คนเราจะทำกิจกรรมอะไร ก็ต้องมีแรงจูงใจ เมื่อมาทำงาน เราก็ต้องมีแรงจูงใจให้มาทำงาน แรงจูงใจจึงเป็นหลักใหญ่ในการแบ่งประเภทของการทำงาน แรงจูงใจนั้นมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกัน
แรงจูงใจด้านหนึ่ง ที่เป็นหลักใหญ่ๆ คือความต้องการผลตอบแทน ต้องการผลประโยชน์ ต้องการเงินทองอันนี้เป็นแรงจูงใจที่มุ่งเข้าหาตัวเอง เป็นความปรารถนาส่วนตัวหรือเห็นแก่ตัว ทางพระท่านเรียกว่า แรงจูงใจแบบตัณหา
ทีนี้ ต่อจากตัณหายังมีอีก เราต้องการความสำเร็จ แต่ความสำเร็จนั้นเป็นความสำเร็จของตัวเรา โดยเฉพาะความสำเร็จของตัวเรา ในรูปของความยิ่งใหญ่ ในรูปของการได้ตำแหน่งได้ฐานะเป็นต้น อันนั้นก็เป็นแรงจูงใจในแง่ของตัวเองเหมือนกัน คือต้องการผลประโยชน์ตอบแทนส่วนตัว ในรูปของความสำคัญของตนเอง ความโดดเด่น เช่น มีตำแหน่งใหญ่โต มีฐานะสูงขึ้นเรียกว่า แรงจูงใจแบบมานะ
มานะนั้นทางพระแปลว่า ถือตัวสำคัญ คือความอยากให้ตนเองเป็นผู้โดดเด่น มีความสำคัญ หรือยิ่งใหญ่ ไม่ใช่ “มานะ” ในความหมายของภาษาไทยว่าความเพียรพยายาม
ตกลงว่า แรงจูงใจสำคัญด้านที่หนึ่งนี้ เป็นเรื่องของตัณหาและมานะ ซึ่งสำหรับมนุษย์ปุถุชน ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมี แต่จะทำอย่างไรให้ประณีต เช่นว่าความต้องการผลตอบแทนในขั้นธรรมดาของมนุษย์ ก็ขอให้อยู่ในขอบเขตเพียงว่า สำหรับให้เป็นอยู่ด้วยความสะดวกสบายพอสมควรในโลกนี้ หรือเป็นอยู่ดี ไม่ถึงกับขัดสนในปัจจัย 4
หรือ “มานะ” ก็อาจมาในรูปของความภูมิใจในความสำเร็จของงาน คือเอาความสำเร็จมาโยงกับงาน ไม่ใช่เป็นเพียงความสำเร็จเพื่อความยิ่งใหญ่ของตน ถ้าหากว่าความสำเร็จไปโยงกับตัวงาน มันก็ยังเป็นเรื่องของความดีงามได้
เรื่องอย่างนี้ทางพระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธ ท่านยอมรับความจริงของปุถุชน แต่ทำอย่างไรจะให้โยงเข้าไปหาแรงจูงใจที่เห็นธรรมให้มากขึ้น
ทีนี้ แรงจูงใจพวกที่สอง ก็คือแรงจูงใจ เช่นอย่างศรัทธาที่มีต่องานที่มีคุณค่า เป็นแรงจูงใจที่ต้องการให้ความดีงามเกิดมีหรือปรากฏขึ้น ความต้องการความดีงามต้องการความจริง ต้องการสิ่งที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์ อะไรต่างๆเหล่านี้ เป็นแรงจูงใจที่ท่านเรียกด้วยคำศัพท์ทางธรรมอีกคำหนึ่งว่า “ฉันทะ” เช่น คนทำงานด้วยความต้องการให้เกิดความสงบสุข ความเรียบร้อย ความเป็นระเบียบของสังคม
ถ้าทำงานเป็นแพทย์ หรือทำงานเกี่ยวกับโภชนาการ ก็อยากให้มนุษย์ในสังคมนี้เป็นคนมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรงอยากให้มีแต่อาหารที่มีคุณค่าแพร่หลายออกไปในสังคมนี้ แรงจูงใจหรือความปรารถนาอย่างนี้ ท่านเรียกว่าเป็นแรงจูงใจแบบฉันทะ
แรงจูงใจนี้สำคัญมาก ถ้ามองอีกแง่หนึ่งจะเห็นว่า แรงจูงใจนี้สัมพันธ์กับสัมฤทธิผลหรือจุดหมาย ซึ่งอาจแบ่งได้เป็นจุดหมายของคน กับ จุดหมายของงาน
แรงจูงใจแบบที่หนึ่ง ที่ต้องการผลตอบแทนเป็นเงินเป็นทอง ต้องการเกียรติฐานะความยิ่งใหญ่นั้น โยงไปหาจุดหมายของคนที่ทำงาน ส่วนแรงจูงใจแบบที่สองจะมุ่งตรงไปยังจุดหมายของงาน
ตามธรรมดาไม่ว่าเราจะทำงานอะไร งานนั้นย่อมมีจุดหมาย เช่นว่า แพทย์ก็มีจุดหมายที่จะบำบัดโรค ทำให้คนไข้หายโรค ให้คนมีสุขภาพดี ตัวงานนั้นมีความมุ่งหมายที่ชัดเจนและตรงไปตรงมา ถ้าเราทำงานให้การศึกษา เราก็ต้องการผลที่เป็นจุดมุ่งหมายของการศึกษา จุดมุ่งหมายของงานในการให้การศึกษาก็คือ การที่เด็กและเยาวชนเป็นคนดี มีความรู้มีความประพฤติดี รู้จักดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องได้พัฒนาตนเองยิ่งขึ้นไป
งานทุกอย่างมีจุดหมายของมันแต่คนที่ไปทำงานก็มีจุดหมายของตัวเองด้วย ทีนี้ปัญญาก็อยู่ที่ว่า เมื่อเขาไปทำงานนั้น เขาจะทำงานเพื่อจุดหมายของคนหรือทำงานเพื่อจุดหมายของงาน
ถ้าเขาทำงานด้วยแรงจูงใจแบบที่หนึ่ง จุดหมายที่อยู่ในใจของเขาก็จะเป็นจุดหมายของคน คือทำงานเพื่อจุดหมายของคน ให้ตนได้นั่นได้นี่ แต่ถ้าเขาทำงานด้วยแรงจูงใจแบบที่สอง เขาก็จะทำงานเพื่อจุดหมายของงาน ให้งานเกิดผลเป็นประโยชน์ตามคุณค่าของมัน
ทีนี้ในการที่เป็นปุถุชน เมื่อยังมีกิเลส ก็ต้องประสานประโยชน์ คือต้องให้จุดหมายของคนไปสัมพันธ์เชื่อมโยงกับจุดหมายของงาน หมายความว่า ต้องให้ได้จุดหมายของงานเป็นหลักไว้ก่อน แล้วจึงมาเป็นจุดหมายของคนทีหลัง คือให้จุดหมายของคนพลอยพ่วงต่อมากับจุดหมายของงาน
ถ้าเอาจุดหมายของคนแล้ว บางทีงานไม่สำเร็จ จะเสียงานด้วย คือคนนั้นมุ่งแต่จุดหมายของคนอย่างเดียว จะเอาแต่ตัวได้เงินได้ทอง ไม่ได้ต้องการให้งานสำเร็จ ไม่ได้ต้องการเห็นผลดีที่จะเกิดจากงานนั้น ไม่ได้มีความคิดที่จะเอาธุระ หรือเห็นความสำคัญเกี่ยวกับตัวงาน เพราะฉะนั้น จึงพยายามเลี่ยงงาน หรือหาทางลัดที่จะไม่ต้องทำงาน ขอให้ได้เงินหรือผลตอบแทนมาก็แล้วกัน
ตกลงว่า แรงจูงใจแบบหนึ่ง เป็นเรื่องสัมพันธ์กับจุดหมายของคน และแรงจูงใจอีกแบบหนึ่ง เป็นแรงจูงใจที่สัมพันธ์กับจุดหมายของงาน ซึ่งจะเห็นได้ว่า เมื่อทำงานไปแล้ว ได้ผลสำเร็จขึ้นมา จะเป็นผลสำเร็จของคนหรือเป็นผลสำเร็จของงานถ้าจะทำงานให้ถูกต้อง ก็ต้องมองไปที่ผลสำเร็จของงาน ไม่ใช่มุ่งเอาแค่ผลสำเร็จของคน ถ้าจะเป็นผลสำเร็จของคน ก็เพราะว่าเป็นผลสำเร็จของงานส่งทอดมาอีกต่อหนึ่ง
คนจำนวนไม่น้อยหวังแต่ผลสำเร็จหรือผลประโยชน์ของคนอย่างเดียว ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประเทศชาติ แล้วการแก้ปัญหาของสังคมก็ยากที่จะบรรลุความสำเร็จ และจะส่งผลต่อไปถึงสภาพจิตใจ
ดังที่ได้พูดมาแล้วว่า สภาพจิตใจกับการทำงาน ส่งผลย้อนกลับกันไปมาคือสภาพจิตใจที่ดีส่งผลต่อการทำงานให้ทำงานได้ดี แล้วการทำงานได้ดีมีผลสำเร็จ ก็ส่งผลย้อนกลับไปหาสภาพจิตใจ ทำให้มีกำลังใจ เป็นต้น อีกทีหนึ่ง เช่นเรื่องสภาพจิตใจในด้านแรงจูงใจ กับการมุ่งวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายของคนหรือของงาน ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพจิตใจของคนให้เป็นไปต่าง ๆ กัน
(ส่วนหนึ่งจากหนังสือชีวิตนี้เพื่องานงานนี้เพื่อธรรม)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 140 สิงหาคม 2555 โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม)