xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : อันตราย!! ถ่ายเป็นเลือดภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สำรวจตัวเองสักหน่อยว่าเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่..?

...ท้องเสียบ่อยๆ สลับกับท้องผูกเป็นประจำ ถ่ายเป็นมูก หรือถ่ายเป็นเลือด แน่นท้อง ท้องอืด ปวดท้อง อ่อนเพลีย และน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการเหล่านี้... อย่านิ่งนอนใจ เพราะนี่อาจเป็น... “อาการเตือน” ของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือทวารหนัก ฉะนั้น ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ก่อนจะสายเกินแก้!!

มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก อีกหนึ่งภัยเงียบที่แฝงเข้ามาในร่างกายมนุษย์ และคร่าชีวิตประชากรโลกได้มากเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งปอด ซึ่งโดยปกติแล้วมะเร็งลำไส้ใหญ่จะเกิดขึ้นในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีความยาวต่อเนื่องราว 4-6 ฟุต นับตั้งแต่ช่วงที่ต่อจากลำไส้เล็กจนถึงทวารหนัก ซึ่งลำไส้ใหญ่เป็นส่วนท้ายสุดของทางเดินอาหาร ทำหน้าที่เก็บเศษอาหาร ที่ผ่านการย่อยและดูดซึมมาแล้ว เพื่อเตรียมการขจัดออกจากร่างกายในรูปของอุจจาระ

และโดยธรรมชาติของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักจะใช้เวลานานมากในการเปลี่ยนแปลงจากเยื่อบุลำไส้ใหญ่ปกติไปเป็นมะเร็ง ตลอดจนประชาชนยังไม่ตระหนักถึงภัยนี้ ทำให้เกิดความชะล่าใจ ดำเนินชีวิตอย่างเสี่ยงภัยโรคมะเร็ง และขาดการตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองโรคมะเร็งอย่างสม่ำเสมอ จึงมักพบผู้ป่วยโรคนี้ในอายุเฉลี่ยประมาณ 60 ปี

แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตมักเกิดจากการตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะที่มีอาการเลือดออกปนกับมูกและอุจจาระ หรือมีอุจจาระก้อนเล็กลง หรือมีอาการลำไส้ใหญ่อุดตัน ซึ่งมักจะมีการกระจายของโรคมะเร็งออกไปสู่ต่อมน้ำเหลืองหรือไปที่ตับแล้ว จึงทำให้ไม่สามารถการรักษาให้หายขาดได้ทุกราย

“การป้องกัน” คือการรักษาที่ดีที่สุด

พันธุกรรม... อาหาร... พฤติกรรมการบริโภค... สุขภาพในการขับถ่าย หรือการขาดสารอาหารบางชนิด สิ่งเหล่านี้... อาจล้วนเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักก็จริง

แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาวิจัยใดที่ได้ข้อสรุปชัดเจนว่า อะไรเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่เราก็สามารถป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ด้วยวิธีอย่างง่ายๆ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ดังนี้

1. รับประทานผักสด ผลไม้ ตลอดจนอาหารที่มีกากหรือเส้นใยสูง (high fiber) เพิ่มขึ้น ซึ่งประกอบด้วย ข้าวซ้อมมือ ถั่วต่างๆ เป็นต้น เพื่อลดและ/หรือป้องกันอาการท้องผูก โดยจะทำให้ไม่เกิดของเสียคั่งค้างในลำไส้ใหญ่ ตลอดจนรับประทานวิตามินที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ด้วย เช่น เบต้าคาโรทีน วิตามิน A, C, D, E และ แคลเซียม เป็นต้น

2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหว เช่น เดินเร็วๆ วิ่งเหยาะๆ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เลือกตามความเหมาะสม อย่างน้อยควรทำวันเว้นวัน ครั้งละประมาณ 30 นาที

3. ลด ละ และเลิกการดื่ม ชา กาแฟ หรือแอลกอฮอล์ และเลิกการสูบบุหรี่

นอกจากการปฏิบัติเพื่อการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างง่ายๆดังกล่าวข้างต้นแล้ว หากบุคคลใดมีปัจจัยเสี่ยง หรือมีอาการแสดงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่กล่าวมา รวมทั้งบุคคลที่มีลำไส้อักเสบเรื้อรัง มีติ่งเนื้องอกในลำไส้มาแต่กำเนิด หรือตัดถุงน้ำดีออกไปแล้ว การค้นหามะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ก่อนที่อาการจะปรากฏ ที่เรียกว่า “การตรวจคัดกรอง” (screening) ก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากต่อการป้องกัน เพราะการตรวจ ค้นหา วินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และได้รับการรักษาเร็วมากเท่าไร โอกาสหายจากโรคก็มีมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

(ข้อมูลงานประชาสัมพันธ์ รพ.จุฬาภรณ์)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 145 มกราคม 2556 โดย กองบรรณาธิการ)

กำลังโหลดความคิดเห็น