หลายปีก่อนผู้ชายคนนี้ล้มเหลวจากการทำฟาร์มไก่และเลี้ยงปลา ตามแนวทางทุนนิยมที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งความเสี่ยงย่อมสูงตามไปด้วย และเมื่อเกิดวิกฤตอุทกภัยจึงส่งผลให้เขาเป็นหนี้ถึง 50 ล้านบาท แต่หลังจากที่ได้ฟังพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นเหมือนตะเกียงนำทางให้เขาพบแสงสว่างแห่งวิถีเกษตรทฤษฎีใหม่ที่เน้นการพึ่งพาตนเอง ทำให้วันนี้เขาหลุดพ้นจากปัญหาหนี้สิน พลิกชีวิตกลับมายืนหยัดขึ้นอีกครั้ง และยังมีรายได้เดือนละเป็นแสน
วันนี้ชื่อของ ‘ธงไชย คงคาลัย’ เป็นที่รู้จักในฐานะเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่ท้ารบกับทุนนิยม ด้วยปรัชญาที่ว่า “ศาสตร์พระราชาชนะทุนนิยม ชนะคนทั้งโลก” และใครๆ ก็เรียกเขาว่า ‘อาจารย์ธงไชย’
• หันหลังให้ระบบทุน
หันมาพึ่งพาตนเอง
อาจารย์ธงไชยเล่าให้ฟังถึงช่วงเวลาที่เดินหลงทางอยู่ในวังวนของระบบทุนว่า
“ผมเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วเข้าทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรอยู่ 9 ปี เป็นบริษัทที่เลี้ยงและส่งออกเนื้อไก่ไปต่างประเทศ ทำให้เห็นช่องทางในการทำธุรกิจนี้ ปี 2529 ก็เลยลาออกจากบริษัท มาทำฟาร์มไก่เอง เป็นฟาร์มที่ใหญ่มาก มีไก่เป็นล้านตัว เลี้ยงเองด้วย จ้างเขาเลี้ยงด้วย กระจายอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัด แต่เป็นการเลี้ยงที่เดินตามระบบทุน คือเงินที่ใช้ในการลงทุนส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ อาหารไก่ก็เป็นอาหารเม็ดจากโรงงาน เราเลี้ยงไก่บนบ่อปลาซึ่งทำให้มีรายได้จากปลามาเสริม
แต่พอปี 2534 เจอน้ำท่วมใหญ่ก็เลยเจ๊ง หมดไป 30 ล้าน ผมก็ไปกู้เงินมาลงทุนใหม่อีก 20 ล้าน ปรากฏว่าปี 2538 โดนน้ำท่วมอีก ก็หมดอีก รวมแล้วเป็นหนี้ 50 ล้าน ช่วงนั้นเครียดมาก ไม่รู้จะทำยังไง ก็ไปปรับทุกข์กับหลวงพ่อปัญญา (ปัญญานันทภิกขุ อดีตเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏ์ จ.นนทบุรี) ที่วัดชลประทานฯ เพราะผมเคยบวชอยู่ที่นั่น ท่านก็ให้กำลังใจว่าเป็นลูกศิษย์วัดชลประทานฯห้ามยอมแพ้
ผมก็บอกว่าไม่รู้จะสู้ยังไง เพราะเหลือแต่ที่ดิน แต่ไม่มีทุน ไม่มีเงินซื้อปุ๋ย ซื้อยา ซื้ออาหารสัตว์ ท่านก็บอกว่าความรู้อยู่ในธรรมชาติ ใครค้นเจอก่อนคนนั้นชนะ แล้วเมื่อก่อนคนไทยทำเกษตรก็ไม่เคยใช้ปุ๋ยใช้ยา ไม่ได้เลี้ยงสัตว์ด้วยอาหารเม็ด
ผมก็มีกำลังใจขึ้นมา แล้วพอดีในปี 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ผมฟังแล้วทึ่งมาก เข้าใจเลยว่าที่ผ่านมาเราเดินผิดทาง เพราะมัวพึ่งพาระบบทุน ทั้งที่ประเทศไทยมีทรัพยากรอยู่เต็มไปหมด เราต้องหันมาพึ่งตัวเอง ซึ่งตรงนี้สามารถนำไปใช้ได้กับทุกสาขาอาชีพ
ในด้านของการเกษตรพระองค์ก็ทรงพระราชทานแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ เชื่อไหมผมมีเงินเหลือปีละหลายล้าน ทยอยใช้หนี้มาเรื่อย ตอนนี้เกือบจะหมดแล้ว”
• เคล็ดลับของศาสตร์พระราชา
พระราชดำรัสในครั้งนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์ธงไชยมุ่งศึกษาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างจริงจัง ซึ่งเขาเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ศาสตร์พระราชา’ เนื่องด้วยเป็นความรู้ที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงค้นคิดและพระราชทานแก่คนไทยทุกคน ซึ่งเกษตรทฤษฎีใหม่นั้นจะเน้นเรื่องการทำเกษตรแบบผสมผสาน เลี้ยงสัตว์และปลูกพืชหลากหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน และลดต้นทุน โดยไม่ใช้สารเคมี ทำอาหารสัตว์เอง ทำปุ๋ยจากเศษพืชมูลสัตว์ ทำสมุนไพร่ไล่แมลง
แม้จะจบด้านการเกษตรมาโดยตรง แต่อาจารย์ธงไชย์ก็มิได้ดูแคลนภูมิปัญญาชาวบ้าน เพราะเกษตรกรบางคนนั้นอาจารย์ถึงขั้นยกย่องให้เป็น ‘ปราชญ์ชาวบ้าน’ และก็ไม่เคยหยุดที่จะเรียนรู้โดยศึกษาทั้งจากตำรา ข้อมูลจากเว็บไซต์ และเข้าฝึกอบรมศึกษาดูงานในศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตรในพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำความรู้ต่างๆมาปรับใช้ในที่ดินของตัวเอง
“เศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นเรื่องของการพึ่งพาตัวเองทั้ง 5 ด้าน คือ ด้านทรัพยากร ด้านการผลิต ด้านเทคโนโลยี ด้านสังคม และด้านจิตใจ อะไรที่ทำเองได้ก็ทำ ไม่ต้องซื้อหา แล้วเราก็เอาเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ามาจับ เปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวซึ่งปลูกพืชอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว มาปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานในพื้นที่เดียวกันโดยไม่พึ่งพาสารเคมี
เรานำศาสตร์พระราชาเรื่องป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างมาประยุกต์ใช้ กลายเป็นการปลูกพืช 7 ระดับ ซึ่งได้แก่ 1.ไม้ชั้นบน ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง อายุการปลูกยาวนาน 2.ไม้ชั้นกลาง เป็นไม้ใช้งาน ใช้เวลาการปลูกไม่กี่ปี 3.ไม้ชั้นล่าง เป็นพวกผลไม้ 4.ไม้หน้าดิน เป็นพืชผักสวนครัวและสมุนไพร 5.ไม้หัว ซึ่งเป็นพืชหน้าดิน 6.ไม้เถา จำพวกพืชเกาะเกี่ยว 7.ไม้น้ำ อย่างผักบุ้ง สายบัว
เหมือนกับเรามีโรงงานย่อยๆอยู่ในบ้าน ทั้งโรงงานผลิตอาหารคน โรงงานอาหารสัตว์ โรงงานปุ๋ยอินทรีย์ โรงงานยาสมุนไพร โรงงานพลังงานสีเขียว เป็นการเกษตรที่แทบจะไม่มีต้นทุนเลย ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 10 กว่าเปอร์เซนต์ เท่านั้นเอง ที่เหลือเป็นกำไรล้วนๆ
ที่สำคัญเรายังทำตลาดเอง โดยเน้นขายตามตลาดนัดซึ่งทำให้สินค้าถึงมือผู้บริโภคโดยตรง เกษตรกรสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น ขณะที่คนซื้อสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาที่ถูกลง เพราะไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ถ้าขายไม่หมดก็ยังนำกลับมาแปรรูปเป็นสินค้าตัวใหม่ได้อีก
เกษตรทฤษฎีใหม่นั้นนอกจากจะทำให้เรามีความมั่นคงทางอาหาร มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้เราสามารถอยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุข สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง และทำให้เกษตรกรมีความภาคภูมิใจในตัวเอง ภูมิความรู้ชุดนี้เป็นภูมิความรู้ของสยามประเทศ ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าภูมิความรู้ของฝรั่ง” อาจารย์ธงไชยเผยถึงเคล็ดลับของศาสตร์พระราชา
• เปิดศูนย์การเรียนรู้ ตอบแทนสังคม
ไม่เพียงแต่นำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ มาใช้กับตนเองและครอบครัวเท่านั้น แต่ปัจจุบันอาจารย์ธงไชยยังมุ่งมั่นที่จะเผยแพร่ความรู้และเดินหน้าขยายแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป
โดยนอกจากจะเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ และสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างศูนย์การเกษตรในพื้นที่ต่างๆแล้ว อาจารย์ธงไชยยังเปิด ‘ศูนย์การเรียนรู้เกษตรสมดุลสวนธงไชย-ไร่ทักสม’ เพื่อให้ผู้สนใจสามารถเข้าไปศึกษาดูงานแบบเช้าไปเย็นกลับ หรือจะเข้าคอร์สฝึกอบรมแต่ละเรื่องโดยเฉพาะ เพื่อจะได้ลงมือปฏิบัติจริง โดยทางศูนย์มีที่พักไว้รองรับผู้เข้าอบรมได้ถึง 100 คน
หลักสูตรการฝึกอบรมนั้นแบ่งเป็น 7 หมวดใหญ่ๆ คือ 1.เกษตรพึ่งตนเองโดยใช้ทรัพยากรชีวภาพ 2.การทำอาหาร เครื่องดื่ม และขนม 3.การผลิตของใช้อุปโภคในครัวเรือน 4.เรื่องสมุนไพรและสุขภาพ 5.พลังงานทดแทนและแก๊สชีวภาพ 6.การตลาดและการค้า 7.การสร้างฐานชุมชนเข้มแข็ง
นอกจากนั้นยังมีการอบรมเรื่องการนำธรรมะในพุทธศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งต่างจากศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรทั่วไปด้วยอีกด้วย
“คือผมเคยเดินหลงทางมาแล้ว เป็นหนี้เป็นสินแทบหมดเนื้อหมดตัว วันนี้ผมฟื้นขึ้นมาได้เพราะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมก็อยากจะนำความรู้ที่ได้มาขยายต่อ อยากให้เกษตรไทยเลิกเป็นหนี้ สามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้ เราจะมีเครือข่ายภาคประชาชนที่เข้มแข็ง
ที่ผ่านมาเราหลงเชื่อฝรั่ง ทำเกษตรแบบซื้อปุ๋ยซื้อยา ซื้อทุกอย่าง ทั้งที่ฝรั่งเขาอยู่คนละทวีปกับเรา ไปเชื่อเขาได้อย่างไร บ้านเมืองเขามีแต่หิมะ ไม่มีทรัพยากร ผลิตอะไรก็ไม่ได้ เลยต้องซื้อทุกอย่าง แต่ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์มาก มีทรัพยากรเต็มไปหมด สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ย เป็นยา เป็นอาหารสัตว์ แต่เราไม่ได้นำมาใช้
ฝรั่งเขาผลิตปุ๋ยเคมี ผลิตยาฆ่าแมลงขาย เขาก็เอาข้อมูลทางวิชาการมาใส่หัวเรา ว่าใช้ปุ๋ยใช้ยาอย่างนี้ถึงจะดี เราก็หลงเชื่อ ฝรั่งเขาเป็นนักล่า ล่าด้วยปืนไม่ได้ ก็ล่าด้วยข้อมูลเชิงวิชาการที่ปั้นขึ้น เราหลงกลทุนนิยม ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ ต้องขายที่ขายทาง แต่ถ้าเราเดินตามแนวทางของพระราชา เกษตรกรบ้านเราจะเป็นเกษตรกรที่ร่ำรวยที่สุดในโลก
การเปิดศูนย์ฝึกอบรมและเดินสายให้ความรู้ของผม ไม่ได้เป็นแค่ผู้ให้เท่านั้น แต่ยังได้แลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ๆจากชาวบ้านที่เข้ามาฟังด้วย อย่างการทำน้ำมันมะพร้าวใสๆ ที่ขายกันขวดเล็กๆราคาเป็นร้อย โดยวิธีการที่เรียกว่าการกลั่นเย็น เดิมทีผมสอนให้ชาวบ้านเอาหัวกะทิใส่ขวดโหล เขย่าแล้วทิ้งไว้ ให้ไขมันแยกตัวจากกันเป็น 3 ชั้น ชั้นบนเป็นฝ้าไขมันมะพร้าวที่เอาไปทำน้ำมันพืช ชั้นกลางเป็นน้ำมันมะพร้าวใสๆที่ใช้กินหรือทาบำรุงผิว ชั้นล่างเป็นน้ำมันขุ่นเอาไปหมักทำน้ำส้มสายชู
แต่ชาวบ้านเขาไม่มีขวดโหล กลับไปบ้านเขาเลยใช้ถุงพลาสติกแทน ซึ่งมันง่ายกว่ากันมาก เพราะพอไขมันแยกชั้นแล้วเราสามารถใช้เข็มเจาะให้น้ำมันไหลแต่ละชั้นออกมาได้เลย โดยไม่ปนกัน เขาก็กลับมาบอกผม ผมก็เอาความรู้ที่ได้จากชาวบ้านไปสอนผู้เข้าอบรมต่อ คนที่มาเรียนเขาก็บอกว่า โห...มันมหัศจรรย์มาก เราสามารถทำน้ำมันมะพร้าวด้วยวิธีง่ายๆขนาดนี้เลยเหรอ (หัวเราะ) นี่ถือเป็นปราชญ์ชาวบ้านเลยนะ” อาจารย์ธงไชยเล่าถึงผลตอบแทนที่เขาได้จากการจัดฝึกอบรม ซึ่งถือว่ามีค่ามากกว่าตัวเงินหลายเท่านัก
• ปลูกไม้บำนาญ ประกันรายได้ไร่ละ 16 ล้าน
อาจารย์ธงไชยบอกว่าการทำเกษตรโดยยึด ‘ศาสตร์พระราชา’ นั้น ไม่เพียงแต่ทำให้มีอยู่มีกิน ปลดเปลื้องหนี้สิน และมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างความร่ำรวยและเก็บออมเป็นบำเหน็จบำนาญในอนาคตได้ด้วย โดยวิธีง่ายๆก็คือการปลูกไม้ 4 ระดับ (แบ่งตามมูลค่าของเนื้อไม้) บนเนื้อที่เพียง 1 ไร่ ให้ได้ 1,600 ต้น เมื่อต้นไม้มีอายุครบ 15-20 ปี ก็จะมีรายได้จากธนาคารต้นไม่ถึงไร่ละ 16 ล้านบาท
“ขณะที่เราทำการเกษตรผสมผสาน ซึ่งจะมีรายได้เข้ามาทุกวันแล้ว ยังสามารถสร้างหลักประกันให้ชีวิตด้วยการทำธนาคารต้นไม้ คือปลูกไม้เนื้อแข็งที่สามารถตัดขายได้ในอนาคต 4 ระดับ คือ กลุ่มแรกเป็นไม้ที่โตเร็ว รอบการตัดสั้น มูลค่าเนื้อไม้ต่ำ เช่น กระถินเทพณรงค์ สะเดาไทย สนประดิพัทธ์ มะฮอกกานี คุณภาพของเนื้อไม้ต่ำ แมลงกัดเจาะได้ง่าย จึงนิยมนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ ก่อสร้าง และใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิง กลุ่มที่ 2 เป็นต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบการตัดยาว มูลค่าเนื้อไม้ค่อนข้างสูง เช่น ประดู่ ยางนา ไม้แดง ตะเคียนทอง ลักษณะเนื้อไม้ใสกบตบแต่งยาก การนำไปใช้งานจึงค่อนข้างจำกัด นิยมนำไปใช้ในอุตสาหกรรมไม้แปรรูป การก่อสร้าง และทำเฟอร์นิเจอร์
กลุ่มที่ 3 เป็นต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบการตัดยาว มูลค่าเนื้อไม้สูง เช่น ไม้สัก มะปิน เนื้อไม้มีลักษณะสวยงาม แข็งแรง ทนทาน สามารถใช้ในอุตสาหกรรมไม้แปรรูป ก่อสร้าง และเฟอร์นิเจอร์ชั้นสูง เป็นที่ต้องการทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ และกลุ่มที่ 4 เป็นไม้ที่มีอัตราการเติบโตช้า รอบการตัดยาว และมูลค่าเนื้อไม้สูงมาก เช่น ไม้พะยูง ชิงชัน จันทร์หอม มะค่าโมง เนื้อไม้มีความสวยงาม มูลค่าเนื้อไม้สูงมาก เมื่อไม้มีขนาดใหญ่ นิยมนำไปใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และเฟอร์นิเจอร์ชั้นสูง ซึ่งไม้แต่ละต้นนั้นมีมูลค่าตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักหมื่น ขึ้นอยู่กับชนิดและอายุของต้นไม้ ข้อดีคือไม่ต้องบำรุงรักษามาก ปลูกทิ้งไว้ ถึงเวลาก็ตัดขายได้ เป็นการสร้างหลักประกันรายได้ในอนาคต”
ทุกวันนี้อาจารย์ธงไชยมีความสุขใจที่ได้เผยแพร่ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ให้แตกแขนงกว้างไกลออกไป เพราะเชื่อว่าความรู้เหล่านี้จะสามารถพลิกชีวิตของเกษตรไทย ให้พ้นจากความยากจน และสามารถใช้การเกษตรเป็นรากฐานในการสร้างความมั่นคงให้ชีวิตได้ ดังเช่นที่เขาได้ประสบมาแล้ว
“ในหลวงไม่ได้ทรงจับปลาให้แก่ประชาชน เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน แต่พระองค์ทรงสอนให้เราจับปลา คือทรงแนะวิธีพึ่งพาตนเองให้แก่พวกเรา ให้เรารู้จักนำทรัพยากรมาใช้อย่างคุ้มค่า ศาสตร์พระราชาจึงเป็นศาสตร์ที่ทำให้เราชนะทุนนิยม ชนะคนทั้งโลก” อาจารย์ธงไชยกล่าวตบท้าย
ศูนย์การเรียนรู้เกษตรสมดุลและการพึ่งพาตนเอง “สวนธงไชย-ไร่ทักสม”
7 ม.3 ต.ทรายมูล อ.องครักษ์ จ.นครนายก 26120 โทร. 08-9776-6989 , 08-9110-5705
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 144 ธันวาคม 2555 โดย กฤตสอร)