xs
xsm
sm
md
lg

ปุจฉา - วิสัชนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซึมเศร้า หมดหวัง
ซึมเศร้า หมดหวัง

ปุจฉา : กราบนมัสการหลวงปู่ หลวงปู่ครับ

1. เราจะมีวิธีสร้างแรงจูงใจให้รัก เพียรพยายาม เอาใจใส่ ตรวจสอบใคร่ครวญ ในการงานไปตลอด ได้อย่างไรครับ

2. ในการฝึกสตินั้น สำหรับคนที่มีกิเลสมากนั้น ต้องใช้เวลาเท่าไหร่จึงจะได้ผลครับ และมีวิธีใดบ้างที่ฝึกง่ายๆ(ถึงแม้ต้องใช้เวลามากๆ)

3. เราจะใช้ธรรมะข้อใดครับที่ช่วยให้เรารอดพ้นจากความโกรธ หงุดหงิด รำคาญ ได้บ้างครับ

4. อาการซึมเศร้า ท้อแท้ หมดหวัง ในความสามารถของตัวเองนั้น เราจะทำอย่างไรให้เราและคนอื่นๆไม่มีอาการอย่างนี้ครับ

วิสัชนา :

1. มีสติคอยเตือนตนให้สนใจใส่ใจ รักที่จะทำอะไรให้สำเร็จลุล่วงด้วยความจดจ่อ จับจ้อง จริงจัง ตั้งใจ เพียรพยายาม พร้อมกับใช้ปัญญาใคร่ครวญพิจารณาในการงานที่ลงมือกระทำ คำที่พูด สูตรที่คิด

เมื่อกิจกรรมที่ทำแล้วมีผลสำเร็จ เรายิ่งรู้สึกภาคภูมิ ยินดี เหล่านี้ก็เป็นวิธีสร้างแรงจูงใจ ให้เรามีกำลังที่จะทำงานต่อไปอย่างไม่เบื่อหน่าย

2. ฝึกทุกลมหายใจที่เข้าออก จนกว่าชีวิตคุณจะหาไม่ มีสติรู้ลมหายใจเข้า มีสติรู้ลมหายใจออก นี่เป็นวิธีที่ง่ายและไม่ต้องอาศัยพิธีกรรมใดๆ

3. สติ เมตตา ปัญญา

4. เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะคุณไม่มีสติรู้เท่าทันอารมณ์ที่ปรากฏแก่คุณ เมื่อไม่รู้เท่าทัน ก็ระงับอารมณ์นั้นๆไม่ได้ ผลก็จะเป็นอย่างที่คุณกล่าว

อีกอย่างหนึ่ง การซึมเศร้า ท้อแท้ และหมดหวัง อาจจะเกิดจากความทะยานอยาก ตัณหา และอุปาทาน คือความยึดติด เกิดการแปรเปลี่ยน เหล่านี้เป็นเหตุให้เกิดอาการซึมเศร้า ท้อแท้ และความหมดหวังทั้งนั้น

สิ่งที่แก้ได้ดีที่สุดคือ สติ สมาธิ ปัญญา


รู้โดยนิมิตร

ปุจฉา : กราบนมัสการหลวงปู่เจ้าค่ะ ถ้าหากว่าเราเกิดรับรู้ว่า เราเคยเกี่ยวพันกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง โดยรับรู้ด้วยนิมิตรหรือความรู้สึกที่ผ่านทางจิต เราจะสามารถพิสูจน์ได้หรือไม่ ว่าสิ่งที่เราได้รับรู้นั้น จริงหรือไม่ โดยวิธีใด

วิสัชนา : ประโยชน์อันใดที่คุณจะไปใส่ใจกับเรื่องที่ผ่านมา และวิตกถึงแต่เรื่องที่ยังมาไม่ถึง พร้อมทั้งปล่อยให้ปัจจุบันของคุณกลายเป็นความบกพร่องผิดพลาด เสียหาย

อย่าไปให้ความสำคัญกับเรื่องที่ผ่านไปแล้วมากเกินไปนัก ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด นั้นคือคำแนะนำของท่านผู้รู้ทั้งหลาย

แต่ถ้าคุณอยากจะพิสูจน์จริง ก็ต้องเจริญสติในหลักมหาสติปัฏฐานสูตรให้มากๆ จนเกิดสติรับรู้ลมหายใจทั้งเข้าและออก แล้วสิ่งที่คุณอยากรู้ ก็จะได้รู้สมปรารถนา


ใส่บาตรวันไหนดี

ปุจฉา : หลวงปู่ครับ มีคนมักจะพูดเสมอว่า การใส่บาตรในวันพระนั้น จะให้ผลบุญแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว มากกว่าการใส่บาตรในวันธรรมดา(ที่ไม่ใช่วันพระ) เท็จจริงหรือไม่ประการใดครับ

วิสัชนา : เป็นความเชื่อของคนเหล่านั้น ซึ่งเชื่อกันว่า วันโกน วันพระ คือวันที่นรกภูมิได้ปลดปล่อยให้วิญญาณมาเยี่ยมญาติในโลกมนุษย์ พวกเขาจึงคิดว่าทำบุญตักบาตรในวันโกนวันพระ เป็นการทำบุญให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้วโดยตรง ที่เรียกเป็นภาษาทางวิชาการว่า เปรตพลี

แต่ความเชื่อในพระพุทธศาสนาสอนให้เชื่อว่า การทำบุญบริจาคทาน คือ การทำลายความตระหนี่คับแคบ เห็นแก่ตัว ละโมบโลภมาก อิจฉาริษยา ที่มีอยู่ในใจในกายตนให้ลดน้อยถดถอยลงไป ด้วยการให้โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน

และเมื่อจะให้ด้วยมุ่งหวังว่า ขอญาติและสัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุข ก็ไม่จำเป็นต้องเลือกวัน เวลา นาที เดือน ปี หรือโอกาส ผู้มีจิตเมตตาที่จะให้ น่าจะให้ได้ทุกโอกาสที่นึกได้

ส่วนที่บอกกันว่า ในวันพระวันโกน รู้จักทำบุญใส่บาตร บริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เข้าวัด ฟังธรรม นั้น คนโบราณท่านต้องการสอนให้รู้ว่า ภายใน 7 วันที่ผ่านพ้นและมีชีวิตอยู่ เราอาจจะทำดีบ้างไม่ดีบ้าง ด้วยความรู้เท่าทันหรือไม่รู้เท่าทันก็ตาม

ก็ขอให้มี 1 วันภายใน 1 สัปดาห์ที่ตั้งใจคิดดี พูดดี ทำดี ด้วยหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเอื้ออารี และเป็นดีที่มีในใจ ชีวิตจะได้รู้สึกโล่ง โปร่ง เบาสบาย ผ่อนคลายจากมลภาวะ และปัญหาที่หมักหมม


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 143 พฤศจิกายน 2555 โดย หลวงปู่พุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม)
รู้โดยนิมิตร
ใส่บาตรวันไหนดี
กำลังโหลดความคิดเห็น