต่างๆ ๙ อย่าง (นวสีวถิกาบรรพ)

หากพิจารณาตามหลักของมหาสติปัฏฐานสูตรแล้ว กายวิภาคศาสตร์สามารถนำไปใช้ปฏิบัติกัมมัฏฐานได้ โดยสงเคราะห์เข้ากับการพิจารณาความน่าเกลียดของร่างกาย (ปฏิกูลมนสิการบรรพ) และพิจารณาร่างกายโดยความเป็นธาตุ (ธาตุมนสิการบรรพ) เท่านั้น

เพราะเป็นหมวดที่เกี่ยวเนื่องกับอวัยวะต่างๆ ในร่างกายโดยตรง โดยใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือในการพิจารณาตามหลักของมหาสติปัฏฐานสูตร

เมื่อศึกษาหลักกายวิภาคศาสตร์อย่างครบถ้วนแล้ว จะเห็นได้ว่า สามารถนำมาปฏิบัติกัมมัฏฐานได้ ๒ รูปแบบ กล่าวคือ

พิจารณาโดยความเป็นของปฏิกูล โดยใช้กายคตาสติกัมมัฏฐานเป็นแนวทางปฏิบัติ และพิจารณาโดยความเป็นธาตุทั้ง ๔ มาประชุมกันว่าตกอยู่ในอำนาจของกฎไตรลักษณ์ โดยใช้จตุธาตุววัฏฐานเป็นแนวทางปฏิบัติ

การปฏิบัติทั้ง ๒ รูปแบบนี้สามารถนำองค์ความรู้จากกายวิภาคศาสตร์ มาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยให้การปฏิบัติกัมมัฏฐานได้ผลดียิ่งขึ้น เพราะทำให้เกิดความเข้าใจ และมองเห็นภาพอวัยวะต่างๆ ได้อย่างชัดเจน ถูกต้อง และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

โดยการปฏิบัติกัมมัฏฐานใน ๒ รูปแบบนั้นก็มีแนวทางการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

๑. ปฏิกูลมนสิการ เป็นการปฏิบัติกัมมัฏฐานโดยใช้กายคตาสติ เป็นการพิจารณาร่างกายแยกออกเป็นส่วนๆ โดยความเป็นของน่าเกลียด เป็นสิ่งปฏิกูล ไม่น่ารักใคร่ และไม่ควรยึดมั่นถือมั่น โดยขจัดความหลงงมงายในความสวยงามของร่างกาย พร้อมทั้งเปิดเผยให้เห็นความสกปรกภายใน

เหมาะแก่ผู้ที่มีราคจริตเป็นพื้นฐาน เมื่อปฏิบัติอย่างเต็มที่แล้วทำให้ผู้ปฏิบัติสามารถเข้าถึงอัปปนาฌาน แต่เป็นได้เพียงแค่ปฐมฌานเท่านั้น จัดได้ว่าเป็นสมถกัมมัฏฐานเพียงอย่างเดียว

๒. ธาตุมนสิการ เป็นการปฏิบัติกัมมัฏฐานโดยใช้จตุธาตุววัฏฐาน เป็นการพิจารณาโดยความเป็นธาตุ ๔ ประกอบไปด้วย ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม ให้เห็นว่าร่างกายนี้เป็นเพียงสักแต่ว่าธาตุมาประชุมกันเท่านั้น มีความแปรปรวนเป็นนิตย์ ไม่มั่นคง ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกฎไตรลักษณ์ กล่าวคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตลอดเวลา

เหมาะแก่ผู้ที่มีพุทธิจริตเป็นพื้นฐาน จึงจัดว่าเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐานแต่อย่างเดียว จะเพ่งให้เกิดฌานจิตไม่ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ กายวิภาคศาสตร์จึงเหมาะแก่การนำไปปฏิบัติกัมมัฏฐานเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ว่าผู้คนจะต้องการปฏิบัติแบบสมถกัมมัฏฐาน หรือวิปัสสนากัมมัฏฐานก็ตาม กายวิภาคศาสตร์ก็สามารถตอบสนองโดยการนำไปใช้ปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมตามแต่โอกาสของแต่ละคน

ถือได้ว่าการปฏิบัติกัมมัฏฐานตามหลักกายวิภาคศาสตร์มีความสมบูรณ์แบบ ครบถ้วน และเหมาะสมแก่ผู้ที่มีความต้องการปฏิบัติกัมมัฏฐานทุกๆท่านได้เป็นอย่างดี เพียงแต่อยู่ที่ว่าแต่ละท่านจะปฏิบัติกัมมัฏฐานกันอย่างจริงจังหรือไม่

เนื่องจากการปฏิบัติกัมมัฏฐานที่ถูกต้องนั้น ต้องปฏิบัติอยู่ทุกขณะจิต ไม่ว่าจะเป็นเวลาใดก็ตาม ดังเช่นที่พระพุทธองค์ตรัสบอกแก่พระสุนทรีนันทาเถรีว่า

“เมื่อเธอพิจารณาร่างกายนั้นอย่างนี้ ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน แต่นั้น จะเห็นแจ้งด้วยปัญญาของตนเองได้”

เป็นการบ่งบอกว่าการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง มีคุณค่ามากกว่าการปฏิบัติแบบหยุดๆหย่อนๆ เปรียบเหมือนการเดินทางไปให้ถึงเส้นชัย หากเรายังคงเดินหน้าอยู่อย่างต่อเนื่องด้วยก้าวเดินสม่ำเสมอ สักวันก็ย่อมถึงเส้นชัยเป็นแน่แท้ แต่หากเราเดินไปสักพักก็หยุด หรือไปแวะในสถานที่อื่นอยู่บ่อยครั้ง เส้นชัยที่หวังไว้ก็ย่อมไกลห่างออกไปเป็นธรรมดา

ดังนั้น การปฏิบัติกัมมัฏฐานขึ้นอยู่กับตัวของผู้ปฏิบัติเป็นสำคัญ ว่ามีความตั้งใจจริงและเอาใจใส่มากน้อยแค่ไหน

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 143 พฤศจิกายน 2555 โดย พระมหาอดิเดช สติวโร (สุขวัฒนวดี) วัดเกตุมดีศรีวราราม จ.สมุทรสาคร)
กำลังโหลดความคิดเห็น