xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : กายวิภาคศาสตร์ที่เกื้อหนุนต่อการปฏิบัติกัมมัฏฐาน ตอนที่ 4 รูปแบบการปฏิบัติกัมมัฏฐาน ตามหลักกายวิภาคศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การปฏิบัติกายวิภาคศาสตร์ตามแนวทางของกายคตาสติ เพื่อให้เห็นร่างกายเป็นของปฏิกูล น่ารังเกียจ หาความยินดีไม่ได้ มีปรากฏอยู่ใน ๒ พระสูตรด้วยกัน คือ มหาสติปัฏฐานสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐, ๑๒) และกายคตาสติสูตร (พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔) มีวิธีการเจริญกัมมัฏฐานที่ต้องพิจารณาให้เหมือนกับการใช้มีดผ่าตัดเปิดผิวหนังของร่างกายออก เพื่อให้เห็นสิ่งต่างๆ ที่ถูกปกปิดซ่อนอยู่ภายในร่างกาย

พระพุทธโฆษาจารย์ได้อธิบายวิธีการสาธยายกายคตาสติกัมมัฏฐานไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ว่า

กัมมัฏฐานที่ต้องมนสิการเป็นสิ่งปฏิกูลนั้น ผู้ปฏิบัติแม้จะเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก ก็ต้องสาธยายออกเสียงก่อน เมื่อผู้ปฏิบัติพอสาธยายออกเสียงบ่อยครั้งเข้า อารมณ์กัมมัฏฐานก็จะเริ่มปรากฏชัดเจน

มีตัวอย่างว่า อาจารย์กัมมัฏฐานให้ผู้ปฏิบัติสาธยายอาการ ๓๒ เป็นเวลา ๔ เดือน ผู้สาธยายแล้วสำเร็จเป็นพระโสดาบันเลยก็มี ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องสาธยายออกเสียงก่อนเป็นอันดับแรก

ในการสาธยายนั้น ก่อนอื่นท่านให้สาธยายเป็น “ตจปัญจกกัมมัฏฐาน” คือ กัมมัฏฐานที่ท่านสอนให้พิจารณาส่วนของร่างกาย ๕ อย่าง คือ ผม (เกสา) ขน (โลมา) เล็บ (นขา) ฟัน (ทันตา) และหนัง (ตโจ) โดยความเป็นของปฏิกูล

จากนั้นให้สาธยายกำหนดบริกรรมลำดับละ ๕ คำ บริกรรมแบบอนุโลม (ไปตามลำดับ) ว่า เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ จากนั้นจึงบริกรรมแบบปฏิโลม (ทวนลำดับ) ว่า ตโจ ทันตา นขา โลมา เกสา

ในที่นี้จะอธิบายเฉพาะใน ๕ ส่วนเบื้องต้นเท่านั้น ส่วนอวัยวะอื่นๆ พึงพิจารณาไปตามลำดับจนครบทั้งอาการ ๓๒

ในขณะที่มีการสาธยายด้วยวาจาทั้งร้อยครั้ง พันครั้ง หรือแสนครั้งก็ตาม จะเริ่มมีการฝึกอบรมจิตให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ทำให้จิตของผู้สาธยายนิ่ง ไม่ซัดส่ายไปมา ใจสงบ มองเห็นลักษณะของอวัยวะส่วนต่างๆ ที่ปรากฏได้ชัดเจน

นอกจากจะต้องท่องบ่นสาธยายอยู่เป็นนิตย์แล้ว ยังต้องทำจนขึ้นมาปรากฏอยู่ในใจด้วย ที่เรียกว่า “สาธยายโดยใจ” จากนั้นจึงค่อยพิจารณาโดย สี สัณฐาน (รูปทรง) ทิศ โอกาส (กำหนดที่ตั้ง) และปริจเฉท (กำหนดบริเวณ) เป็นลำดับต่อไป

ตัวอย่างเช่น เมื่อจะเริ่มการสาธยายด้วยวาจาและพิจารณาด้วยใจให้เห็นเป็นสิ่งปฏิกูล เบื้องต้นให้ถอนผม ๑ หรือ ๒ เส้นวางบนฝ่ามือ แล้วกำหนดสีก่อน ในการตรวจนับจำนวนผม ควรตรวจนับทุกสถานที่ แม้ในสถานที่ตัดผม ในน้ำ หรือในอาหารที่ผมตกลงไป ก็ควรตรวจนับเส้นผมด้วย

ถ้าเป็นผมสีดำ ให้พิจารณาว่ามีสีดำ ถ้าเป็นผมสีขาว ให้พิจารณาว่ามีสีขาว แต่ถ้ามีสีเจือปนกัน ให้พิจารณาสีข้างมาก จากนั้นพิจารณาสัณฐาน (รูปทรง) ของเส้นผม ว่าส่วนใหญ่มีสัณฐานอย่างไร จากนั้นพิจารณาทิศ โอกาส (กำหนดที่ตั้ง) และปริจเฉท (กำหนดบริเวณ) ต่อไปตามลำดับ ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนจิตสงบนิ่งเป็นอารมณ์กัมมัฏฐานได้

เมื่อกำหนดพิจารณาผมโดยความเป็น สี สัณฐาน ทิศ โอกาส และปริจเฉทได้แล้ว ถัดจากนั้นให้ตั้งจิตไว้ในภาวะที่เป็นของปฏิกูล เป็นของน่ารังเกียจ พิจารณาอาการ ๓๒ ไปตามลำดับ ไม่เร็วเกินไปและไม่ช้าเกินไป

โดยพิจารณาจากผมไปถึงมูตร(ปัสสาวะ) จนกระทั่งผู้บำเพ็ญเพียรมองเห็นภาพของส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรืออาการ ๓๒ ได้ในเวลาเดียวกัน ไม่มีภาพใดเกิดก่อนหรือเกิดหลัง คือ หากมองคน ก็เห็นเป็นอวัยวะครบ ๓๒ ส่วนทันที

เปรียบเหมือนกับการมองเห็นพวงดอกไม้ที่ร้อยเรียงดอกไม้ ๓๒ ชนิดด้วยเส้นด้ายเดียวกัน ซึ่งผู้บำเพ็ญเพียรก็จะละภาพของความเป็นคน เหลือเพียงอวัยวะแต่ละส่วนเหล่านั้น

และเมื่อสามารถพิจารณาเฉพาะส่วนที่ปรากฏเห็นชัดแล้วจะเกิดเป็นสมาธิแน่วแน่ไปตามลำดับ จากอุคคหนิมิต (นิมิตติดตาติดใจ) จนหลับตามองเห็นสิ่งที่เพ่งหรือนึกได้

เมื่อจิตเป็นสมาธิแนบแน่นมากยิ่งขึ้นต่อไปจะถึงขั้น ปฏิภาคนิมิต (นิมิตเสมือน หรือนิมิตเทียบเคียง) ที่จำได้หมายรู้ความน่ารังเกียจนั้นได้ สามารถจะนึกขยายหรือย่อส่วนภาพติดตาติดใจนั้นได้ตามความปรารถนา

เมื่อผู้บำเพ็ญเพียรทำความเพียรต่อไปให้มากขึ้นแล้ว ย่อมบรรลุไปสู่ปฐมฌานได้

การเจริญกายคตาสติมีอานิสงส์หลายระดับชั้น มีผลอย่างต่ำ คือ จิตใจมั่นคง อดทนต่อความยินดียินร้าย อดกลั้นต่อทุกขเวทนาได้

ผลอย่างสูง คือ เป็นเหตุปัจจัยอำนวยผลให้ได้ฌาน ๔ และอภิญญา ๖ สามารถมองเห็นความไม่เที่ยง ไม่งาม ความเป็นของปฏิกูล เพื่อให้เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัดจากความมัวเมาในอำนาจของกิเลสได้


แต่สมาธิในกัมมัฏฐานนี้เป็นเพียงอุปจาร (สมาธิจวนจะแน่วแน่)เท่านั้น กัมมัฏฐานนี้เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้มีราคจริตเป็นพื้นฐาน มีอานิสงส์ไม่ให้ข้องอยู่ในกายตนและกายผู้อื่น จัดเป็นสมถกัมมัฏฐานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 144 ธันวาคม 2555 โดย พระมหาอดิเดช สติวโร(สุขวัฒนวดี) วัดเกตุมดีศรีวราราม จ.สมุทรสาคร)

กำลังโหลดความคิดเห็น