“อาจิน แซ่ตั้ง” เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่เข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทยเมื่อ 60 กว่าปีก่อนนั้น เขายึดค่านิยมของชาวจีนที่ปลูกฝังมาจากบรรพบุรุษให้ขยัน อดทน ซื่อสัตย์ เมตตา และที่สำคัญคือหมั่นสร้างบุญกุศล ส่งผลถึง “เดชา ตั้งสิน” ลูกชายคนที่สองของเขาที่ซึมซับและยึดตามรอยทางที่พ่อทำไว้ ทำให้เดชาในวันนี้ กลายเป็นนักธุรกิจที่มีความสุขภายใต้ธุรกิจที่มั่นคง และครอบครัวที่อบอุ่น
• ชีวิตสมถะแบบ “ตั้งสิน”
“เดชา ตั้งสิน” ซีอีโอ บริษัท แม่น้ำ เรสซิเดนท์ จำกัด เล่าย้อนให้ฟังถึงรากของตระกูล “ตั้งสิน” ว่า
“คุณพ่ออาจินมาจากเมืองจีนแถวซัวเถา คุณแม่เป็นคนแต้จิ๋ว พ่อผมอพยพมาอยู่เมืองไทยโดยไปตั้งรกรากอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี ก่อนจะย้ายมากรุงเทพฯ ตอนนั้นผมก็เริ่มโตแล้ว พวกเราพี่น้องก็ต้องช่วยงานพ่อกับแม่ ธุรกิจแรกที่ทางบ้านทำคือขายอุปกรณ์ประปา ตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีร้านที่ขายอุปกรณ์ประปาอย่างเราเลย เรียกได้ว่าเราเป็นร้านแรกๆ ในย่านวรจักร จากนั้นก็ขยับมาทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างห้องแถว ก่อนจะมาจะจับธุรกิจโรงแรม”
แม้ว่าในขณะนั้นครอบครัวตั้งสินจะเริ่มมีฐานะดีขึ้นตามลำดับ โดยเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมมิตรพันธ์ ที่วงเวียน 22 กรกฎา ซึ่งถือเป็นโรงแรมแห่งแรกที่มีลิฟต์ จากนั้นก็มาสร้างโรงแรมราชศุภมิตร (ปัจจุบันเป็นโรงแรมรอยัล ปริ้นเซส หลานหลวง) และโรงแรมแม่น้ำ เจริญกรุง
แต่อาจินและครอบครัวก็ดำรงชีวิตแบบสมถะ ชีวิตของเดชากับพี่น้องทุกคนนอกจากเรียนหนังสือแล้ว ยังต้องเข้ามาช่วยงานครอบครัวด้วย ทำให้เขารู้ว่า งานทุกอย่างมีคุณค่า นอกจากได้ประสบการณ์แล้วยังได้รู้จักคุณค่าของเงิน ที่กว่าจะได้มาแต่ละบาทแต่ละสตางค์นั้นยากลำบากมาก
“พ่อจะสอนให้รู้จักคุณค่าของเงิน ตอนผมเรียนมหาวิทยาลัย พ่อให้คิดเลยว่าต้องใช้เงินเท่าไร แล้วก็ให้เงินมาก้อนหนึ่งมาบริหาร ใช้เป็นทั้งค่าเทอม ค่าหนังสือ เสื้อผ้า จนกว่าจะเรียนจบ คือถ้าบริหารไม่ดีเราก็เรียนไม่จบ ตอนนั้นผมต้องประหยัดทุกอย่าง แต่ในที่สุดผมก็เรียนจบด้วยเงินก้อนนั้น แถมยังมีเงินเหลืออีกด้วย”
การปลูกฝังให้ลูกๆ รู้จักหาความรู้ใส่ตัว ขยันทำมาหากิน โดยไม่หวังพึ่งมรดกที่ครอบครัวสร้างมา ทำให้ครอบครัวตั้งสินที่สืบทอดมาจนถึงรุ่นที่ 3 กลายเป็นครอบครัวที่ใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อเหมือนเศรษฐีทั่วไป
• ให้โอกาสคน คือกุศลที่ยิ่งใหญ่
แม้จะเป็นคนจีนที่มาตั้งรกรากในเมืองไทย แต่พ่อของเขาก็ไม่เคยลืมเรื่องการทำบุญ การแบ่งปันต่อผู้ยากไร้ที่รับการถ่ายทอดมาจากผู้เป็นย่า ซึ่งเดชาเล่าว่า
“คุณพ่อจะเป็นคนธัมมะธัมโม ชอบทำบุญ ตั้งแต่สมัยท่านยังหนุ่ม ตอนเป็นเด็กผมจะคุ้นเคยกับคุณพ่อและคุณแม่ที่หมั่นทำบุญตลอด ใส่บาตรพระ พอมีเวลาว่างก็พาผมกับพี่ๆน้องๆไปทำบุญที่วัด สิ่งนี้ก็เลยได้ติดตัวมา พอเข้าวัดแล้วเราก็สงบนิ่ง”
เดชายังบอกอีกว่า พ่อของเขาเป็นคนใจดี ให้โอกาสคนเสมอ เพราะเชื่อว่าไม่มีใครอยากทำผิด การที่คนคนหนึ่งจะทำผิด แสดงว่าต้องมีเหตุผล หากไม่รับฟังเหตุผล และไม่เปิดโอกาสให้เขาได้แก้ไขความผิดที่กระทำ เท่ากับเป็นคนใจแคบ
“เวลาที่ลูกน้องทำผิด พ่อผมจะถามถึงสาเหตุที่ทำผิด และให้โอกาสปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้เขาได้มีโอกาสใช้ชีวิตในสังคมต่อไป ลูกน้องที่บ้านก็ทำงานอยู่กับครอบครัวผมยาวนานเกือบสามสิบปี ส่วนพนักงานที่โรงแรมแม่น้ำแห่งนี้ก็ทำงานอยู่กับเรามานานเกิน 20 ปี เกือบร้อยคนแล้ว คือเราจะอยู่กันอย่างครอบครัวใกล้ชิดกัน มีปัญหาเรียกมาสอบถามและให้โอกาส หากไม่ปรับปรุงก็ต้องปล่อยเขาไป”
• “ศีล-ทาน” เป็นหลักการดำรงชีวิต
เรื่องศีล 5 เป็นอีกเรื่องที่พ่อของเดชาให้ความสำคัญ ทุกวันนี้เดชายังคงปฏิบัติตนรักษาศีล 5 ครบทุกข้อ โดยเฉพาะการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวและสังคมรอบข้าง และเขาก็นำมาสอนลูกๆของตัวเองด้วย
“พ่อผมเป็นพ่อค้า ผมจำได้พ่อจะบอกเสมอว่า...คนเรารักษาศีล 5 ได้ ก็จะไม่ทำให้เราไปหลงกับสิ่งที่เป็นอโคจร หรืออบายมุข ทุกวันนี้เราไม่โกหกเขา ไม่ขโมยของเขา ไม่ทำร้ายเขา ไม่ไปนอกใจเขา ไม่กินเหล้าแล้วมีปากเสียงกัน อย่างน้อยมันก็ทำให้ชีวิตดี และก็สืบทอดไปถึงลูกๆ โดยอัตโนมัติด้วย เพราะเป็นหลักธรรมคำสอนง่ายๆ ที่คนทั่วไปสามารถนำมาปฏิบัติและปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ทุกสถานการณ์”
นอกจากนี้ครอบครัวตั้งสินตั้งแต่รุ่นคุณพ่ออาจิน สืบทอดมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน ยังตั้งมั่นในการบริจาคทานเป็นกิจวัตรมิได้ขาด โดยเฉพาะการคืนให้กับชุมชนที่อยู่รอบๆ โรงแรมแม่น้ำ เจริญกรุง
โดยย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ย่านเจริญกรุงอันเป็นที่ตั้งของโรงแรมแม่น้ำในปัจจุบัน ยังไม่เจริญเท่าปัจจุบัน เมื่ออาจินได้ปักหลักสร้างโรงแรมแม่น้ำให้เป็นโรงแรมขนาดใหญ่ในย่านนี้ รอบๆ โรงแรมยังเป็นชุมชนแออัด เขาจึงเริ่มประเพณี “ทิ้งกระจาด”
“คุณพ่อมีนโยบายมาว่า เราอยู่ที่นี่ต้องคืนให้สังคมมีความสุข ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อทุกๆปี จึงมีวันทิ้งกระจาด ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลา 26 ปีแล้ว” เดชากล่าว
งานทิ้งกระจาดเป็นประเพณีทำบุญของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ทุกปีครอบครัวตั้งสินและพนักงานโรงแรมแม่น้ำจะช่วยกันจัดงานบุญทิ้งกระจาดอย่างยิ่งใหญ่ในย่านนี้ สิ่งของที่ใช้แจกทานมีทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง เกือบพันชุด เพื่อแจกให้กับผู้อาศัยในชุมชนยากจนที่อยู่รอบๆ โรงแรมแม่น้ำ ไปจนถึงคนยากจนทั่วไปที่จะมารับสิ่งของทุกปี
• สานต่อบุญ ใน “มูลนิธิตั้งสินอุปถัมภ์”
นอกจากงานสาธารณประโยชน์ที่กล่าวไปแล้ว ประมุขของครอบครัวยังมีปณิธานมุ่งมั่นในเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่เด็กยากจน โดยเดชากล่าวว่า
“คุณพ่อชอบสร้างโรงเรียนและบริจาคเงิน เพื่อช่วยการศึกษาให้เด็กยากจน โดยเฉพาะที่วัดสระแก้ว เราจะให้ทุนการศึกษาเด็กเรียนดีที่ยากจน ตรงนี้พ่อผมให้ความสำคัญมากเลย ท่านบอกว่าทุกคนควรมีความรู้ติดตัว การให้เขาได้มีความรู้มีการศึกษาจะช่วยให้เขาสามารถไปประกอบอาชีพได้ ไม่เป็นภาระกับสังคม
คนแถวนี้พอรู้ เขาก็จะบอกต่อๆกัน มีหลายคนเข้ามาขอทุน เราเต็มใจให้ แต่ก็ต้องตรวจสอบว่าพ่อแม่ยากจนและเด็กมีความตั้งใจมากน้อยแค่ไหน ถ้าเขาตั้งใจอยากเรียน เราก็พร้อมที่จะให้ทุนเขา”
ดังนั้น เมื่อมีนโยบายเรื่องการทำบุญเพื่อสาธารณกุศลอยู่เป็นประจำ จึงมีการก่อตั้ง “มูลนิธิตั้งสินอุปถัมภ์” ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออุปการะและให้ทุนการศึกษาเด็กกำพร้าวัดสระแก้ว ที่เรียนดีแต่ยากจน โดยเด็กที่ได้รับทุนจะได้เข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ ตั้งแต่มัธยมปลายไปจนถึงระดับปริญญา ซึ่งมูลนิธิจะอุปการะค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตั้งแต่ค่าเทอม เสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน รวมทั้งมีหอพักที่สร้างขึ้นสำหรับเป็นที่พักของเด็กนักเรียนทุนเหล่านี้ ซึ่งแต่ละรุ่นทางมูลนิธิจะรับอุปการะ 30-50 คนต่อปี จนถึงปัจจุบันนี้ มูลนิธิได้มอบโอกาสในการศึกษาแก่เด็กยากจนไปแล้วกว่า 500 คน คิดเป็นจำนวนเงินหลายร้อยล้านบาทแล้ว
“เราให้เขาเรียนเต็มที่ คนที่ตั้งใจเรียนและเรียนดี เราก็ส่งให้เรียนจนจบปริญญาตรี บางคนสามารถเรียนต่อไปถึงปริญญาโทก็มี”
• สร้างรอยยิ้มให้เด็กน้อยผู้ด้อยโอกาส
วันเด็กเป็นอีกวันที่เดชาให้ความสำคัญ เพราะเขาเห็นว่า วันเด็กมีปีละครั้ง และเป็นวันที่เด็กๆ ควรจะได้รับความสุขเต็มที่ แต่ก็ยังมีหลายครอบครัวที่พ่อแม่ยากจนต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ ไม่สามารถจะพาลูกไปเที่ยวได้ ทุกๆปีเขาจึงใช้พื้นที่ในมูลนิธิ จัดงานวันเด็กให้เด็กได้มีโอกาสมาแสดง มาเล่น มากินขนม บางปีก็มีพวกดารา คนดังๆมาร้องเพลง แจกขนมให้เด็กๆ
“วันนั้นจะเป็นวันที่ผมความสุข คือ เราได้เห็นรอยยิ้มของเด็ก ได้เห็นรอยยิ้มของคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ที่เขาเห็นลูกมีความสุข บอกตรงๆ ผมเห็นคนมีความสุขตรงนี้แล้ว เราดีใจมีความสุขไปกับเขาด้วย”
เดชายังบอกอีกว่า การสร้างประโยชน์สุขให้เกิดกับสังคม ถือเป็นการทำบุญประเภทหนึ่งที่ทั้งผู้ให้และผู้รับมีความสุขใจไปพร้อมๆกัน หรือเรียกได้ว่าเป็นการคืนกำไรให้กับสังคม โดยไม่ได้หวังผลตอบแทนใดๆ
ความสำคัญของการเป็นผู้ให้ คือ ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และมีความสุขทุกครั้งที่ได้ให้ เช่นเดียวกับครอบครัวตั้งสินที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมเสมอมา จากรุ่นหนึ่ง สู่รุ่นสอง และปลูกฝังค่านิยมในการเป็น “ผู้ให้” กับทายาทรุ่นสาม คือ ลูกๆ ของเดชานั่นเอง
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 143 พฤศจิกายน 2555 โดย วรกัญญา)