xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมาภิวัตน์ : "อชันตา" ภาพสะท้อนของพุทธศาสนาในอินเดีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มีท่านหนึ่งโทรศัทพ์มาถามเรื่องโปรแกรมท่องเที่ยว ท่องธรรม ณ อินเดีย-เนปาล ซึ่งโครงการธรรมาภิวัตน์ จัดเป็นประจำทุกปี ถามเรื่องถ้ำอชันตา-ถ้ำเอลโลร่า ตามที่ได้ยินในโฆษณา ว่าเป็นอย่างไร ผมจึงได้อธิบายให้ฟัง ปลายสายแสดงน้ำเสียงตกใจเล็กน้อย เมื่อบอกว่า "เที่ยวกันถ้ำละวันเต็มๆ!!”

จะไม่ให้ตกใจได้อย่างไรครับ เพราะภายในถ้ำอชันตา ซึ่งที่ถูกต้องเรียกว่า "กลุ่มถ้ำ" (Ajanta Caves) มีถ้ำเรียงกันรวม 30 ถ้ำ ล้วนมีความใหญ่โต อลังการ มีงานประติมากรรม จิตรกรรม อันล้ำค่า เชื่อมโยงกับศาสนา และมีมาตั้งแต่สมัยต้นพุทธกาล เดินชมกันทั้งวันก็ยังเกรงว่าจะไปได้ไม่ครบทุกถ้ำ

อชันตาเป็นชื่อหมู่บ้านแห่งหนึ่งของเมืองออรังคบาด รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย ส่วนกลุ่มถ้ำอชันตาตั้งอยู่คุ้งแม่น้ำวโกระ สูงจากระดับแม่น้ำประมาณ 75 เมตร สมัยอดีตต้องใช้เรือจากถ้ำหนึ่งไปอีกถ้ำหนึ่ง ไม่ได้เดินทางสะดวกเหมือนปัจจุบัน

สันนิษฐานว่าพระสงฆ์เลือกถ้ำแห่งนี้เป็นที่พำนัก เนื่องจากเป็นสถานที่ที่สงบเงียบ จนกระทั่งกองทัพมุสลิมเข้ามายึดอินเดีย ถ้ำอชันตาก็หายไปจากความทรงจำของผู้คน ถูกทิ้งร้างกลายเป็นป่ารกชัฏปกคลุมถึง 800 ปี!! ต่อมาในปี พ.ศ.2362 ได้มีทหารอังกฤษ ชื่อจอห์น สมิธ ออกล่าสัตว์ในเขตนั้น และได้วิ่งตามกวางที่หนีเข้าไปในถ้ำ จึงได้พบถ้ำอชันตา ซึ่งได้กลายมาเป็นสิ่งมหัศจรรย์ และต่อมาได้รับการประกาศจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกในปี พ.ศ.2526

กลุ่มถ้ำอชันตาสันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นในช่วงก่อนคริสตศักราชประมาณ 200ปี คือระหว่างปีพ.ศ.350-400 มาสิ้นสุดปีพ.ศ.1200 รวมเวลาการก่อสร้างราว 850 ปี เมื่อพุทธศาสนาได้แผ่ขยายครอบคลุมอินเดียทั้งเหนือและใต้ คณะสงฆ์อินเดียภาคตะวันตกเฉียงใต้ก็เริ่มสร้างวัดคูหาขึ้น เรียกว่า ถ้ำอชันตา โดยการเจาะภูเขาไปสร้างเป็นวัดและวิหาร เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและปฏิบัติธรรม บางถ้ำมีถึงสามชั้น มีทางเดินเชื่อมถึงกันตลอด

การอยู่อาศัยในถ้ำของพระ เป็นไปตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติเพิ่มเติมไว้ คือเสนาสนะที่พระจะอาศัยอยู่ได้เป็นส่วนอดิเรกหรือส่วนพิเศษเพิ่มเติมนั้น ได้แก่ วิหาโร(กุฏิ), อฑฺฒโยโค(เรือนมุงครึ่งเดียว), ปาสาโท(เรือนชั้น), หมฺมิยํ(เรือนโล้น) และคุหา(ถ้ำ) ซึ่งถ้ำนี่แหละครับ ที่สามารถนำไปเชื่อมโยงเข้ากับการเกิดขึ้นและมีอยู่ของถ้ำอชันตากับพุทธศาสนาได้ เนื่องจากผู้คนและพระภิกษุในย่านนั้นบางคนเป็นช่างแกะสลักมาก่อน เมื่อมีความคิดสร้างสรรค์ มีกำลัง มีความสามารถ และที่สำคัญคือมีศรัทธา จึงรังสรรค์ถ้ำที่มีความวิจิตรงดงามและทรงคุณค่าขึ้นมา

ความจริงการเจาะภูเขาสร้างเป็นวัดนั้น มิใช่มีเฉพาะกลุ่มถ้ำอชันตาเท่านั้น ใกล้ๆกันยังมีกลุ่มถ้ำเอลโลร่า ซึ่งมีความน่าสนใจที่แตกต่างจากอชันตา คือมีถ้ำถึง 3 ศาสนา ทั้งพุทธ ฮินดู และเชน ในขณะที่อชันตาเป็นถ้ำพุทธศาสนาล้วนๆ แบ่งเป็นถ้ำหินยาน 6 ถ้ำ อีก 24 ถ้ำเป็นฝ่ายมหายาน

บันทึกในหนังสือชื่อ Ajanta & Ellora : Cave of Ancient India โดย Abdul Nasir Almohammadi กล่าวไว้ว่า “อชันตามีถ้ำที่เป็นเจดีย์เป็นวิหารหรือวัดห้าแห่ง ได้แก่ถ้ำหมายเลข 8-9-10-12-13 ซึ่งเป็นถ้ำในยุคแรกๆ ของพระพุทธศาสนาในฝ่ายหินยาน หากดูตามแผนผัง ถ้ำเหล่านี้จะอยู่ช่วงกลางภูเขา ต่อมาในยุคหลังเมื่อพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเข้ามา จึงได้สร้างขยายออกทั้งสองข้าง จนกลายเป็นถ้ำที่สำคัญของพระพุทธศาสนาจำนวน 30 ถ้ำ แต่บางตำราบอกว่ามีเพียง 29 ถ้ำ"

สอดคล้องกับข้อมูลในหนังสือ "จาริกบุญ จารึกธรรม" โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่กล่าวถึงถ้ำฝ่ายหินยานหมายเลข 30 ซึ่งเป็นถ้ำที่เก่าแก่ที่สุด แต่ไม่อาจไปถึงได้ เนื่องจากไม่มีทางขึ้นไป

พระพรหมคุณาภรณ์ยังได้เขียนต่อมาอีกเล็กน้อยถึงประวัติศาสตร์ของอินเดียภายใต้การค้นพบของอังกฤษในช่วงที่อินเดียตกเป็นเมืองขึ้น สะท้อนความอ่อนด้อยเชิงวิชาการในการศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม มานุษยวิทยา และโบราณคดีของอินเดีย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา

การค้นพบหมู่ถ้ำอชันตาในครั้งนั้น ทำให้โลกต้องตื่นตะลึงกับความมหัศจรรย์ของศิลปะวัดถ้ำ ขณะเดียวกันก็ทำให้นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวของพุทธศาสนาในอินเดียได้อย่างชัดเจนเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ด้วยการศึกษาจากภาพวาดและรูปแกะสลักหินที่สลักขึ้นจากภูเขาทั้งลูกและยังคงสภาพดีอยู่

ในจำนวน 30 ถ้ำนั้น 5 ถ้ำเป็นการแกะสลักองค์เจดีย์และอีก 25 ถ้ำจะเป็นวิหารและที่พักสงฆ์ ภายในถ้ำจะมีลักษณะคล้ายกัน คือ เจาะถ้ำเป็นห้องและมีแท่นหินแกะเป็นรูปพระพุทธเจ้าในปางต่างๆ เด่นสง่าอยู่ภายใน และรอบห้องมีเสาเรียงราย บริเวณฝาผนังแกะสลักเป็นพระพุทธรูปในปางต่างๆ เช่นกัน หรือเล่าเรื่องตามพระไตรปิฎก ส่วนลักษณะเพดานมีการแกะหินเหมือนท้องเรือ เสาทุกต้นจะมีการแกะสลักเทวดานางฟ้า ส่วนรอบห้องแกะสักหินเป็นพระพุทธรูปปางต่างๆ

ส่วนถ้ำอีกแบบคือ มีการเจาะเข้าไปเป็นห้องโถงใหญ่ และตรงกลางห้องในสุดมีการเจาะห้องเข้าไปอีกเป็นห้องเล็กๆ ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ตรงโถงด้านนอกมีภาพวาดสี ซึ่งค่อนข้างเลือนลางมากแล้ว (การถ่ายรูปภายในถ้ำไม่อนุญาตให้ใช้แสงแฟลช นัยว่าจะสร้างความเสียหายให้กับภาพได้) และมีการเจาะแบ่งห้องเข้าไปในผนังอีกเป็นห้องเล็กๆ เข้าใจว่าสำหรับพระภิกษุเพื่อเจริญสมาธิ หรือเป็นเสนาสนะของพระภิกษุ

มีการตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการด้านศิลปะว่า หลังจากการเจาะถ้ำและสลักให้แผ่นหินทั้งถ้ำเรียบได้ฉากเสมอกัน ไม่มีรอยนูน ความขุระแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็เป็นงานจิตรกรรม ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ สันนิษฐานว่าเหตุที่ภาพวาดยังคงงดงามจนถึงปัจจุบัน เพราะเทคนิคที่ใช้คือการเอาขี้วัวขี้ควายผสมยาไม้และเส้นฟางสับให้ละเอียดผสมกัน และยาทับหนาประมาณ 1 นิ้วลงบนผนังหิน หรือเสาหินภายในถ้ำก่อนวาดสี หลังจากแห้งแล้วจึงค่อยลงสี ซึ่งทำให้สีอยู่คงทนกว่าการวาดลงไปบนแผ่นหินโดยไม่อะไรเชื่อมระหว่างเม็ดสีกับเนื้อหิน

หากดูตามประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาที่ค้นพบจากถ้ำอชันตานั้น อธิบายได้ว่า ในยุคแรกพุทธศาสนานิกายเถรวาทเจริญรุ่งเรืองมากในอินเดีย สังเกตได้จากถ้ำทั้ง 6 ที่ดำเนินการสร้างเป็นระยะเวลาประมาณ 200 ปีเท่านั้นแล้วก็ขาดช่วงไป ต่อมาพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเข้ามามีอำนาจ จึงได้สร้างต่ออีก 24 ถ้ำ

แสดงว่าพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเจริญรุ่งเรืองได้ประมาณ 700 ร้อยปี ก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากอินเดีย พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็เฉกเช่นเดียวกัน เจริญในอินเดียได้ราว 1,000-1,200 ปี และในที่สุดก็หายสาบสูญไป ซึ่งเป็นยุคที่พุทธศาสนาในอินเดียเริ่มเสื่อมลง

คงเหลือไว้แต่ถ้ำที่หลบซ่อนอยู่ภายใต้ภูเขา และยังคงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไปถึงการกำหนดความสัมพันธ์ต่อกันของหินยาน (เถรวาท) อันนำไปสู่การศึกษาเรื่องการมีอยู่ของหินยานกับมหายานในอินเดีย ซึ่งจะได้เขียนถึงในโอกาสต่อไป

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 144 ธันวาคม 2555 โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV)



กำลังโหลดความคิดเห็น