ท่านเคยมีอาการต่างๆเหล่านี้หรือไม่ ... เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง อ่อนเพลีย หงุดหงิด หน้ามืด เวียนศีรษะ ใจสั่น หรือมีคนทักว่าซีด เหลือง
หากท่านมีอาการเหล่านี้ เป็นไปได้ว่าท่านอาจกำลังมีภาวะโลหิตจางก็เป็นได้
• ภาวะโลหิตจางคืออะไร
ภาวะโลหิตจางหรืออาจเรียกกันโดยทั่วไปว่าภาวะซีด เป็นภาวะที่เกิดจากร่างกายมีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ภาวะนี้พบได้บ่อยในประชากรทั่วไป
การจะบอกว่าใครมีภาวะโลหิตจางหรือไม่นั้นอาจดูได้จากอาการที่เกิดขึ้น เนื่องจากเม็ดเลือดแดงมีหน้าที่ในการส่งออกซิเจนไปให้เซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆทั่วร่างกาย การที่เม็ดเลือดแดงลดลงจึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติได้หลากหลาย ตั้งแต่อาการเหนื่อยง่ายขึ้นกว่าเดิม บางคนอาจรู้สึกว่าเมื่อออกแรงทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งแล้วเหนื่อยมากขึ้น เช่น เดินขึ้นบันไดสองสามชั้นไม่เหนื่อย ต่อมากลับเหนื่อยมากขึ้น หรือบางคนอยู่เฉยๆ ก็อาจรู้สึกเหนื่อยอ่อนเพลียก็ได้ บางคนอาจมีความรู้สึกหงุดหงิด ความคิดความอ่านไม่แจ่มใส
หากโลหิตจางเป็นรุนแรง อาจกระทบการทำงานของหัวใจ เกิดภาวะหัวใจทำงานมากขึ้น จนถึงขั้นหัวใจล้มเหลวได้ หรือกระทบกับการทำงานของสมอง ทำให้มีอาการวูบหรือหมดสติ อาการต่างๆ อาจเกิดมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับระดับของเม็ดเลือดแดงในร่างกายและความสามารถในการปรับตัวต่อภาวะโลหิตจาง
ในทางเวชปฏิบัติส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยมักตรวจพบภาวะโลหิตจางตั้งแต่ไม่มีอาการก็ได้ เช่น พบจากการตรวจเลือดเวลาไปบริจาคเลือด หรือตรวจสุขภาพประจำปี หรือมีคนทักว่าดูซีด เหลือง
• ภาวะโลหิตจางเกิดจากอะไร
การเจอว่าผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจาง มักจะเป็นผลตามมาจากสาเหตุบางประการ บางครั้งอาจจะเป็นอาการนำของโรคร้ายแรงก็ได้ ดังนั้น การเจอภาวะโลหิตจางทุกครั้ง ต้องมีการหาสาเหตุด้วยเสมอ เพื่อจะได้วางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม
สาเหตุของภาวะโลหิตจางแบ่งตามกลไกการเกิดได้เป็น 3 สาเหตุใหญ่ๆ ได้แก่
1. การสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง ซึ่งเป็นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งที่สำคัญ ได้แก่ ธาตุเหล็ก, วิตามินบี 12, กรดโฟลิค
- โรคไตวายเรื้อรัง ทำให้ขาดปัจจัยในการกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
- โรคของไขกระดูก เช่น ไขกระดูกฝ่อ มะเร็งในไขกระดูก การติดเชื้อในไขกระดูก เป็นต้น
- โรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
2. การทำลายเม็ดเลือดแดงมากขึ้นในร่างกาย โรคกลุ่มนี้จะเป็นสาเหตุให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ ผู้ป่วยมักจะมีอาการตัวและตาเหลือง (ดีซ่าน) ร่วมด้วย สาเหตุที่พบบ่อยในประเทศไทย เช่น
- โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ที่พบบ่อย ผู้ป่วยโรคนี้มีอาการได้หลากหลาย อาจมีอาการเพียงเล็กน้อย หรือมีโลหิตจางรวดเร็วเมื่อเวลามีไข้ บางรายอาจมีภาวะโลหิตจางร่วมกับเหลือง ตับม้ามโต เป็นตั้งแต่อายุน้อยๆ
- โรคเม็ดเลือดแดงแตกง่ายจากการขาดเอนไซม์ G-6PD เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ มักพบในเพศชาย ในภาวะปกติผู้ป่วยมักไม่มีอาการ หากมีการติดเชื้อหรือได้รับยาบางชนิด จะเกิดการกระตุ้นให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายขึ้น จนเกิดอาการโลหิตจางรวดเร็ว ดีซ่าน ปัสสาวะสีน้ำปลา
- โรคเม็ดเลือดแดงแตกง่ายจากภูมิคุ้มกันของตนเองทำลายเม็ดเลือดแดง เป็นโรคที่พบมากในเพศหญิงวัยเจริญพันธุ์ อาจพบร่วมกับโรคของระบบภูมิคุ้มกันอื่นๆ
- การติดเชื้อบางชนิด เช่น มาลาเรีย, คลอสติเดียม, มัยโคพลาสมา เป็นต้น
3. การเสียเลือด อาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เช่น การเกิดอุบัติเหตุ การตกเลือด หรืออาจค่อยๆ เสียเลือดเรื้อรัง เช่น เสียเลือดทางประจำเดือนในผู้หญิง เสียเลือดในทางเดินอาหารในผู้ชายและผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ผู้ป่วยที่เสียเลือดเรื้อรังก็มักจะมีการขาดธาตุเหล็กตามมาด้วย
• จะทำอย่างไรเมื่อสงสัยว่ามีภาวะโลหิตจาง
หากท่านมีอาการดังที่ได้กล่าวมา มีคนทักว่าซีดลง ตัวเหลือง หรือเคยมีปัญหาตรวจเลือดแล้วพบว่าเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ ท่านควรจะไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจว่า อาการดังกล่าวเกิดจากโลหิตจางจริงหรือไม่ และเกิดจากสาเหตุใด
โดยทั่วไปแพทย์จะทำการซักถามประวัติอย่างละเอียด รวมถึงตรวจร่างกายเพื่อเป็นแนวทางในการวินิจฉัยและเลือกการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสมเพื่อหาสาเหตุต่อไป
การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่สำคัญ คือ การตรวจเม็ดเลือดสมบูรณ์และการดูลักษณะเม็ดเลือดจากการย้อมสไลด์เลือด การเจาะตรวจเลือดชนิดนี้ผู้ป่วยไม่ต้องมีการเตรียมตัวใดเป็นพิเศษ ไม่ต้องงดน้ำงดอาหารก่อนมาตรวจ
ข้อมูลจากการตรวจเม็ดเลือดสมบูรณ์จะทำให้ทราบว่า ผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางจริงหรือไม่ โดยดูจากระดับฮีโมโกลบินและฮีมาโตคริตของเม็ดเลือดแดง ผู้ป่วยส่วนหนึ่งสามารถได้รับการวินิจฉัยสาเหตุของโลหิตจางได้จากการตรวจนี้ ผู้ป่วยอีกส่วนหนึ่งอาจต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุต่อไป
• ระวัง! ภาวะแทรกซ้อน
โดยทั่วไปการรักษาภาวะโลหิตจางจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่เป็น หากอาการรุนแรงมาก ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ให้นอนพัก ไม่ออกแรงใดๆ ให้ออกซิเจน และอาจต้องให้เลือดแดงทดแทนไปด้วย
ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรง อาจให้การรักษาเป็นผู้ป่วยนอก หลักการรักษาภาวะโลหิตจางที่สำคัญที่สุด คือ การหาสาเหตุและรักษาที่สาเหตุนั้นๆ ในบางครั้งภาวะโลหิตจางอาจทำให้เราตรวจพบโรคร้ายแรงที่แอบซ่อนอยู่ก็ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ และได้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 142 ตุลาคม 2555 โดย อ.นพ.ชัยเจริญ ตันธเนศ ภาควิชาพยาธิวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)