xs
xsm
sm
md
lg

Learn & Share : มาร่วมกันสร้าง “เมืองใจดี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สังคมไทยทุกวันนี้โครงสร้างประชากรกำลังเปลี่ยนแปลง “ภาวะสูงวัย” เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

สำนักงานสถิติแห่งชาติประมาณการว่า อีก 10 ปีข้างหน้าสัดส่วนคนสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) จะมีถึง 17.5% ของประชากรโดยรวม มีครอบครัวจำนวนมากที่จะต้องเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นญาติสนิทมิตรสหายและแม้แต่ตัวเราเองย่อมต้องเข้าสู่วัยชราเข้าสักวัน ด้วยสภาพร่างกายตอนนั้นอาจไม่แข็งแรงไม่คล่องแคล่วว่องไวเหมือนวัยหนุ่มสาวแถมบางคนยังมีโรคเป็นของแถมอีก

ยิ่งบางครอบครัวต้องอยู่ร่วมกับญาติพี่น้องหรือลูกหลานที่มีร่างกายไม่สมบูรณ์ หรือประสบเหตุเป็นผู้พิการ คนที่อยู่ร่วมบ้านก็ต้องคอยช่วยเหลือดูแล คนร่วมบ้านบางคนอาจรู้สึกเป็นภาระในการดูแล

แต่ผมเชื่อว่าผู้ถูกช่วยเหลือเหล่านั้นคงไม่อยากถูกมองว่า “เป็นภาระ” ที่ทำให้คนอื่นเหนื่อยยากวุ่นวายแน่

เมื่อได้มีโอกาสชมรายการ “เมืองใจดี” ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ TPBS ทุกวันจันทร์เวลา 22.00-23.00 น. ก็ขอชื่นชมว่าทำให้เกิดข้อคิดและแรงบันดาลใจให้สังคมอยากช่วยลดปัญหาและป้องกันปัญหาซ้ำเติมที่อาจเกิดกับบ้านกรณีตัวอย่างที่นำเสนอมา 4 ตอนแล้ว

รายการ “เมืองใจดี” ที่มุ่งให้เป็น “บ้านใจดีสำหรับทุกคน” เป็นการสื่อสารขยายความเข้าใจคำภาษาอังกฤษว่า Universal Design ซึ่งเป็นหลักการออกแบบสภาพแวดล้อมของบ้านหรือสถานที่และสิ่งของเครื่องใช้เพื่อให้ทุกคนที่อยู่ในสังคมสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อให้คนร่วมสังคมในบ้านหรือในสถานที่อื่น ได้ใช้งานอย่างสะดวกและปลอดภัย

ทุกๆ ตอนจากรายการนี้ เราได้เห็นผลงานของกลุ่มนักศึกษาจากหลายสถาบันที่ทยอยกันออกแบบและก่อสร้างเพื่อปรับปรุงสภาพบางจุดของบ้านที่มีปัญหาความไม่สะดวกและมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุของผู้สูงอายุและผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย

ก่อนนำแบบไปก่อสร้างและปรับปรุงบ้าน ต้องผ่านการวิจารณ์จากคณะผู้รู้ที่มีทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโครงสร้างและกระดูก สถาปนิก นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรม ซึ่งให้ข้อคิดที่เป็นความรู้และข้อชี้แนะการออกแบบที่ต้องคำนึงถึงการเพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางร่างกาย

รายการนี้จึงให้ทั้งความรู้ในการออกแบบ หลักการปรับปรุงส่วนต่างๆ เพื่อความสะดวกสบายกับคนทุกคนในบ้าน แม้ผู้มีปัญหาทางร่างกายให้พยายามช่วยตัวเองได้ ตัวอย่างบ้านที่มีลูกชายขามีปัญหายืนไม่ได้ต้องใช้การนั่งชันเข่าบนเก้าอี้เล็กๆ แล้วค่อยๆ เลื่อนตัวไป เมื่อนักศึกษาช่วยติดราวจับบนผนังทางเดิน เขาสามารถพยุงตัวขยับขาค่อยเดินได้เองอย่างน่าประทับใจ

บทบาทของ สสส.ในการขับเคลื่อนแนวคิด Universal Design ผ่านรายการ “เมืองใจดี” จะกระตุ้นให้สังคมนึกถึงการออกแบบและปรับปรุงสภาพอาคารสถานที่ โดยนึกถึงผู้มีปัญหาทางร่างกาย และคนในวัยชราให้ใช้ประโยชน์อย่างสะดวกและปลอดภัยกันทุกคน

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 143 พฤศจิกายน 2555 โดย สุวัฒน์ ทองธนากุล E-mail : suwat@manager.co.th)
กำลังโหลดความคิดเห็น