xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : 5 ความจริงที่ไม่มีใครหนีพ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่เฉพาะแต่ความตายเท่านั้น พระพุทธเจ้ายังสอนให้เราระลึกถึงความจริงของชีวิตในแง่อื่นๆอีก ความจริงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ไม่มีอะไรที่จะเกินความจริงไปได้ และชีวิตของเราก็ต้องอยู่กับความจริง หนีความจริงไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น ในการดำเนินชีวิต เราจึงควรระลึกตระหนักในความจริงอยู่เสมอ และวางใจต่อความจริงนั้นอย่างถูกต้อง แล้วความจริงนั้นก็จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเรา เราจะหนีหรือจะสู้ ความจริงก็อยู่นั่น ถ้าเรากลัวความจริง ความจริงก็เป็นโทษแก่เรา แต่ถ้าเรารู้ความจริง ความจริงก็เป็นประโยชน์แก่เรา

ความจริงนั้นไม่มีรสชาติเปรี้ยวหวานมันเค็มเอร็ดอร่อย เหมือนอย่างเรื่องสนุกสนานทั้งหลาย ความจริงนั้นเหมือนกับน้ำบริสุทธิ์ที่มีรสจืด แต่รสจืดของน้ำที่บริสุทธิ์นั่นแหละเป็นสิ่งที่ชีวิตต้องการที่สุด เราอาจจะต้องการรสอะไรหลากหลาย ทั้งรสหวาน รสมัน รสเค็ม และรสอะไรสารพัดให้สนุกสนานตื่นเต้นไป แต่ในที่สุดเราก็หนีไม่พ้นที่จะต้องการรสจืดของน้ำที่บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชีวิตต้องการแท้ๆ

ในทางนามธรรมก็เช่นเดียวกัน ชีวิตเรานี้ต้องการรสจืดของความจริง ความจริงเป็นรสจืดอย่างสนิท ถึงแม้ใครไม่ชอบ ก็ไม่มีใครหนีความจริงไปพ้น แต่ถ้าเรารู้เท่าทันมัน ความจริงก็จะให้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของเราอย่างที่สุดเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เราระลึกถึงความจริงของชีวิตเป็นธรรมดา และที่พระองค์ตรัสสอนไว้นั้น ไม่ใช่เพียงให้ระลึกเท่านั้น แต่ยังให้พิจารณาด้วย ความจริงที่ว่านี้มี 5 ประการด้วยกัน

ความจริงที่เราทุกคนควรพิจารณาอยู่เสมอ ทางพระท่านเรียกเป็นภาษาบาลีว่า อภิณหปัจจเวกขณะ มี 5 ประการ มีใจความว่า ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า

1. เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้

2. เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้

3. เรามีความเจ็บตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้

4. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น

5. เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทของกรรม มีกรรมเป็นแดนเกิด เป็นพวกพ้องของกรรม ทำกรรมไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักได้รับผลของกรรมนั้น จักเป็นทายาทของกรรมนั้น


ความจริงเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคน ไม่ว่าสตรีหรือบุรุษ ไม่ว่าคฤหัสถ์คือชาวบ้าน หรือบรรพชิตคือพระภิกษุสามเณร ควรจะต้องพิจารณาอยู่เสมอ

5 ประการนี้ เป็นความจริงที่แน่นอน ถึงเราจะไม่พิจารณาหรือไม่นึกถึงมัน ชีวิตของเราก็ต้องเป็นไปตามมัน เพราะฉะนั้น ในเมื่อเราจะต้องพบต้องเจอต้องเป็นอย่างนั้นแล้ว เราก็เผชิญหน้ากับมัน เอามันมาพิจารณา และเอามาใช้ประโยชน์เสียเลย

ตอนนี้เราเอาความจริง 5 ประการของชีวิตมาใช้ประโยชน์ สามข้อแรกจัดได้เป็นชุดหนึ่ง คือเรามีความแก่ความเจ็บ ความตายเป็นธรรมดา อันนี้เป็นเรื่องของสิ่งทั้งหลายที่มีความไม่เที่ยงแท้ ชีวิตของเราก็เช่นเดียวกับสิ่งทั้งหลายในธรรมชาติ มองดูที่ตัวของเรา ชีวิตของเราก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติ มีความเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน

ร่างกายของเราตลอดจนชีวิตทั้งหมดของเราเกิดจากขันธ์ 5 มาประกอบกันเข้า เริ่มตั้งแต่ธาตุ 4 เป็นต้นไปมาประชุมกัน เมื่อมีเหตุปัจจัยให้มันเกิดขึ้น มันก็เกิด เมื่อเหตุปัจจัยนั้นคืบเคลื่อนผันแปรไป มันก็ต้องแตกสลาย ชีวิตก็สิ้นสุดลง ในแง่นี้ชีวิตของเราเองก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติเช่นเดียวกับสิ่งทั้งหลายอื่น

ต่อไปชุดที่สอง ก็คือข้อที่สี่ที่ว่า เราต้องมีความพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น อันนี้เป็นแง่ที่ชีวิตของเราไปสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งของภายนอก หรือไปสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ข้อนี้มีความหมายที่สำคัญ อย่างน้อยเราต้องเข้าใจว่า ตัวเราเองนี้ก็ดี คนที่เรารัก สิ่งที่เราหวงแหวน ตลอดจนทุกสิ่งที่เราเกี่ยวข้องในโลกนี้ก็ดี ทั้งสองฝ่ายต่างก็ตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ ต่างก็มีความเป็นไปตามเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน

เมื่อต่างฝ่ายต่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย ต่างฝ่ายต่างก็มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้นและมีการดับสลายไปในที่สุด มันก็ต้องมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา อันนี้มองในแง่ที่ชีวิตของเราไปสัมพันธ์กับคนอื่นและสิ่งอื่น เป็นชุดที่สอง

ต่อไปชุดที่สาม ได้แก่ข้อที่ห้าบอกว่า เรามีกรรมเป็นของตน ข้อนี้บอกเลยต่อไปอีก คือบอกให้มองดูลึกลงไปในชีวิตของเรา มองยาวไกล ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ดูความเป็นไปของชีวิตนี้ที่ผ่านมาแล้ว ถึงปัจจุบัน แล้วสืบต่อไปในอนาคนจะเป็นอย่างไร ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของกรรม

พร้อมกันนั้นก็บอกให้รู้ว่า มนุษย์เรานี้มีความพิเศษที่เป็นผู้สามารถสร้างเหตุปัจจัยได้ มนุษย์ไม่ใช่เป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างเดียวเท่านั้น ยังสร้างเหตุปัจจัยได้ด้วย นี่เป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์คือการสร้างกรรม

ทีนี้มองต่อไปอีก พอเราทำอะไรลงไปคือทำกรรมแล้ว การกระทำนั้นก็คือเหตุปัจจัยที่เราสร้างขึ้น พอเราสร้างเหตุปัจจัยนั้นแล้ว เหตุปัจจัยนั้นมันก็กลับมาสร้างเรา คือมันหมุนเวียนกลับมาทำให้ชีวิตของเราเป็นไปตามกรรม คือการกระทำที่เป็นเหตุปัจจัยนั้นอีกทอดหนึ่ง

ทางพระท่านจึงบอกว่าเราทำกรรมเสร็จแล้ว เราก็เป็นเจ้าของกรรมของเรา เพราะเราไปทำมันขึ้น สร้างมันขึ้นมา มันเป็นสมบัติของเราอย่างแท้จริง แล้วกรรมของเรานั่นแหละก็ลิขิตชีวิตของเราให้เป็นไปต่างๆ และกรรมของหมู่มนุษย์ตั้งแต่ค่านิยมของสังคมเป็นต้นไป ก็ปรุงแต่งวิถีทางของโลกและสังคมให้เป็นไปตามกระแสของมัน

ข้อสังเกตสำคัญคือ ตอนแรกท่านบอกว่า ชีวิตของเราและทุกสิ่งที่เราเกี่ยวข้องเป็นของไม่เที่ยง ตกอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ ที่เกิดมีขึ้นมาแล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลง และในที่สุดก็เสื่อมสลาย ลับหาย พลัดพรากจากกันไป

แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นก็ไม่ใช่เป็นไปอย่างเลื่อนลอย หากเป็นไปตามเหตุปัจจัย และมนุษย์นั้นมีความสามารถพิเศษที่เป็นผู้สร้างเหตุปัจจัยได้

เพราะฉะนั้น ชีวิตและสังคมจะดีจะร้าย จะเสื่อมจะเจริญก็อยู่ที่มนุษย์ทำการหรือสร้างสรรค์เอา แล้วก็เตือนในที่สุดอีกว่า สิ่งที่เราทำไปแล้วนั้นก็เป็นเหตุปัจจัยที่สร้างสรรค์หรือทำลายชีวิตและสังคมของเราต่อไป

(จากส่วนหนึ่งของหนังสือ “จะสุขแท้ ต้องเป็นไท”)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 143 พฤศจิกายน 2555 โดย พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม)

กำลังโหลดความคิดเห็น