เป็นที่เข้าใจทั่วไปว่า มะเร็งเป็นโรคร้ายที่น่ากลัว และเป็นเหตุการณ์เสียชีวิตอันดับหนึ่งของประเทศไทย
แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่า การป้องกันอันตรายจากโรคมะเร็งนั้น สามารถทำได้ การตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มแรกจะมีประโยชน์มาก เพราะลักษณะธรรมชาติของโรคมะเร็งส่วนใหญ่นั้น ในระยะเริ่มแรกโรคมักจะเกิดอยู่เฉพาะที่ โดยใช้ระยะเวลาในการก่อตัวนานพอสมควร ในระยะนี้อาจเริ่มมีการลุกลามไปในเนื้อเยื่อปกติบ้าง แต่ยังไม่ทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย ดังนั้น หากสามารถตรวจพบโรคร้ายได้ตั้งแต่ในระยะนี้ ก็จะสามารถรักษาให้หายขาดได้
แต่เนื่องจากโรคในระยะนี้ ยังไม่ทำให้เกิดอาการหรือความผิดปกติให้เห็น ผู้ป่วยจึงมักไม่ให้ความสนใจในการตรวจหา ทั้งๆที่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด
ภาระการตรวจหาโรคมะเร็งในระยะเริ่มแรก ถูกมองว่าเป็นบทบาทของแพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ เช่น พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ด้วยความกลัว ด้วยภาระทางเศรษฐกิจ ด้วยความไม่คุ้นเคยต่อการไปพบแพทย์ในขณะที่ยังไม่มีอาการ จึงทำให้ถูกมองข้าม และไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเมื่อมีอาการแล้ว ทำให้การค้นพบมักจะเป็นในระยะลุกลาม ทำให้โอกาสการหายลดลงตามลำดับ
ดังนั้น ในกรณีที่ท่านยังไม่สะดวก และยังต้องการที่จะพบแพทย์ แต่มีความสนใจที่จะป้องกันโรคมะเร็งแล้ว อาจเริ่มต้นตรวจร่างกายด้วยตนเองได้ ตามขั้นตอนง่ายๆ ซึ่งในระยะเริ่มแรก อาจพบว่าการตรวจเหล่านี้ ออกจะยุ่งยากกินเวลา และมักทำให้เกิดความสงสัย ไม่แน่ใจอยู่เสมอ แต่เมื่อได้ปฏิบัติเป็นประจำจนเกิดความคุ้นเคยแล้ว จะใช้เวลาไม่นานนัก แต่จะให้ประโยชน์คุ้มค่า ที่จะลดอันตรายจากโรคมะเร็งได้ระดับหนึ่ง โดยเมื่อเกิดความสงสัยในตำแหน่งใด จึงจะไปรับการตรวจจากแพทย์เพื่อความแน่ใจอีกครั้ง
การตรวจอาจแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การตรวจร่างกายทั่วไป เพื่อเป็นการตรวจดูความสมบูรณ์ขั้นพื้นฐานของร่างกาย และการตรวจเฉพาะส่วน
• การตรวจความสมบูรณ์ขั้นพื้นฐานของร่างกาย
การตรวจความสมบูรณ์ขั้นพื้นฐานนี้ ไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ว่าเป็นโรคมะเร็ง หรือป่วยเป็นโรคอะไร หากเป็นแต่เพียงการสำรวจความสมบูรณ์ขั้นพื้นฐานของร่างกาย ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานของอวัยวะต่างๆ แต่ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยมะเร็งอาจจะมีความผิดปกติที่แสดงออกมาในลักษณะของอาการทั่วๆไป เช่น ซีด อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด หรือตาเหลืองตัวเหลือง เป็นต้น ซึ่งวิธีการตรวจง่ายๆ สามารถกระทำได้ดังนี้
1. ดูความสดชื่นหรือความสมบูรณ์ของร่างกาย ผู้ป่วยมะเร็งมักจะรู้สึกว่า ร่างกายของตนเองไม่แข็งแรง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ไม่มีแรง หรือเบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร
2. ชั่งน้ำหนักตัวเป็นประจำ หากน้ำหนักตัวลดลงมากผิดปกติ โดยไม่ได้ทำการลดน้ำหนัก มักจะเป็นลักษณะของโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น วัณโรคมะเร็ง หรือต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น ควรพบแพทย์เพื่อตรวจค้นหาสาเหตุ
3. ตรวจดูอาการซีด โดยยืนหน้ากระจก และดึงหนังตาล่างลง เพื่อดูบริเวณเปลือกตาด้านใน จะสังเกตได้ว่า ในภาวะปกติ เยื่อบุบริเวณนี้จะมีสีชมพูออกแดง ความซีดจางของบริเวณนี้ อาจบอกได้โดยอาศัยการเปรียบเทียบกันในหมู่เพื่อนๆ ก็จะสามารถบอกได้คร่าวๆ ถึงภาวะโลหิตจาง ซึ่งบ่งบอกถึงความผิดปกติในการสร้างหรือทำลายเม็ดโลหิตแดง ภาวะนี้มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็กที่มีไข้เรื้อรัง อาจต้องนึกถึงโรคเลือด โดยเฉพาะโรคลิวคิเมีย หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว
แต่อาการซีดนี้ ไม่ใช่อาการเฉพาะของโรคมะเร็ง เพราะในผู้ป่วยที่มีการเสียเลือดอย่างเรื้อรัง เช่น มีพยาธิในลำไส้ เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ก็อาจมีอาการซีดได้
4. ตรวจดูตาขาว ว่ามีสีเหลืองหรือไม่ แต่การมองดูตาขาวด้วยตนเองในกระจก อาจจะบอกถึงความผิดปกติได้ยากในผู้ที่กระทบแดด ลม หรือฝุ่นละอองอยู่เสมอ เพราะเยื่อบุตาขาวจะมีลักษณะขุ่น สกปรก จะต้องตรวจดูตาขาวในส่วนที่ไม่ได้รับการระคายเคืองมาก คือ ส่วนที่อยู่ใต้เปลือกตา โดยดึงหนังตาบนขึ้นพร้อมกับเหลือบตาลงล่าง ท่าตรวจนี้ จำต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้อื่น เพราะเมื่อเหลือบตาลงล่าง ก็ย่อมไม่สามารถมองเห็นได้เองในกระจก
อย่างไรก็ตาม หากสงสัยว่าเหลือง ควรดูสีปัสสาวะด้วย หากปัสสาวะสีเข้ม โดยที่ร่างกายได้รับน้ำเพียงพอ ก็แสดงว่า อาจมีอาการดีซ่านจากสาเหตุใดๆ เช่น โรคตับ โรคเลือดชนิดต่างๆ รวมทั้งมะเร็งของตับด้วย ควรพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจต่อไป
• การตรวจเฉพาะส่วน
การตรวจร่างกายเฉพาะส่วน เป็นรายละเอียดที่สำคัญของโรคมะเร็งในอวัยวะต่างๆ อาทิ
การตรวจผิวหนัง ผิวหนังเป็นตำแหน่งที่เกิดมะเร็งได้บ่อยเป็นอันดับ 9 และเป็นมะเร็งที่สามารถรักษาให้หายขาดได้มากกว่า 90% เนื่องจากสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ในระยะแรกๆ ความผิดปกติที่บริเวณผิวหนัง สามารถแสดงให้เห็นได้โดยชัดเจน คือ
1. มีตุ่ม ไฝ หูด เกิดเพิ่มขึ้น หรือมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น โตลุกลามมากขึ้น มีสีเข้มขึ้น หรือแตกออกเป็นแผล มีเลือด หรือน้ำเหลืองไหล
2. เกิดแผลเรื้อรังที่ผิวหนัง และรักษาไม่หาย
3. การเปลี่ยนแปลงของแผลเป็น เช่น แผลไฟไหม้ที่เป็นมานาน ส่วนผู้ที่กินยาหม้อหรือยาจีน และยาแผนโบราณ เป็นเวลานานๆ ซึ่งมักจะมีสารหนูเป็นองค์ประกอบ อาจพบลักษณะที่มีการหนาตัวของผิวหนังเป็นหย่อมๆทั่วๆไป ฝ่ามือฝ่าเท้ามีลักษณะหนา แห้ง และแข็ง ซึ่งผิวหนังในบริเวณดังกล่าว อาจเกิดเป็นแผลเรื้อรัง และกลายเป็นมะเร็งได้
ลักษณะเฉพาะของโรคมะเร็งผิวหนังชนิดหนึ่ง ที่มักเกิดบริเวณใบหน้า คือ มะเร็งชนิด Basal Cell Carcinoma จะมีลักษณะเป็นแผลที่มีขอบยกสูง อาจมีจุดสีดำๆ และมักเกิดบนผิวหนังในบริเวณ ใบหน้า คือ ระดับตา หว่างคิ้ว และลงมาในแนวจมูกและปาก
การตรวจวินิจฉัยที่แน่นอนเมื่อตรวจพบความผิดปกติ คือ การตัดชิ้นเนื้อเพื่อการพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา ซึ่งข้อนี้ ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่ให้ความสนใจ โดยคิดว่า เมื่อตัดออกแล้ว ก็แปลว่าหายแล้ว และไม่ได้กลับไปฟังผลจากแพทย์อีกครั้ง ซึ่งอาจจะทำให้การรักษาไม่เพียงพอและกลับเป็นใหม่อยู่เสมอ ดังนั้น ทุกครั้งที่ได้รับการผ่าตัด แม้ว่าจะเป็นเพียงไฝ หรือ หูด ควรกลับไปฟังผลการตรวจทางพยาธิวิทยาทุกครั้ง
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 142 ตุลาคม 2555 โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์พิทยภูมิ ภัทรนุธาพร โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กทม.)