หลักคติพระโพธิสัตว์ ต้องตรวจสอบให้ชัดว่า คติพระโพธิสัตว์แต่ก่อนนี้ในพระพุทธศาสนาที่แท้นับถืออย่างไร และปัจจุบันนับถืออย่างไร เรายังนับถือถูกต้องหรือไม่
คติพระโพธิสัตว์เกิดขึ้นโดยถือว่า พระพุทธเจ้านั้นจะสำเร็จโพธิญาณตรัสรู้ได้ ก็เพราะทรงบำเพ็ญเพียร ทำความดีอย่างยิ่งใหญ่ที่เรียกว่าบารมี ซึ่งยากที่ใครจะทำอย่างพระองค์ได้
บารมีคือคุณธรรมความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด “ยิ่งยวด” หมายความว่าเหนือสามัญวิสัยของคนธรรมดา หมายความว่า จะบำเพ็ญคุณความดีข้อไหนก็ทำอย่างเต็มที่ พระพุทธเจ้าทรงเพียรพยายามบำเพ็ญบารมีมาด้วยความยากลำบาก เราจึงมีเรื่องของพระโพธิสัตว์ว่า
ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้นั้นทรงเป็นพระโพธิสัตว์มาก่อน โดยทรงบำเพ็ญเพียรทำความดีด้วยความเสียสละอย่างยิ่ง ถ้าตกลงว่าจะทำความดีข้อไหนแล้วก็จะทำด้วยความเข้มแข็งเต็มที่ ไม่มีการย่อท้อ ไม่มีการถดถอยเลย แม้จะต้องสละชีวิตก็ตามที และการทำความดีอย่างเสียสละเต็มที่นี้ รวมทั้งการเสียสละช่วยเหลือผู้อื่นจนถึงที่สุดแม้จะต้องสละชีวิตของตนก็ยอมได้
พระโพธิสัตว์เป็นคติสำหรับสนับสนุนการระลึกถึงพุทธคุณ การระลึกถึงพระพุทธคุณนั้นเป็นเครื่องเตือนใจเราให้ระลึกถึงความเป็นมนุษย์ และศักยภาพของมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวเราว่า เราก็เป็นมนุษย์อย่างพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ แต่พระองค์มีความเพียรพยายามพัฒนาพระองค์เอง จนกระทั่งตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เราก็จะต้องพัฒนาตนเอง ต้องฝึกฝนตนเองอย่างนั้นด้วย นี้เป็นการเตือนให้เราทั้งหลายมีความมั่นใจในความเป็นมนุษย์ที่พัฒนาได้ ทั้งสำนึกในหน้าที่ของตนที่จะต้องพัฒนาตัวเองยิ่งขึ้นไป และทั้งทำให้เกิดกำลังใจในการที่จะฝึกฝนพัฒนาตนเองด้วย พร้อมกันนั้นก็จะได้นำเอาวิธีปฏิบัติพัฒนาของพระองค์ที่ได้ทรงสอนไว้มาใช้ประโยชน์
ถ้าเราทำความดีไปแล้ว เกิดความรู้สึกท้อแท้ว่า เราทำความดีถึงอย่างนี้ก็ยังไม่ได้รับผลที่ต้องการ เราก็หันไปดูพระจริยาวัตรของพระโพธิสัตว์ว่า พระองค์ทำความเพียรลำบากยากเย็นกว่าเรา ประสบอุปสรรคมากกว่าเรา พระองค์ไม่เคยท้อถอย พระองค์ถูกกลั่นแกล้งมากมาย พระองค์ก็ยังทำต่อไปในความดี
เมื่อเรานึกถึงคติพระโพธิสัตว์ ระลึกถึงจริยาวัตรของพระองค์ เราก็เกิดกำลังฮึดสู้ต่อไป ทำความเพียรต่อไป ไม่ถอย เพราะฉะนั้นคติพระโพธิสัตว์จึงหนุนการระลึกถึงพระพุทธคุณ ซึ่งทำให้เรามั่นใจในศักยภาพของความเป็นมนุษย์ที่ต้องพัฒนา ระลึกถึงหน้าที่ของเราที่จะต้องฝึกฝนพัฒนาตน และเกิดกำลังใจในการฝึกฝนพัฒนาตนอย่างนั้น
อย่างไรก็ตาม ต่อมาปรากฏว่าคติพระโพธิสัตว์ได้กลายไป คนในยุคหลังต่อมาคงจะเห็นว่า เออ! พระโพธิสัตว์นี้ท่านเสียสละมาก ท่านตั้งใจทำความดีช่วยเหลือผู้อื่นด้วยมหากรุณา ท่านมาคอยช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย ในเมื่อขณะนี้มีพระโพธิสัตว์คอยช่วยเหลืออยู่แล้ว เราก็ไปอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ก็แล้วกัน
ถึงตอนนี้คติพระโพธิสัตว์ก็เปลี่ยนไป แทนที่จะนึกถึงพระโพธิสัตว์เพื่อเป็นตัวอย่างในการทำความดีให้เกิดกำลังใจ และต้องทำความดีด้วยความเสียสละจริงจังอย่างท่าน ก็กลายเป็นลัทธิหวังพึ่งว่า คราวนี้มีพระโพธิสัตว์ไว้คอยช่วยแล้ว ไปขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ดีกว่า
จากคติที่เพี้ยนไปอย่างนี้ ก็มีพระโพธิสัตว์อย่างเจ้าแม่กวนอิมขึ้นมา แล้วคนก็ไปขอความช่วยเหลือกัน แทนที่จะบำเพ็ญความดีอย่างพระโพธิสัตว์ กลับกลายเป็นขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ กลายเป็นคติคล้ายกับการนับถือเทพเจ้า แล้วไปขอความช่วยเหลือจากเทพเจ้า โดยอ้อนวอนให้ท่านดลบันดาลสิ่งที่ตนต้องการให้
พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา สั่งสอนประชาชนให้พ้นออกมาจากการบวงสรวงอ้อนวอนเทพเจ้า อย่างที่ว่าดึงจากเทพสู่ธรรม ไปๆ มา ๆ ชาวพุทธกลับไปนับถือศาสนาแห่งการอ้อนวอนตามเดิม
(จากส่วนหนึ่งของหนังสือ
สถานการณ์พระพุทธศาสนา กระแสไสยศาสตร์)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 137 พฤษภาคม 2555 โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม)