xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับสุขภาพ : ทาน ศีล ภาวนา ทำให้อายุยืน คนอายุยืน (ตอนที่ 19)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่านผู้อ่านครับ การที่เราจะมีอายุยืนนั้นก็อาศัยปัจจัยทั้งภายในและปัจจัยภายนอก ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวไว้หลายประการแล้ว

ปัจจัยภายนอกก็ได้แก่ อาหาร การออกกำลังกาย สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ปัจจัยภายในก็เป็นเรื่องของการพัฒนาจิตให้เกิดคุณธรรม มีสมาธิ การเจริญสติ เป็นต้น

ในฉบับนี้ขอกล่าวถึงปัจจัยภายในที่ท่านได้กล่าวไว้ ในที่หลายแห่ง เช่น ในจูฬกรรมวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย ท่านกล่าวว่า การละเว้นการฆ่าสัตว์ ทรมานสัตว์ เป็นเหตุให้อายุยืนดังที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้วๆมา

บางแห่งท่านกล่าวว่า การถวายโภชนาหารแก่ภิกษุผู้มีศีล ก็เป็นเหตุปัจจัยให้อายุยืน ดังใน สุทัตตสูตร อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต ท่านกล่าวว่า

“บุคคลใดให้โภชนาหารแก่ปฏิคาหกผู้มีศีล ผู้บริโภคของที่คนอื่นให้ โดยเคารพตามกาลอันควร บุคคลนั้นได้ชื่อว่าให้สถาน ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ นรชนผู้ให้อายุ ให้วรรณะ ให้สุขะ ให้พละ เกิดในภพใดๆ ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน มียศในภพนั้นๆ”

ในที่บางแห่งท่านกล่าวถึงการประพฤติพรหมจรรย์ ข้อสทารสันโดษ คือความพอใจในคู่ครองของตนเอง ไม่ประพฤตินอกใจ ว่าเป็นเหตุให้อายุยืน ไม่ตายแต่หนุ่มสาว เช่น กรณีของท่านนกุลบิดาคฤหบดี และนกุลมารดาคฤหปตานี ท่านเป็นพระอริยบุคคลขั้นโสดาบัน เป็นเอตทัคคะในทางเป็นอุบาสกอุบาสิกาผู้สนิทสนมคุ้นเคยกับพระพุทธเจ้า ท่านทั้งสองมีความประสานสอดคล้องโดยความรักภักดี ซื่อสัตย์ นำไปสู่ความกลมกลืนกันโดย คุณธรรม ท่านกล่าวว่า

“พวกเราไม่ประพฤตินอกใจภรรยาและภรรยาก็ไม่ประพฤตินอกใจพวกเรา พวกเราประพฤติพรหมจรรย์ในหญิงอื่น นอกจากภรรยาของพวกเรา ฉะนั้น พวกเราจึงไม่มีใครตายตั้งแต่หนุ่มสาว”

(พุทธธรรม, พระพรหมคุณาภรณ์
(ป.อ.ปยุตโต) หน้า ๗๔๔)


นอกจากนั้น ในเรื่องของความอ่อนน้อมถ่อมตน ท่านก็กล่าวว่าเป็นเหตุให้อายุยืน ในขุททกนิกาย ธรรมบทสหัสสวรรค เรื่องอายุวัฒนกุมาร เรื่องก็มีอยู่ว่า

บุตรของพราหมณ์ผู้หนึ่ง ได้รับคำทำนายจากเพื่อนพราหมณ์ด้วยกันว่า จะมีอายุอยู่ได้เพียง ๗ วัน บิดาจึงถามวิธีแก้เพื่อให้ลูกมีอายุยืน พราหมณ์ไม่รู้วิธี แต่ได้แนะนำว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ พราหมณ์จึงพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์เช่นเดียวกับพราหมณ์ว่า เด็กจะอยู่ได้อีก ๗ วัน และทรงแนะวิธีแก้ โดยให้พราหมณ์สร้างมณฑปไว้ใกล้ประตูเรือนของตน ให้ทำตั่งไว้ตรงกลางมณฑป แล้วปูอาสนะไว้ ๘ หรือ ๑๖ ที่ ให้นิมนต์พระมาสวดพระปริตร เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน

ในวันที่ ๗ พระพุทธเจ้าเสด็จมาเอง ทรงทำพระปริตร ตลอดคืนยันรุ่ง เมื่อเสร็จพิธีแล้ว พราหมณ์ถามว่า

“พระโคดมผู้เจริญ เด็กจะอยู่ได้นานเท่าไร”

พระศาสดาตอบว่า “๑๒๐ ปี พราหมณ์”

พราหมณ์สามีภรรยาจึงตั้งชื่อให้บุตรว่า “อายุวัฒนกุมาร”

อายุวัฒนกุมารนั้นก็เจริญเติบโตเรื่อยมา ต่อมาภิกษุทั้งหลายสนทนาในโรงธรรมถึงเรื่องนี้ พระพุทธองค์เสด็จผ่านมา จึงแสดงธรรมให้ฟังว่า

“ภิกษุทั้งหลาย อายุเจริญอย่างเดียวเท่านั้นก็หาไม่ ก็สัตว์เหล่านี้ไหว้ท่านผู้มีพระคุณ ย่อมเจริญด้วยเหตุ ๔ ประการ พ้นจากอันตราย ดำรงอยู่ตลอดอายุทีเดียว จึงตรัสเป็นคาถาว่า ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ เจริญแก่บุคคลผู้กราบไหว้เป็นปกติ ผู้อ่อนน้อมต่อท่านผู้เจริญเป็นนิตย์”

สรุปแล้วก็เป็นเรื่องของบุญกิริยาวัตถุ การให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา การอ่อนน้อมถ่อมตนกราบไหว้ผู้ใหญ่ในตระกูลเสมอๆ นั่นเอง

ท่านผู้อ่านครับ เราเป็นคนสมัยใหม่ อ่านข้อความที่กล่าวถึงการสวดพระปริตรแล้วช่วยให้พ้นความตายได้นั้น เราก็สงสัยว่าจะจริงหรือ คนสมัยโบราณก็สงสัยเหมือนกันครับ ซึ่งเรื่องนี้ในคัมภีร์มิลินทปัญหา ท่านก็มีคำตอบไว้น่าฟังทีเดียว มีข้อความดังนี้คือ ในเมณฑกปัญหา วรรคที่ ๒ ปัญหาที่ ๔ มัจจุปาสามุตติกปัญหา

พระเจ้ามิลินท์ ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน คำที่ว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระปริตร อันบุคคลสาธยายอยู่ ย่อมป้องกันความตายได้นั้นจริงหรือ”

พระนาคเสนทูลตอบว่า “ขอถวายพระพร.. จริง”

พระเจ้ามิลินท์ “ถ้าเช่นนั้น จะมิแย้งกับพุทธดำรัสที่ตรัสว่า บุคคลจะอยู่ในที่ใดๆก็ตาม ย่อมหนีความตายไม่พ้นนั้นหรือ”

พระนาคเสน “ขอถวายพระพร..ไม่แย้ง ที่มีพระพุทธดำรัสว่า การสวดพระปริตรย่อมป้องกันความตายได้นั้น พระพุทธองค์ทรงมุ่งหมายเฉพาะผู้ที่พอจะต่ออายุ ให้ยั่งยืนสืบไปได้เท่านั้น หาได้หมายถึงว่า จะเป็นอุบายให้หนีความตายได้พ้นตลอดไปไม่ เพราะคนที่ถึงวาระที่จะต้องตายแล้ว ย่อมไม่มีอะไรจะป้องกัน แม้จะหนีไปอยู่ในอากาศหรือในมหาสมุทร หรือในซอกห้วยซอกเขา ก็หนีความตายไม่พ้น”

พระเจ้ามิลินท์ “เธอจงเปรียบเทียบให้ฟัง”

พระนาคเสน “ขอถวายพระพร คนที่ถึงวาระจะต้องตายเหมือนต้นไม้แก่ แม้จะมีคนพยายามเอาน้ำไปรด ก็ไม่กลับฟื้นขึ้นมาได้ ส่วนคนที่พอจะต่ออายุให้ยั่งยืนสืบไปได้ด้วยอำนาจการสวดพระปริตร เหมือนต้นไม้ที่เฉาเพราะดินแห้ง เมื่อเอาน้ำไปรด ต้นไม้นั้นก็ย่อมจะกลับฟื้นขึ้นอีกได้ฉะนั้น”

พระเจ้ามิลินท์ “ดูก่อนพระนาคเสน การสวดพระปริตรจะต่ออายุคนได้อย่างไร”

พระนาคเสน “การสวดพระปริตรเป็นหนึ่งยาหอมสำหรับชโลมหัวใจผู้ป่วยเจ็บให้ชุ่มชื่น เช่น สวดธชัคคปริตร ถ้าผู้เจ็บสามารถส่งใจไปตามแนวแห่งพระปริตร น้อมนึกถึงข้อความเหตุผลแห่งพระคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในบทนั้นๆ ที่สุดแม้แต่บทเดียวได้ ใจก็จะไม่ไปเกาะเกี่ยวอยู่ที่การป่วยเจ็บ ฟื้นจากความหดหู่ มารื่นเริงในพระคุณนั้นๆ ทันทีนั้นใจก็ชุ่มชื้นได้กำลังขึ้น เมื่อมีกำลังใจประคองร่างกายอยู่ กำลังกายก็ตั้ง ขึ้นได้ ขอถวายพระพร ถ้ากำลังใจต่อสู้โรคได้แล้ว ก็เป็นอันว่าหนีความตายไปได้พ้นคราวหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีกำลัง เช่นนั้นพอจะสู้โรคได้แล้ว ก็ย่อมหนีความตายไม่พ้น แม้ถึงเช่นนั้น การสวดพระปริตรก็ยังชื่อว่าไม่ไร้ผล เพราะผู้ตายด้วยอาการชุ่มชื่นเช่นนั้น ย่อมหวังสุคติได้”

พระเจ้ามิลินท์ “ต่อได้จริง”

(ปัญหาพระยามิลินท์ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ)

ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า การสวดพระปริตรนั้น มีอานุภาพมาก สามารถต่ออายุให้ยั่งยืนได้ดังที่ได้กล่าวมา สำหรับข้อธรรมที่ทำให้อายุยืน ผู้เขียนจะขอกล่าวต่อในตอนหน้าอีกเล็กน้อย

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 129 สิงหาคม 2554 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)
กำลังโหลดความคิดเห็น