Spice Up WorkLife โดย กัณฑรัตน์ เจิมจิตรผ่อง บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
มีโอกาสได้เห็นถึงสำนวนสุภาษิตไทยอยู่ประโยคหนึ่งทำให้คิดขึ้นมาว่า ปัจจุบันสำนวนสุภาษิตเหล่านี้หายไปไหน บางสำนวนฟังแล้วโดนใจ และอยากให้ทุกคนลองนำกลับมาใช้เมื่อต้องทำงานร่วมกันในคนหมู่มากบ้าง แต่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ “ยัง เจเนอเรชัน” (Young Generation) ทั้งหลายอาจงง เพราะไม่เคยได้ยิน หรืออาจมีบ้างที่เคยได้ยินจากผู้ใหญ่พูด แต่ไม่เข้าใจความหมาย
ก็ต้องยอมรับว่าบางสำนวนมีความซับซ้อนและเล่นคำจนอาจเข้าใจได้ยากจริงๆ แต่ครั้งนี้อยากนำสำนวนสุภาษิตง่ายๆ ที่ได้ยินกันอยู่บ่อยๆ มาพูดคุยกัน เนื่องจากมองว่าการทำงานร่วมกันในยุคนี้ บางครั้งขาดบางเรื่องเหล่านี้ไป เหมือนมองข้ามในสิ่งพื้นฐานที่ทำได้ง่ายๆ จนก่อให้เกิดปัญหาในการทำงานเรื้อรัง
“สำนวน” เป็นประโยคหรือใจความสั้นๆ ให้จำได้ง่าย ส่วน “สุภาษิต” คือ ข้อความเปรียบเปรยที่เป็นเหมือนคำสอนที่จะให้คนนำไปปฏิบัติหรือสอนให้ละเว้นถ้าเป็นอะไรที่ไม่ดี ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ดูแล้วก็คล้ายกัน
“เอาใจเขามาใส่ใจเรา” น่าจะเป็นสิ่งแรกที่อยากให้ทุกคนติดตัวไว้ เพราะสำนวนนี้เน้นให้คนตระหนักว่าเมื่ออยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะสถานะใด สามี-ภรรยา พี่-น้อง หรือเพื่อนร่วมงาน ฯลฯ แต่ละคนควรจะมีความเห็นใจซึ่งกันและกัน
ความหมายก็บ่งบอกชัดเจน เข้าใจไม่ยาก แต่คนเดี๋ยวนี้กลับไม่ค่อยคิดถึงเรื่องนี้เสียเท่าไหร่ มักถือเอาเรื่องของตนเองสำคัญเป็นอันดับแรกเสมอ จนบางครั้งลืมนึกว่างานของคนอื่นก็มีความสำคัญเช่นกัน หรือบางครั้งความบาดหมางในองค์กรก็เริ่มจากความไม่เข้าใจในลักษณะงานซึ่งกันและกันนั่นเอง เพราะต่างฝ่ายต่างคิดว่าอีกฝ่ายต้องทำให้ได้ตามที่เราต้องการ คิดกันอยู่แบบนี้แล้วเมื่อไหร่จะลงตัว
เคยมีตัวอย่างให้เห็นอยู่บางฝ่ายที่ถือเป็นฝ่ายที่ต้องสนับสนุนทุกหน่วยงานในบริษัท คือ การเงินและบัญชี กับไอที สองฝ่ายนี้มักเป็นฝ่ายที่คนเรียกหามากที่สุด และก็มีคนไม่ค่อยเข้าใจลักษณะการทำงานของพวกเขามากที่สุดเหมือนกัน
พูดถึงฝ่ายการเงินและบัญชี หน้าที่หลักก็ตรงตัวตามชื่อ คือรับผิดชอบในการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของการบันทึกรายการการใช้จ่าย และการจัดเก็บเอกสารทางบัญชี แต่ทุกวันก็จะมีปัญหาเกี่ยวกับการส่งเคลียร์เอกสารทางการเงินจากฝ่ายอื่นเป็นประจำ บางครั้งครบบ้างไม่ครบบ้าง ถูกบ้าง ผิดบ้าง ก็ต้องมีการตามเรื่องเพื่อให้ได้มาซึ่งความสมบูรณ์ของเอกสาร แต่ฝ่ายที่ถูกตามก็มักจะไม่เข้าใจ คิดเพียงแต่ว่าการเงินและบัญชีนี่ทำให้พวกเขาต้องเสียเวลา
นั่นเป็นเพราะฝ่ายอื่นไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานที่ฝ่ายนี้ต้องดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างเคร่งครัด การที่ต้องขอเอกสารประกอบเป็นลายลักษณ์อักษรว่าค่าใช้จ่ายนั้นเกิดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ก็เพียงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทนั่นเอง
ส่วนฝ่ายไอทีก็น่าเห็นใจ หน้าที่รับผิดชอบก็เรียกว่าทั้งหมดที่เกี่ยวกับ Information Technology แต่ที่ฝ่ายอื่นมักเรียกหาและใช้บริการมากที่สุดก็คือ มักขอให้ช่วยแก้ปัญหาเมื่อคอมพิวเตอร์ใช้งานไม่ได้ ซึ่งแต่ละคนที่แจ้งปัญหามาก็มีความรุนแรงของปัญหาต่างกัน แต่เท่าที่ฝ่ายไอทีเขาสรุปได้คือมีอยู่ 3 ระดับ คือ ด่วน ด่วนมาก และด่วนที่สุด
ก็น่าเห็นใจ เพราะทุกคนอ้างเหตุผลเหมือนกันหมดคือ “ขอแก้ไขด่วน ต้องรีบใช้งานด่วน” แล้วบางองค์กรมีช่างเทคนิคด้านนี้อยู่ไม่กี่คนแต่ต้องรองรับพนักงานทั้งบริษัท แล้วอย่างนี้จะทำทันได้ยังไง ซึ่งก็ทำให้ปัญหาของบางคนไม่ถูกแก้ไขในเวลาที่ควรจะเป็น ทีนี้ก็เป็นเรื่องเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น หากผู้เกี่ยวข้องหรือเจ้าของเครื่องเข้าใจข้อจำกัดเหล่านี้ ก็น่าจะรอได้ตามลำดับการแจ้งปัญหา แค่นี้ก็ไม่ต้องหงุดหงิดทั้งสองฝ่าย
แต่ปัญหานี้มีหนึ่งวิธีพอจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ จัดกิจกรรม “บทบาทสมมติ” (Role Play) ขึ้น คือลองให้ฝ่ายอื่นที่มักไม่เข้าใจบทบาทการทำงานของทั้งสองฝ่ายนี้มาสลับหน้าที่แทนกันซัก 2 อาทิตย์ เพราะการทำเช่นนี้จะทำให้ฝ่ายที่เคยรู้สึกถึงความยุ่งยากของการปิดงบบัญชีการเงิน กับฝ่ายที่เคยแต่ตัดพ้อเวลาที่ไอทีมาแก้ปัญหาคอมพิวเตอร์ของตนไม่ทันตามกำหนดที่ตั้งไว้ (ว่าควรเร็วที่สุดเสมอ)
เข้าใจได้ว่าทั้งสองฝ่ายไม่อยากให้เกิดปัญหาในการทำงานใดๆ ทั้งนั้น แต่ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายที่ได้รับมอบหมาย เพราะจริงๆ การทำงานให้ทุกฝ่ายสัมพันธ์กัน แค่พึ่งพาอาศัยกัน มองเป้าหมายขององค์กรเหมือนกัน เหมือนสุภาษิตที่ว่า “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” เท่านี้กลไกการทำงานก็ลื่นไหลไม่สะดุดแล้ว
หรือบางครั้ง เมื่อเราไม่ได้ดั่งใจเวลาที่ต้องทำงานร่วมกับคนอื่น หรือเมื่อคนอื่นมีความคิดเห็นไม่เหมือนกับเรา ซึ่งก็คงต้องมีบ้าง ต่างคนต่างความคิด แต่หลายครั้งกลับมัวแต่ทะเลาะกันเพียงเพื่อจะยืนยันว่าความคิดของตนถูก (เสมอ) จนสุดท้ายบานปลายเป็นทะเลาะกันเพราะไม่มีใครยอมใคร
เรื่องแบบนี้ก็ต้องรู้จักระงับอารมณ์กันเสียบ้าง เพราะสุภาษิตก็มีบอกไว้ “น้ำขุ่นไว้ใน น้ำใสไว้นอก” หมายถึง ให้แต่ละคนรู้จักเก็บความรู้สึกที่ไม่ดีไว้ แล้วฟังเหตุผลของฝ่ายตรงข้ามก่อน ว่าที่เขามีความคิดเห็นแบบนี้เพราะอะไร คุยกันแบบ “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” ลองทำใจร่มๆ เปิดใจรับฟัง นั่งคุยกันดีๆ น่าจะหาข้อสรุปได้ หรือถ้าตกลงกันไม่ได้จริงๆ ให้บุคคลที่สามเข้ามาช่วยตัดสินดูก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร ดีกว่าเถียงกันคอเป็นเอ็น สุดท้ายก็ยังต้องทำงานร่วมกันอยู่ดี (ถ้าอีกฝ่ายทนไม่ไหวจนคิดจะลาออกก่อน)
ที่ลืมไม่ได้คือ “คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย” และสามคนยิ่งทำงานสบาย การทำงานร่วมกัน แชร์ความคิดเห็นซึ่งกันและกัน งานยากแค่ไหนก็ผ่านฉลุย