การทำบุญ ท่านเรียกว่า บุญกิริยา หรือเรียกยาวว่า บุญกิริยาวัตถุ คือเรื่องของการทำบุญ ญาติโยมที่คุ้นวัดจะนึกออกว่า บุญกิริยาวัตถุมี 3 อย่าง คือ
1. ทาน การให้ เผื่อแผ่ แบ่งปัน
2. ศีล การประพฤติสุจริต มีความสัมพันธ์ที่ดี ไม่เบียดเบียนกัน
3. ภาวนา ฝึกอบรมพัฒนาจิตใจ เจริญปัญญา
ทานก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง ศีลก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง ภาวนาก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง และสูงขึ้นไปตามลำดับด้วย ศีลเป็นบุญที่สูงกว่าทาน ภาวนาเป็นบุญที่สูงกว่าศีล แต่เราสามารถทำไปพร้อมกันทั้ง 3 อย่าง
เหตุใดจึงเรียกการถวายของแก่พระที่วัดว่าเป็นการทำบุญ แต่ให้แก่ชาวบ้าน เรียกว่าเป็นทานเฉยๆ เรื่องนี้อาจจะเกิดจากการที่ว่า เวลาเราไปถวายพระที่วัด เราไม่ใช่ถวายทานอย่างเดียวเท่านั้น คือ ในเวลาที่เราไปถวายสิ่งของเครื่องไทยธรรม หรือทำอะไรที่วัดนั้น นอกจากทานเป็นอย่างที่ 1 แล้ว
2. ศีลเราก็ได้รักษาไปด้วย คือเราต้องสำรวมกาย วาจา อยู่ในระเบียบแบบแผนวัฒนธรรมประเพณี เรื่องมารยาท อากัปกิริยา และการสำรวมวาจาต่าง ๆ นี้เป็นศีลทั้งสิ้น และเวลานั้นเรางดเว้นความไม่สุจริตทางกายวาจา ความไม่เรียบร้อย การเบียดเบียนทุกอย่างทางกายวาจา เราละเว้นหมด เราอยู่ในกายวาจาที่ดีงาม ที่ประณีต ที่สำรวม ที่ควบคุม นี่คือเป็นศีล
3. ในด้านจิตใจ จะด้วยบรรยากาศของการทำบุญก็ตาม หรือด้วยจิตใจที่เรามีความเลื่อมใสตั้งใจไปด้วยศรัทธาก็ตาม จิตใจของเราก็ดีงามด้วย เช่น มีความสงบ มีความสดชื่น เบิกบาน ผ่องใส มีความอิ่มใจ ตอนนี้เราก็ได้ภาวนาไปด้วย
ยิ่งถ้าพระได้อธิบายให้เข้าใจในเรื่องการทำทานนั้น ว่าทำเพื่ออะไร มีประโยชน์อย่างไร สัมพันธ์กับบุญหรือการปฏิบัติธรรมอื่นๆ อย่างไร ฯลฯ เรามองเห็นคุณค่าประโยชน์นั้น และมีความรู้ ความเข้าใจธรรม เข้าใจเหตุผลต่างๆ มากขึ้น เราก็ได้ปัญญาด้วย
ด้วยเหตุที่ว่ามานี้ ก็จึงกลายเป็นว่า เมื่อเราไปที่วัดนั้น แม้จะไปถวายทานอย่างเดียว แต่เราได้หมดทุกอย่าง ทานเราก็ทำ ศีลเราก็พลอยรักษา ภาวนาเราก็ได้ ทั้งภาวนาด้านจิตใจและภาวนาด้านปัญญา
เพราะฉะนั้น เมื่อเราไปที่วัด ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง เราจึงไม่ได้ถวายทานอย่างเดียว แต่เราได้มาครบ ตอนแรกเราตั้งใจไปถวายทานอย่างเดียว แต่เมื่อไปแล้ว เราได้มาครบทั้งสาม ที่นี้เราจะบอกว่า เราไปถวายทานมา เราก็พูดไม่ครบ ก็เลยพูดว่าเราไปทำบุญ เพราะว่าเราได้ทั้งสามอย่าง ที่ว่ามานี้ก็เป็นเหตุให้การถวายทานอย่างเดียวกลายเป็นมีความหมายเป็นทำบุญ (ครบทั้งสามอย่าง)
เมื่อโยมเข้าใจอย่างนี้แล้ว ต่อไปเวลาไปถวายทานที่วัด ก็ต้องทำให้ได้บุญครบทั้ง 3 อย่าง คือถวายทานอย่างเดียว แต่ต้องให้ได้ทั้งศีลทั้งภาวนาด้วย อย่างนี้จึงจะเรียกว่า “ทำบุญ” ที่แท้จริง
• วิธีตรวจสอบทาน ว่าได้ผลสมบูรณ์ไหม
คราวนี้เราก็มาตรวจสอบตัวเองว่า ทานของเราได้ผลสมบูรณ์ไหม เริ่มตั้งแต่ด้านจิตใจว่าเจตนาของเราดีไหม
เจตนานั้นท่านยังแยกออกไปอีกเป็น 3 คือ
1. บุพเจตนา เจตนาก่อนให้ คือตั้งแต่ตอนแรก เริ่มต้นก็ตั้งใจดี มีความเลื่อมใส จิตใจเบิกบาน และตั้งใจจริง แข็งแรง มีศรัทธามาก ต่อไป
2. มุญจนเจตนา ขณะถวายก็จริงใจจริงจัง ตั้งใจทำด้วยความเบิกบานผ่องใส มีปัญญา รู้เข้าใจ
3. อปราปรเจตนา ถวายไปแล้ว หลังจากนั้น ระลึกขึ้นเมื่อไรจิตใจก็เอิบอิ่มผ่องใส ว่าที่เราทำไปนี้ดีแล้ว ทานนั้นเกิดผลเป็นประโยชน์ เช่น ได้ถวายบำรุงพระศาสนา พระสงฆ์จะได้มีกำลัง แล้วท่านก็จะได้ปฏิบัติศาสนกิจ ช่วยให้พระศาสนาเจริญงอกงามมั่นคง เป็นปัจจัยให้สังคมของเราอยู่ร่มเย็นเป็นสุข นึกขึ้นมาเมื่อไรก็เอิบอิ่มปลื้มใจ ท่านใช้คำว่า “อนุสรณ์ด้วยโสมนัส”
ถ้าโยมอนุสรณ์ด้วยโสมนัสทุกครั้งหลังจากที่ทำบุญไปแล้ว โยมก็ได้บุญทุกครั้งที่อนุสรณ์นั่นแหละ คือระลึกขึ้นมาคราวไหนก็ได้บุญเพิ่มคราวนั้น
นี่คือเจตนา 3 กาล ซึ่งเป็นเรื่องสำหรับทายก
ส่วนปฏิคาหก คือผู้รับ ถ้าเป็นผู้มีศีล มีคุณธรรมต่าง ๆ มาก ก็ถือว่าเป็นบุญเป็นกุศลมาก เพราะจะได้เกิดประโยชน์มาก เช่น พระสงฆ์ เป็นผู้ทรงศีล ทรงไตรสิกขา ท่านก็สามารถทำให้ทานของเราเกิดผลงอกเงยออกไปกว้างขวาง เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ช่วยให้ธรรมแผ่ขยายไปในสังคม ให้ประชาชนอยู่ร่มเย็นเป็นสุข และดำรงพระศาสนาได้จริง
ส่วนไทยธรรมคือวัตถุที่ถวาย ก็ให้เป็นของบริสุทธิ์ได้มาโดยสุจริต สมควรหรือเหมาะสมแก่ผู้รับ และใช้ได้เป็นประโยชน์
นี้เป็นองค์ประกอบต่าง ๆ ที่จะใช้พิจารณาตรวจสอบ และต้องพยายามอย่างที่พูดไปแล้วว่า แม้ว่าเราจะไปทำทานอย่างเดียว ก็ต้องให้ได้ทั้งศีลทั้งภาวนามาด้วย อย่างนี้จึงจะเรียกว่าทำบุญกันจริง ๆ ชนิดพูดได้เต็มปาก
มิฉะนั้นโยมก็จะได้แค่ไปถวายทานเฉย ๆ แล้วก็ไปเรียกอ้อมแอ้มว่าทำบุญ เพราะฉะนั้น ถ้าโยมไปวัดแล้วบอกว่า ฉันไปทำบุญมา ก็จะต้องตรวจดูด้วยว่า เอ.. ที่จริงเราได้แค่ทานหรือเปล่า หรือว่าเราได้ครบเป็นบุญเต็มจริง ๆ ถ้าเป็นบุญ ก็คือได้ครบทั้ง 3 ประการ ทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งภาวนา
(จากส่วนหนึ่งของหนังสือ “ก้าวไปในบุญ”)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 141 กันยายน 2555 โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม)