xs
xsm
sm
md
lg

Learn & Share : ยึดมั่น “เศรษฐกิจพอเพียง” ขึ้นชื่อว่า “ปฏิบัติบูชา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แปลกแต่จริงที่ “เศรษฐกิจพอเพียง” ปรัชญาซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสแก่พสกนิกรตั้งแต่ปี 2517 แต่กาลเวลาผ่านมาถึง 38 ปี แม้คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” จะถูกอ้างอิงพูดถึงอย่างแพร่หลาย แต่ก็มีคนตีความแตกต่างกันไปมาก และมิได้นำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติอย่างจริงจังมากนัก

มีบางคนมักสับสนกับเรื่อง “เกษตรทฤษฎีใหม่” และเข้าใจผิดว่า หากนำไปใช้กับการประกอบธุรกิจจะไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดที่เป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

ถ้าย้อนไปศึกษาเนื้อหาที่มีผู้ทรงคุณวุฒิกลั่นกรองพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งพระราชดำรัสอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และทรงมีพระบรมราชานุญาตให้นำไปเผยแพร่ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของทุกฝ่าย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2542 ก็จะชัดเจนตามใจความว่า

“เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนา และบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผน และการดำเนินการทุกขั้นตอน

และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุล และพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี”


การพัฒนาการดำเนินชีวิตและการทำงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นการพัฒนาซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลาง ที่คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ขณะเดียวกันก็ใช้ความรู้ และคุณธรรมในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน

การน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางปฏิบัติ จึงใช้ได้ทั้งกับตัวบุคคลและครอบครัว หรือการดำเนินงานของกิจการงาน ทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ซึ่งจะส่งผลดีที่มั่นคงยั่งยืน ทำเช่นนี้แหละจึงเป็นวิถีแห่ง “ปฏิบัติบูชา” โดยแท้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 144 ธันวาคม 2555 โดย สุวัฒน์ ทองธนากุล E-mail : suwat@manager.co.th)
กำลังโหลดความคิดเห็น