พุทธศักราช 2555 ทั้งปี พุทธศาสนิกชนในประเทศไทย มีการ “ฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า” เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา
ความหมายแห่ง พุทธชยันตี ก็คือชัยชนะและอิสรภาพที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีต่อหมู่มารและกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง เพราะทรงตรัสรู้ในวันวิสาขบูชา เมื่อ 2600 ปีที่ผ่านมา และเป็นจุดเริ่มต้นของคำสอนในพระพุทธศาสนา ทำให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีพระธรรมเป็นแนวทางดำเนินชีวิต
ท่าน ว.วชิรเมธี ได้เขียนหนังสือเล่มบางออกเผยแพร่ในวาระสำคัญดังกล่าวด้วยชื่อปกว่า “อริยสัจ TODAY : พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ทำไมจึงสำคัญนัก” โดยตั้งใจที่จะสื่อกับคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ ด้วยเนื้อหากระชับอ่านเข้าใจง่าย
จะว่าไปแล้วคนไทยที่เป็นชาวพุทธย่อมรับรู้ว่า “อริยสัจ 4” เป็นหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ซึ่งมีความสำคัญระดับหัวใจของพระพุทธศาสนาที่เน้นเรื่องความทุกข์และการดับทุกข์ด้วยการดับที่เหตุ
การเฉลิมฉลอง “พุทธชยันตี” น่าจะมีส่วนกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของหลัก “อริยสัจ 4” ซึ่งท่าน ว.วชิรเมธี ชี้ว่า ชาวพุทธควรนำหลักธรรมคำสอนมาปฏิบัติจนเห็นผลดีด้วยตนเอง
ดังที่พระพุทธองค์ทรงยกย่อง “ปฏิบัติบูชา” โดยให้พุทธสาวกเพียรศึกษาและปฏิบัติธรรม
ท่าน ว.วชิรเมธี ยังแนะนำให้ “ปลูกฝังวิธีคิดแบบอริยสัจ” มาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาชีวิต ก็คือการ “ดับทุกข์” ในชีวิตที่อยู่ในสังคมโลกนี่แหละ
กระบวนการคิดแก้ปัญหาตามแนวอริยสัจ ทั้ง 4 ขั้นตอน ได้แก่
1. ทุกข์ = ปัญหาคืออะไร (What)
2. สมุทัย = สาเหตุเกิดจากอะไร (Why)
3. นิโรธ = ทางออกคืออะไร (Solution)
4. มรรค = แนวปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา (How-to)
ผมเข้าใจว่า ทุกข์ ในหลักธรรมนี้หมายถึง โจทย์ที่ต้องแก้ อาจเป็นเรื่องทุกข์ร้อนที่สร้างความไม่สบายกายไม่สบายใจ หรือเป็นประเด็นปัญหาที่ต้องแก้ไขตอบโจทย์ก็ตาม
การรู้จักจำแนกชัดว่า “ทุกข์” หรือ ปัญหาคืออะไร ก็เสมือนได้ภาพจากเครื่องเอกซ์เรย์ ที่เห็นชัดถึงสภาวะที่เป็นอยู่ จากนั้นเมื่อมีการวิเคราะห์สาเหตุ ที่ทำให้เกิดปัญหา คือ “สมุทัย” (นั่นเป็น 2 ส่วนแรกตามแนวอริยสัจ 4)
2 ส่วนหลัง เริ่มที่เป็นทางออก หรือ “นิโรธ” ถ้า “ทุกข์ดับ” เช่นที่เคยเจ็บปวด กลายเป็น “หายปวด” ย่อมเป็นสิ่งชัดเจน ตรงข้ามกับทุกข์ หากต้องการดับทุกข์ หรือ หมดปัญหา ก็ต้องใช้แนวทางของ “มรรค” ซึ่งมีองค์ประกอบ 8 ประการ คือ
1. สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ คือเห็นความจริงที่ถูกต้อง
2. สัมมาสังกัปปะ คิดชอบ คือไม่คิดร้าย คิดในทางไม่เบียดเบียน
3. สัมมาวาจา พูดชอบ คือไม่พูดเท็จ ไม่พูดให้ร้ายคน
4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือไม่ทำผิดศีลธรรม
5. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ คือดำรงชีพอย่างสุจริต
6. สัมมาวายามะ ไม่ทำบาป ทำดี และรักษาความดีไว้
7. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือระลึกรู้อยู่กับปัจจุบัน
8. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่ ญาณ 4
อันที่จริงเราชาวพุทธที่ได้เรียน หรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ย่อมท่องจำหลักอริยสัจ 4 ได้ดี ส่วนจะให้ลึกซึ้งจนบรรลุธรรมระดับใดย่อมแล้วแต่ปัญญาและสภาวธรรมที่เห็นผลจากการปฏิบัติจริงที่ประจักษ์ด้วยตนเองแต่ละคน แต่ที่น่าสนใจยิ่งก็คือ นำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาชีวิตและการงานได้แน่นอน
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 139 กรกฎาคม 2555 โดย สุวัฒน์ ทองธนากุล E-mail : suwat@manager.co.th)