xs
xsm
sm
md
lg

พระยิงปืนลมแลกของเล่น : พฤติกรรมไม่ควรเป็นพระ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ธรรมที่นักบวชในพระพุทธศาสนาพึงพิจารณาเนืองหรือ สม่ำเสมอมีอยู่ 10 ประการ โดยเริ่มด้วยคำว่า บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่าดังต่อไปนี้

1. เราพึงความมีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว

2. การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น

3. เรามีอากัปกิริยาอย่างอื่นที่พึงทำ

4. ตัวเราเองยังติเตียนตัวเราเองด้วยศีลอยู่หรือไม่

5. เพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชน พิจารณาแล้วยังติเตียนเราโดยศีลได้อยู่หรือไม่

6. เราต้องพลัดพรากจากของรัก ของชอบใจทั้งสิ้น

7. เราจักมีกรรมเป็นของตน เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จะต้องเป็นทายาท (คือผู้รับผล) ของกรรมนั้น

8. วันคืนล่วงไปๆ เราทำอะไรอยู่

9. เรายินดีในที่สงัดอยู่หรือไม่

10. คุณวิเศษยิ่งกว่ามนุษย์สามัญที่เราบรรลุแล้วมีอยู่หรือไม่ ที่จะทำให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขินเมื่อถูกเพื่อนบรรพชิตถามในกาลภายหลัง

ธรรมะทั้ง 10 ประการดังกล่าวข้างต้น เป็นพุทธวจนะที่ทรงสอนบรรพชิตหรือนักบวชในพุทธศาสนา ภายใต้หัวข้อที่เรียกในภาษาบาลีว่า ปัพพชิต อภิณห ปัจจเวกขณ์

โดยนัยแห่งธรรม 10 ประการนี้ พระพุทธองค์ทรงสอนให้ผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาได้ตระหนักถึงเพศภาวะ และข้อควรปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลส โดยเน้นที่ความเป็นผู้มีศีลเป็นเบื้องต้น และความเป็นผู้มีธรรมอันควรแก่สมณปฏิบัติในอันดับต่อไป และลงท้ายให้เป็นผู้ไม่ประมาทในการดำรงชีวิต ด้วยการปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุความเป็นพระอริยะ ซึ่งมีอยู่ 4 คู่หรือถ้านับเป็นรายบุคคลก็จะเป็น 8 ประเภท คือ

คู่ที่ 1 ได้แก่ โสดาปัตติมรรค และโสดาปัตติผล

คู่ที่ 2 ได้แก่ สกทาคามิมรรค และสกทาคามิผล

คู่ที่ 3 ได้แก่ อนาคามิมรรค และอนาคามิผล

คู่ที่ 4 ได้แก่ อรหัตตมรรค และอรหัตตผล

ทั้ง 4 คู่ 8 ประเภทนี้เองที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็นคุณวิเศษยิ่งกว่ามนุษย์สามัญ ที่พระภิกษุรูปใดได้บรรลุแล้วจะทำให้ไม่เก้อเขินเมื่อถูกเพื่อนสหธรรมิกถามแล้วตอบได้อย่างไม่เก้อเขินด้วยว่าบวชแล้วไม่สูญเปล่า

ทั้งหมดที่นำมากล่าวขานในที่นี้ก็เพื่อจะบอกท่านผู้อ่านให้ทราบว่า ความเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนานั้น มีความแตกต่างจากความเป็นคฤหัสถ์คือเพศก่อนที่แต่ละรูปมีอยู่ เป็นอยู่โดยสิ้นเชิง

ดังนั้น ถ้าบังเอิญได้เห็นพระรูปใดมีพฤติกรรมเยี่ยงคฤหัสถ์ ก็พึงบอกตนเอง และเพื่อนฝูงได้ว่านั่นมิใช่พฤติกรรมของนักบวช แต่เป็นพฤติกรรมของคนบวชกาย แต่ใจมิได้บวช และจะเรียกว่าเป็นบรรพชิตซึ่งแปลโดยใจความว่าละแล้ว เว้นแล้วจากพฤติกรรมใดๆ ของคฤหัสถ์หาได้ไม่ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลในเชิงตรรกะ ตามนัยแห่งธรรม 10 ประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อที่ 1, 4 และ 5 ซึ่งมีใจความบ่งบอกความเป็นนักบวชไว้อย่างชัดเจนว่า ทำให้แตกต่างจากคฤหัสถ์ ทั้งในเรื่องของภาวะภายนอกคือการแต่งกาย และภาวะภายในคือจิตใจ

แต่วันนี้ และเวลานี้นักบวชในพระพุทธศาสนาได้เปลี่ยนไปจากแนวทาง 10 ประการดังกล่าวข้างต้น ดังที่ปรากฏเป็นข่าวบ่อยๆ ว่าพระภิกษุประพฤติตนไม่เหมาะสมกับเพศและภาวะของตน

ล่าสุดได้มีข่าวพระภิกษุจำนวน 5 รูปอยู่ในท่ายิงปืนลมเพื่อแลกกับตุ๊กตา และหมอนในงานวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และในทันทีที่มีข่าวนี้ปรากฏออกมา ทางสำนักพุทธศาสนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ออกมาให้ข่าวว่าพระที่ทำเช่นนี้ถือว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม แต่ที่น่าสนใจก็คือคำบอกที่ว่า ไม่ถือว่าเป็นโทษร้ายแรง บทลงโทษก็คงเป็นการว่ากล่าวตักเตือนเท่านั้น

ทำไมพระสงฆ์ในยุคนี้ประพฤติตนไม่เหมาะสมมากขึ้นทุกวัน และจะมีแนวทางแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร

ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นแห่งคำถาม และหาแนวทางเพื่อนำไปสู่คำตอบ ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูความเป็นมาของพระพุทธศาสนานับตั้งแต่สมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงเจริญพระชนม์อยู่ และเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ก็จะพบการประพฤติตนไม่เหมาะสมของพระภิกษุในพุทธศาสนาได้เกิดขึ้นเป็นระยะ แต่ทุกครั้งที่เกิดเรื่องทำนองนี้ ถ้าเป็นสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงเจริญพระชนมายุอยู่ ก็จะเรียกประชุมสงฆ์ และทรงติเตียนประณามผู้กระทำอันไม่เหมาะสมแล้วทรงบัญญัติพระวินัยมิให้มีใครทำเช่นนั้นอีก และหากใครทำก็จะมีบทลงโทษด้วยการปรับอาบัติหนักเบาตามแต่ลักษณะความผิด และเจตนาในการกระทำ ในทำนองเดียวกันกับการลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมของฝ่ายบ้านเมือง

ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ถ้ามีพระภิกษุรูปใดหรือเหล่าใดมีพฤติกรรมนอกรีตนอกรอยผิดแผกไปจากพระธรรมวินัย ก็จะมีการจัดทำสังคายนาชำระพระธรรม และพระวินัยเพื่อให้มีรูปแบบและมาตรฐานเดียวกันโดยยึดหลักคำสอนดั้งเดิม

จากวันที่ทำสังคายนาครั้งแรกเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว 3 เดือน โดยปรารภเหตุที่ภิกษุแก่สุภัททะกล่าวจาบจ้วงพระพุทธเจ้า หลังจากนั้นได้กระทำอีกหลายครั้ง โดยมีเหตุปรากฏต่างๆ กันไป และทุกครั้งที่มีการทำสังคายนาจะต้องมีการร่วมมือกันระหว่างฝ่ายอาณาจักร กับศาสนจักร

ในประเทศไทยเองก็เคยมีการจัดทำสังคายนามาแล้วถึง 4 ครั้ง โดยสังคายนาครั้งแรกเริ่มที่เมืองเชียงใหม่สมัยพระเจ้าติโลกราช ครั้งที่ 2 ในสมัยของรัชกาลที่ 1 ครั้งที่ 3 สมัยรัชกาลที่ 5 และครั้งที่ 4 สมัยรัชกาลที่ 7

ดังนั้น ถ้านำเอาเหตุที่ทำให้ต้องมีการสังคายนาแล้ว ในยุคปัจจุบันก็มีเหตุอันสมควรแก่การทำสังคายนาอย่างยิ่ง จะเป็นความแตกแยกทางความคิดเห็น และมีการตีความพระธรรมวินัยผิดแผกไปจากเดิม เช่น พระนิพพานเป็นอัตตา ของวัดพระธรรมกาย เป็นต้น ก็เพียงพอที่จะทำให้ต้องทำสังคายนาได้แล้ว

แต่ไม่ทราบว่าด้วยเหตุใดฝ่ายศาสนจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาเถรสมาคมยังนิ่งเฉยอยู่

อย่างไรก็ตาม ในแง่คิดของผู้เขียนเห็นว่าถ้าจะแก้ปัญหาพระมีพฤติกรรมแปลกประหลาดผิดแผกไปจากพระธรรมวินัยให้ได้ผลแล้ว ทางฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักรก็จะได้ร่วมมือกันจัดทำสังคายนาสักครั้ง โดยการนิมนต์พระเถระผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เป็นประธาน แล้วจัดทำรูปแบบการปกครองสงฆ์เสียใหม่ให้ชัดเจนว่าจะมีรูปแบบการปกครองอย่างไร รวมไปถึงการแต่งตั้งตำแหน่งทางการปกครองสงฆ์ให้มีศักยภาพในการปกครองมากกว่าที่เป็นอยู่ ก็จะแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น