หลังจากภาพยนตร์ชุด Spider-Man เมื่อช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จมาก โดยฝากข้อคิดคมๆเอาไว้ตั้งแต่ภาคแรก คือ “อำนาจอันยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่” ซึ่งเป็นนัยให้ผู้ชมตระหนักว่า ยิ่งเรามีอำนาจบารมีมากเพียงใด ความรับผิดชอบที่มีย่อมสูงขึ้นเท่านั้น มิฉะนั้นอำนาจต่างๆก็เป็นเพียงสิ่งไร้ค่า ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง
ในปีนี้ บริษัทผู้สร้างได้ปรับโฉมภาพยนตร์ไอ้แมงมุมเวอร์ชั่นใหม่ ออกฉายในชื่อ “The Amazing Spider-Man” โดยยังใช้แกนเรื่องคล้ายของเดิม
หนังเล่าเรื่องของเด็กชาย “ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์” ที่เป็นเด็กเฉลียวฉลาด มีพ่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง แต่หายตัวไปอย่างลึกลับตั้งแต่เขาอายุได้ 4 ขวบ ปีเตอร์จึงอยู่ภายใต้การอุปการะเลี้ยงดูของ “ลุงเบน” กับ “ป้าเมย์”
ปีเตอร์เติบโตเป็นวัยรุ่นที่คงแก่เรียน รักความถูกต้อง และขี้อาย วันหนึ่งเมื่อเห็นเพื่อนโดนรังแกโดย “แฟลช” เด็กหนุ่มจอมเก๋าประจำโรงเรียน เขาปฏิเสธที่จะถ่ายภาพเพื่อเป็นหลักฐานให้เพื่อนอับอาย ปีเตอร์จึงโดนแฟลชทำร้ายอีกคน แต่โชคดีที่ “เกว็น สเตซี่” สาวน้อยร่วมรุ่น มาช่วยปรามไว้
ช่วงแรกของหนังได้แทรกชีวิตครอบครัวของปีเตอร์ไว้ว่า เขาไม่ต่างจากเด็กกำพร้าที่ขาดความอบอุ่น แม้ลุงเบนกับป้าเมย์จะรักเขาไม่ต่างจากลูกแท้ๆ แต่ความเป็นวัยรุ่น และปมด้อยเรื่องการจากไปของพ่อกับแม่ ทำให้หลายครั้งที่เขาหงุดหงิดง่าย และมักมีปากเสียงกับลุงเบน จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเด็กหนุ่ม เกิดขึ้นเมื่อเขาแอบสวมรอยเป็นนักศึกษา มาดูงานในสถาบันวิจัยชั้นนำที่ผู้เป็นพ่อเคยทำงาน และได้หลงเข้าไปในห้องทดลองวิทยาศาสตร์ดัดแปลงพันธุกรรมเกี่ยวกับแมงมุม โดยไม่รู้ว่ามีแมงมุมพันธุ์พิเศษจากห้องทดลองติดมาบนเสื้อ และได้กัดที่ต้นคอของเขา
ตั้งแต่วันนั้นมา ปีเตอร์จึงรู้ตัวว่า ไม่ใช่มนุษย์ธรรมดาอีกต่อไป แต่เป็นเด็กหนุ่มผู้มีพลังเหนือธรรมชาติ ประสาทการรับรู้ต่างๆเฉียบคม คล่องแคล่วว่องไว และมีความสามารถในการปีนป่ายที่สูงไม่ต่างจากแมงมุม
วันหนึ่ง เมื่อเขามีเรื่องปะทะกับแฟลชอีกครั้ง ในสนามบาสเก็ตบอล เขาทำให้แฟลชขายหน้าคนอื่น พร้อมกับการโชว์พลังจนทำให้แป้นบาสเก็ตบอลของโรงเรียนพัง ร้อนถึงลุงเบนต้องเดินทางมาที่โรงเรียน
ลุงเบนได้เตือนสติปีเตอร์ว่า สิ่งที่หลานรักทำนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะนั่นเป็นเพียงความต้องการอยากให้คนอื่นขายหน้า ซึ่งมีต้นเหตุมาจากความอยากแก้แค้น
เรื่องราวตัดกลับไปที่ประเด็นพลังพิเศษของปีเตอร์อีกครั้ง เมื่อความฉลาดของเด็กผู้มีไอคิวปราดเปรื่อง ทำให้เขามีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้กับ “ดร.เคิร์ท คอนเนอร์ส” นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ผู้เคยเป็นเพื่อนร่วมงานกับพ่อของเขา เด็กหนุ่มสนใจเรื่องการตัดต่อพันธุกรรมจากสัตว์ เพื่อนำมาทดแทนใหม่ในร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะการที่ ดร.เคิร์ท พิการ สูญเสียแขนข้างหนึ่ง จึงมีแรงกระตุ้นอย่างจริงจังที่จะทำงานวิจัยชิ้นนี้ ทำให้ทั้งคู่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดกันบ่อยครั้ง
คืนหนึ่งปีเตอร์นำสมการวิทยาศาสตร์ที่เขาตีโจทย์ออกมาได้ ไปให้ ดร.เคิร์ท ลองทดสอบกับระบบคำนวณในสถาบันวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งค้นพบตัวยาที่จะฟื้นสภาพเซลล์ที่สูญเสียไปของมนุษย์ แต่คืนนั้นทำให้เด็กหนุ่มลืมไปรับป้าเมย์จากสถานีรถไฟใต้ดิน เมื่อเขากลับมาถึงบ้านจึงโดนลุงเบนตำหนิ
เด็กหนุ่มออกจากบ้านด้วยความโกรธ เข้าไปในร้านมินิมาร์ทเล็กๆ และเมื่อโดนเจ้าของร้านกวนประสาทอีก เขาก็ยิ่งหงุดหงิด ทำให้เมื่อมีโจรมาปล้นร้านในเวลานั้น ปีเตอร์จึงไม่สนใจช่วยเหลือ ทั้งๆที่สามารถทำได้
การละเลยครั้งนี้ ส่งผลลัพธ์ต่อเนื่องมาถึงลุงเบน ที่ออกมาตามหาปีเตอร์ จนพบกับโจร และได้เข้าไปขัดขวาง ทำให้ลุงเบนถูกโจรยิงเสียชีวิต
เหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของเด็กหนุ่ม เขาใส่ชุด “สไปเดอร์แมน” และประกาศตัวออกเป็นผู้พิทักษ์ความยุติธรรม ตามล่าหาโจรรอยสักที่เขาจำได้ติดตาว่าเป็นโจรที่ปลิดชีพลุงรวมทั้งปราบโจรกระจอกตามตรอกซอกซอย ไล่ล่าโจรขโมยรถบ้าง ซึ่งก็ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่แล้วเมื่อเขาไปทานข้าวที่บ้านสเตซี่ และมีโอกาสได้คุยกับ “ผู้กองสเตซี่” ผู้เป็นพ่อของเพื่อนสาว เขาจึงรับรู้ว่า ในสายตาของตำรวจแล้ว สไปเดอร์แมนไม่ได้เป็นฮีโร่ แต่เป็นคนโรคจิตที่ไล่ล่าอย่าง “ไร้สติ” มุ่งเพียงสะสางความแค้น แถมการไปจับโจรขโมยรถปลายแถว ก็ยังเป็นการตัดตอนทำลายกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการสาวหลักฐานไปให้ถึงตัวการใหญ่
แต่ก่อนที่จะเสียไปมากกว่านั้น ปีเตอร์ก็เจอกับคู่ปรับที่สมน้ำสมเนื้อของจริง นั่นคือ ดร.เคิร์ท ที่ใช้ยาจากสมการวิทยาศาสตร์ แต่ผลของมันผิดคาด ทำให้กลายร่างเป็นอสุรกายกิ้งก่าที่มีความดุร้าย และพร้อมจะทำลายทุกคน
ซุปเปอร์ฮีโร่นาม “ไอ้แมงมุม” จึงต้องออกแรงปราบศัตรูที่เขามีส่วนในการสร้างขึ้น เพื่อพิสูจน์ตนเอง พร้อมๆกับทำให้ชาวเมืองตระหนักว่า เขาเป็นฮีโร่ตัวจริง
ภาพยนตร์ Spider-Man ในเวอร์ชั่นนี้ ไม่แตกต่างในแกนหลักที่มอบข้อคิดง่ายๆว่า “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” แต่ทว่าก็เพิ่มความเฉียบคมเอาไว้ในเรื่องการใช้ “สติ” ในการแก้ปัญหา พร้อมทั้งตอกย้ำเรื่อง “อำนาจกับความรับผิดชอบ” สติ คือ การรับรู้ ตระหนักรู้ ระงับยับยั้งใจ ไม่พลั้งเผลอ และทำให้เราตื่นตัวอยู่เสมอในทุกการกระทำ ทั้งกาย วาจา ใจ สตินั้นเสมือนเป็นพี่เลี้ยงของจิต ที่คอยควบคุมมิให้เรา “หลุดออกไปนอกลู่นอกทาง” ถือเป็นหลักธรรมที่มีอุปการะมาก
ซึ่งจุดเริ่มต้นของความผิดพลาดที่ปีเตอร์กระทำ คือ “การขาดสติ” และเพราะความเป็นวัยรุ่นที่ขาดสติยั้งคิด ทำให้ความพยายามจะแก้ไขความผิดพลาด เป็นการทำไปเพียงเพื่อการล้างแค้นส่วนตัว ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมในสังคมที่แท้จริง
ดังนั้น หากใครก็ตามที่คิดจะเป็น “ฮีโร่” จึงมิใช่เพียงแค่การมีพลังอำนาจในการกระทำความดีเท่านั้น แต่จะต้องกระทำความดีหรือใช้พลังอำนาจนั้นควบคู่ไปกับสติด้วย จึงจะเป็นฮีโร่ที่สมบูรณ์แบบแท้จริง
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 141 กันยายน 2555 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)