xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : วิธีสร้างโปรแกรมจิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องจักรกลที่ถูกควบคุมด้วย “โปรแกรม”

จิตเกี่ยวข้องกับสมอง เหมือนดังที่ “โปรแกรม” เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์

“โปรแกรมจิต” (Psychic or mind Programs) ก็เปรียบเสมือน “ซอฟท์แวร์” ของ “สมอง” ซึ่งเป็น “ฮาร์ดแวร์” นั่นเอง

โปรแกรมจิตจัดได้ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกป้อนเข้าไปในสมอง เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ แต่เราอาจเลียนแบบการเกิดขึ้นตามธรรมชาตินั้นมาสร้าง “โปรแกรมจิต” ได้ เพื่อการรับข้อมูลที่ดี และสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์อันพึงประสงค์ เป็นไปเพื่อปรับพฤติกรรมหรือปรับโปรแกรมเก่าๆในชีวิตที่เคยผิดพลาดให้ดีขึ้น ด้วยโปรแกรมใหม่ๆที่ดีกว่า

โปรแกรมจิต คือคำสั่งที่เก็บอยู่ใน “สัญญา” (หน่วยความจำของจิต) ควบคุมการทำงานของ “สมอง” ทำให้เกิดเป็นพฤติกรรมต่างๆ

คำว่า “สัญญา” เป็นภาษาบาลี โดยจะยกเอาคำแปลจาก “พจนานุกรมพุทธศาสน์” ฉบับประมวลศัพท์ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) มาแสดงไว้ดังนี้

“สัญญา” การกำหนดหมาย ความจำได้หมายรู้ คือหมายรู้ไว้ซึ่ง รูป เสียง กลิ่น โผฏฐัพพะ และอารมณ์ที่เกิดกับใจว่า เขียว ขาว ดำ แดง ดัง เบา เสียงคน เสียงแมว เสียงระฆัง กลิ่นทุเรียน รสมะปราง เป็นต้น และจำได้ คือรู้จักอารมณ์นั้นว่าเป็นอย่างนั้นๆ ในเมื่อไปพบเข้าอีก (ข้อ 3 ในขันธ์ 5) มี 6 อย่างตามอารมณ์ที่หมายรู้นั้น เช่น รูปสัญญา หมายรู้รูป สัททสัญญา หมายรู้เสียง เป็นต้น ความหมายสามัญในภาษาบาลีว่า เครื่องหมายที่สังเกตความสำคัญว่าเป็นอย่างนั้นๆ

กล่าวโดยสรุป สัญญา ก็คือความจำได้หมายรู้ ซึ่งการบันทึกหรือจดจำสิ่งใดไว้เป็น “สัญญา” หรือ “โปรแกรมจิต” จะต้องอาศัยกลไกการทำงานของจิต

ดังนั้น ช่องทางการสร้างโปรแกรมจิต หรือสร้างสัญญา ก็คือ “ผัสสะ” ซึ่งเกิดขึ้นจากการประชุมพร้อมของอายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และจิต) เชื่อมโยงกับอายตนะภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมะ) จนกระทั่งเกิดวิญญาณ (การรับรู้) ขึ้นมา ทำให้เกิด “เวทนา” คือความรู้สึกที่เป็นทุกข์ (ทุกขเวทนา) เป็นสุข (สุขเวทนา) หรือไม่ทุกข์ไม่สุข (อทุกขมสุขเวทนา)

• ช่องทางการสร้างโปรแกรมจิต

ธรรมชาติของจิตนั้นเอื้ออำนวยให้เราสามารถสร้างโปรแกรมจิตเพื่อใช้งานสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพอันได้แก่ การจำได้หมายรู้ ทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาสู่การรับรู้ เมื่อเกิดมี “ผัสสะ” หรือการรับรู้จากการกระตุ้นดังได้กล่าวไว้เบื้องต้น ก็จะทำให้เกิด “เวทนา” หรือความรู้สึกเป็นทุกข์เป็นสุข หรืออย่างหนึ่งอย่างใดตามมา จากนั้นก็จะเกิดขึ้นเป็น “สัญญา” ดังแผนผัง

ตัวอย่างของโปรแกรมจิตที่เลียนแบบกระบวนการตามธรรมชาติ ได้แก่ การศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย ชื่อว่า พัฟล็อฟ (Pavlov) ได้ทำการทดลองในสุนัข โดยการ “ให้กินอาหาร” ร่วมไปกับ “การสั่นกระดิ่ง” จนสุนัขจดจำได้ ต่อมาเพียงแต่สั่นกระดิ่งให้ได้ยินในการกระตุ้นเตือนให้โปรแกรมจิตทำงาน สุนัขก็จะมีน้ำลายและน้ำย่อยอาหารออกมาได้

• โปรแกรมจิตทำงานอย่างไร

สิ่งที่กระตุ้นให้โปรแกรมจิตทำงานได้ก็คือ ผัสสะ เมื่อ “ผัสสะ” เกิดขึ้นก็จะทำให้เกิด “เวทนา” ตามมา และดึงเอา “สัญญา” ที่เชื่อมโยงกันไว้อยู่ใน “โปรแกรม” เดียวกันนั้นให้ออกมาเป็นคำสั่ง ซึ่งอยู่ในลักษณะของการที่เรา “นึกถึง” หรือ “ตรึกถึง” (ภาษาบาลีใช้คำว่า “วิตก”) ในรูปของถ้อยคำ หรือเป็นจินตนาการ สร้างภาพฝันให้เด่นชัด เมื่อจินตนาการได้ประสานกับศรัทธาหรือความรู้สึกจากภายใน ย่อมก่อให้เกิดพลังแห่งการบำบัดรักษาอย่างมหาศาล

การนำข้อมูลเข้าเก็บไว้ใน “โปรแกรมฐานข้อมูล” จะต้องเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่เป็น “ถ้อยคำ” หรือ “ตัวเลข” ให้เป็น “รูป” ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นเตือนให้เกิด “เวทนา” ดึงเอา “สัญญา” เข้าไปสู่สมอง (เปรียบเสมือนการ Load โปรแกรมจากซอฟท์แวร์เข้าสู่ CPU ของเครื่องคอมพิวเตอร์) มีผลให้เกิดการใช้งานสมองอย่างคอมพิวเตอร์ “สมอง” จะประมวลข้อมูลต่างๆ ที่เก็บไว้มารายงาน และปฏิบัติงานตามที่ต้องการได้

ตัวอย่างต่อไปนี้เป็นการใช้คำสั่งที่เป็นจิตนาการแบบต่อเนื่อง เป็นการทดลองที่น่าสนใจทีเดียว

“...เคยบอกผู้ชายคนหนึ่งซึ่งกำลังเจ็บปวดทรมานจากการเป็นอัมพาต ให้เขาสร้างภาพฝันให้เด่นชัด ว่าตัวเองกำลังเดินไปมาอยู่ภายในห้องทำงาน โดยเอามือสัมผัสโต๊ะต่างๆ รับโทรศัพท์และทำกิจวัตรใดๆก็ตามที่เขาจะต้องทำ ถ้าหายจากการเป็นอัมพาต

วันหนึ่งหลังจากที่ได้เพียรสร้างจินตภาพให้กับใจมาหลายสัปดาห์ ก็มีเสียงกริ่งโทรศัพท์ดังขึ้น โดยการนัดหมายกันไว้ก่อนว่า ให้ภรรยาและพยาบาลผู้ดูแลเขาออกไปข้างนอกกันให้หมด กริ่งโทรศัพท์ดังต่อเนื่องอยู่ห่างจากเขาประมาณ 20 ฟุต แต่กระนั้นเขาก็กระเสือกกระสนไปรับสาย และอาการอัมพาตก็ได้รับการรักษาในตอนนั้นเอง...”


• การโปรแกรมจิตสำนึก (Conscious Mind program)

เป็นโปรแกรมที่รู้จักและใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดในหมู่มนุษย์นับแต่โบราณกาลจนถึงยุคปัจจุบัน เช่น การสวดอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ การโปรแกรมจิตสำนึกมีขั้นตอนการสร้าง ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ใส่มุ่งหวัง (Define Goal)
กำหนด “ความมุ่งหวัง” (Goal) ให้ชัดเจน แล้วจัดทำเป็น “คำอธิษฐาน” หรือ “จินตภาพต่อเนื่อง” หรือทั้งสองอย่าง

ขั้นตอนที่ 2 สั่งประกาศิต (Order Input)
เป็นการนำ “คำสั่ง” (Order) ในรูปของ “คำอธิษฐาน” หรือ “จินตภาพต่อเนื่อง” หรือทั้งสองอย่างเข้าสู่ “สัญญา” ด้วยการนึกอย่างซ้ำๆ ถึงคำอธิษฐาน และหรือการสร้างจินตภาพต่อเนื่องพร้อมกันไปด้วย ในขณะที่จิตมีสติสัมปัชัญญะอย่างบริบูรณ์ ทั้งนี้การนำเข้าซึ่งคำสั่งดังกล่าวได้แก่ การกล่าวกับตนเอง การบอกย้ำกับตัวเอง การสร้างภาพฝันให้เด่นชัดขึ้นในใจ

ขั้นตอนที่ 3 สถิตย้ำเสริม (input Repetition)
ด้วยการนำขั้นตอนที่ 2 มาปฏิบัติซ้ำๆต่อเนื่อง ตามโอกาสจนกว่าจะสัมฤทธิผลตามความมุ่งหวังที่กำหนดขึ้น

• คำสั่งที่ใช้ในการโปรแกรมจิต

คำสั่งที่ใช้ในการโปรแกรมจิต ได้แก่
“คำอธิษฐาน” (Affirmation) เป็นถ้อยคำที่คิดอยู่ในใจ หรือเป็นคำพูดออกมาดังๆ (คำอธิษฐาน แปลว่า ตั้งใจกำหนดไว้แน่วแน่) ที่สำคัญคือจะต้องนึกคิดซ้ำๆอยู่เนืองๆ อาจเป็นการอธิษฐานในลักษณะของการสวดมนต์ เพลง หรือบทกวีก็ได้ ทั้งนี้มุ่งสื่อความหมายถึงคำอธิษฐานว่า หมายถึง “ความมุ่งหวัง”

“จินตภาพต่อเนื่อง” (Visualization) หมายถึง การนึกภาพตามความมุ่งหวังอย่างต่อเนื่อง เปรียบเสมือนกับการฉายภาพยนตร์

คนเราสามารถสร้างโปรแกรมจิตขึ้นได้เอง ด้วยจิตและกายนั้นต่างทำงานประสานเชื่อมโยงกันอย่างไม่รู้จบ ดังเช่นในเรื่องการดูแลสุขภาพในยามสูงวัย อาจมองในมุมของการปรับเปลี่ยนคุณภาพใจและกายของตัวเอง เพื่อรู้เท่าทัน รู้จักตัวเอง นำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับบุตรหลานและผู้คนในครอบครัว ด้วยการตั้งใจกำหนดความมุ่งหวังที่จะฝึกอบรมจิต

เริ่มจากการฝึกสติ ฝึกให้มีสติในการใช้ชีวิตประจำวัน แล้วสร้างภาพหวัง หรือบอกย้ำกับตัวเองอย่างต่อเนื่องถึงการฝึกสติ ฝึกตน และสิ่งที่ดีๆ ที่หวังไว้ว่าจะเกิดขึ้นตามมา และสุดท้ายคือการลงมือปฏิบัติ พร้อมกับการนำภาพหวังนั้นๆ มาย้ำซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง จนกว่าภาพที่วาดไว้ หรือโปรแกรมจิตนั้นจะประสบความสำเร็จนั่นเอง

(จากหนังสือการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุแบบบูรณาการ)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 142 ตุลาคม 2555 โดย นพ.ชินโอสถ หัสบำเรอ)


กำลังโหลดความคิดเห็น