xs
xsm
sm
md
lg

นักเขียนชื่อดัง “ฮารุกิ มุราคามิ” โดดร่วมวงพิพาทหมู่เกาะ-เตือนจีนอย่าสุมไฟ “ชาตินิยม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฮารุกิ มุราคามิ นักเขียนนวนิยายชาวญี่ปุ่น วัย 63 ปี
เอเอฟพี - ฮารุกิ มุราคามิ นักเขียนนวนิยายชื่อก้องโลกชาวญี่ปุ่น กระโดดร่วมวงสงครามน้ำลายว่าด้วยหมู่เกาะพิพาทในทะเลจีนตะวันออก วันนี้(28) โดยฝากเตือนถึงอันตรายของนักการเมืองที่ปลุกกระแสชาตินิยม ซึ่งเขาเปรียบว่าเป็นเสมือน “เหล้าราคาถูก”

คำพูดของ มุราคามิ ถูกเผยแพร่ หลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หยาง เจียฉือ กล่าวหาญี่ปุ่นว่าเป็น “ขโมย” กลางเวทีประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ ท่ามกลางปัญหาอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเซ็งกากุหรือเตี้ยวอี๋ว์ที่ยังไม่มีทีท่าจะยุติลง

นักเขียนผู้แต่งนวนิยายเรื่อง “Norwegian Wood” ยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายระงับอารมณ์โกรธเอาไว้

มุราคามิ ซึ่งเขียนคอลัมน์ลงหนังสือพิมพ์แนวเสรีนิยม อาซาฮี ชิมบุน และถูกคาดหมายว่าจะเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลในอนาคต ระบุว่า ข้อพิพาทดินแดนทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะการแบ่งแยกมนุษยชาติออกเป็นประเทศด้วยเส้นพรมแดน

“เมื่อใดที่ข้อพิพาทเขตแดนเริ่มมีความรู้สึกชาตินิยมเข้ามาเกี่ยวข้อง จะเกิดเป็นสถานการณ์รุนแรงที่ไม่มีทางออกได้... เหมือนเหล้าราคาถูกที่ดื่มไปนิดหน่อยก็เมา และทำให้คุณเสียสติ”

“มันทำให้คุณโวยวายและแสดงพฤติกรรมหยาบคายออกมา แต่พอสร่างเมาแล้วก็ไม่เหลืออะไร นอกจากปวดหัวแทบบ้าในเช้าวันรุ่งขึ้น”

“เราควรระวังพวกนักการเมืองหรือนักโต้คารมทั้งหลายซึ่งเอาเหล้าถูกๆมาแจก และโหมกระพือความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้น”

การอ้างอธิปไตยเหนือหมู่เกาะเซ็งกากุซึ่งไร้ผู้อยู่อาศัย เป็นต้นเหตุความบาดหมางระหว่างจีนกับญี่ปุ่นมานานหลายสิบปี โดยญี่ปุ่นถืออำนาจปกครองอยู่ตามกฎหมาย แต่จีนก็อ้างกรรมสิทธิ์โดยเรียกหมู่เกาะเดียวกันนั้นว่า เตี้ยวอี๋ว์

ปัญหาดังกล่าวกลับมาปะทุรุนแรงในปีนี้ หลังจากผู้ว่าการกรุงโตเกียวเสนอให้ใช้เงินทุนสาธารณะมาทุ่มซื้อและพัฒนาหมู่เกาะเซ็งกากุ ส่วนรัฐบาลโตเกียวก็เดินหน้าซื้อเกาะจากเจ้าของเอกชนมาเป็นของรัฐเรียบร้อยแล้ว

ล่าสุดวันนี้(28) รัฐมนตรีต่างประเทศ หยาง เจียฉือ ของจีนกล่าวประณามกลางเวทีสหประชาชาติว่าญี่ปุ่นขโมยดินแดนของปักกิ่ง

“สิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นทำถือว่าผิดกฎหมายเต็มๆ และไม่มีผลใดๆทั้งสิ้น... พวกเขาไม่อาจเปลี่ยนความจริงทางประวัติศาสตร์ได้ว่าญี่ปุ่นเป็นผู้ขโมยเกาะเตี้ยวอี๋ว์และหมู่เกาะใกล้เคียงไปจากจีน และจีนมีอธิปไตยเหนือเกาะเหล่านั้น”

มุราคามิ ผู้โด่งดังไปทั่วโลกจากผลงานนวนิยายที่เสนอความไม่สมเหตุสมผลและความโดดเดี่ยวของชีวิตมนุษย์ในยุคใหม่ เคยออกมาวิจารณ์สถานการณ์ความขัดแย้งเช่นนี้มาแล้ว โดยเมื่อเดินทางไปรับรางวัล เยรูซาเล็ม ไพร์ซ ในปี 2009 เขาได้พูดถึงปัญหาตะวันออกกลางที่คร่าชีวิตคนบริสุทธิ์ไปมากมายว่า “หากมีกำแพงที่สูงใหญ่และแข็งแรง กับไข่ 1 ใบที่แตกเมื่อกระทบกำแพงนั้น ไม่ว่ากำแพงจะเป็นฝ่ายถูกแค่ไหน หรือไข่จะผิดอย่างไรก็ตาม ผมจะเลือกอยู่ข้างไข่”

นวนิยายเรื่อง Kafka on the Shore และ The Wing-Up Bird Chronicle ของ มุราคามิ ได้รับการถ่ายทอดสู่ 40 ภาษา และเขายังมีแฟนนักอ่านมากมายทั้งในจีน, เกาหลีใต้ และไต้หวัน

มุราคามิ ได้รับรางวัล Franz Kafka prize ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดสาขาวรรณกรรมจากสาธารณรัฐเช็ก เมื่อปี 2006 และได้รับรางวัลOrder of Arts and Letters จากรัฐบาลสเปน ในปี 2010
กำลังโหลดความคิดเห็น