ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี 4 เดือน “พล.อ.ธรรมรักษ์” อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กับพวก จ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้งแข่งพรรคไทยรักไทย เจ้าหน้าที่ กกต.โดน 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา
วันนี้ (30 พ.ค.)เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณา 913 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.961/2553 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 5 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรมว.กลาโหมและกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย นายอมรวิทย์ สุวรรณผล อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบบริหารฐานข้อมูลพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายชวการ หรือ กรกฤต โตสวัสดิ์ อดีตสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทย นายสุขสันต์ หรือ จตุชัย ชัยเทศ อดีตผอ.การเลือกตั้งพรรคพัฒนาชาติไทย และนายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ อดีตหัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย เป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ ในความผิดฐานกระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6,11
คำฟ้องโจทก์สรุปความผิดพวกจำเลยระบุว่า จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันกระทำผิด คือเมื่อระหว่างวันที่ 2-7 มี.ค. 49 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 จ้างวานให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต โดยมอบเงินค่าตอบแทนให้จำเลยที่ 2 จำนวน 30,000 บาท ให้ดำเนินการตัดต่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายชื่อ ข้อมูลสมาชิกของพรรคพัฒนาชาติไทยที่ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยไม่ครบ 90 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด เหตุเกิดที่แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง, แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร และแขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลเดียวที่มีรหัสผ่านเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลสมาชิกพรรคในคอมพิวเตอร์และเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่โดยตรงในการนำข้อมูลสมาชิกพรรคที่เปลี่ยนแปลง เข้าไปบันทึกในฐานข้อมูลนายทะเบียน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะต้องถูกต้องตามข้อมูลที่พรรคการเมืองส่งมา ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าในปี 2548 พรรคพัฒนาชาติไทยแจ้งเปลี่ยนแปลงจำนวนสมาชิกต่อนายทะเบียนเพียงครั้งเดียว ซึ่งหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 รับสารภาพกับเจ้าหน้าที่ของกกต.ว่าเป็นผู้ไปรับแบบเอกสารแจ้งเปลี่ยนข้อมูลสมาชิกพรรค พร้อมแผ่นบันทึกข้อมูลจากจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย เพื่อนำมาแก้ไขข้อมูล ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้เข้าไปแก้ไขการบันทึกเปลี่ยนแปลงโดยไม่ผ่านขั้นตอนการลงรับเอกสารงานสารบรรณของสำนักกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กกต. และไม่มีการเสนอเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาตามระดับชั้นอนุมัติจากนายทะเบียน และได้รับค่าตอบแทนจำนวน 30,000 บาท ซึ่งโจทก์มีหลักฐานการตรวจสอบฐานข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้สำรองข้อมูลจากหน่วยเก็บความจำหรือฮาร์ดดิสของจำเลยที่ 2 พบว่ามีการสร้างฐานข้อมูลของพรรคพัฒนาชาติไทยเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2548 เวลา 9.03 น. โดยมีการแก้ไขลาสุดในวันเดียวกันเวลา 10.44 น. โดยจำเลยที่ 2 ก็เบิกความรับว่าเป็นผู้บันทึกข้อมูลดังกล่าวในระบบฐานข้อมูล แต่นำสืบว่าเงิน 30,000 บาท จำเลยที่ 5 มอบให้จากการที่อำนวยความสะดวก และคิดว่าการกระทำเช่นนี้สามารถทำได้ เพราะปรึกษาเพื่อนร่วมงานแล้ว
ศาลเห็นว่าจำเลยที่ 2 ทำงานมานาน 2 ปีเศษ ต้องรู้กฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ว่าการขอเปลี่ยนแปลงข้อมูลของพรรคการเมืองจะต้องผ่านขั้นตอนการลงรับเอกสาร และเสนอผู้บังคับบัญชา ซึ่งจะต้องได้รับการอนุมัติจากการทำเบียนเสียก่อน การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 2 จึงเป็นเรื่องผิดปกติ แสดงถึงเจตนาอันมิชอบอย่างชัดแจ้ง ซึ่งจำเลยที่ 2 รับสารภาพหลังจากเริ่มมีการตรวจสอบผู้กระทำความผิด โดยเป็นสภาวการณ์บีบขั้นจำเลยที่ 2 ให้ต้องรีบชิงรับสารภาพต่อผู้บังคับบัญชา แต่ยังไม่รีบแจ้งเรื่องเงินจำนวน 30,000 บาท จึงเป็นพฤติกรรมที่ส่อพิรุธ มีเงื่อนงำ พยายามปิดบังซ้อนเร้น ข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ 2 จึงไม่สมเหตุสมผล พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา จึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 กระทำผิดตามฟ้องจริง
ส่วนจำเลยที่ 1 และ 3 จะร่วมกันใช้ให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือไม่เห็นว่า ตามบันทึกถ้อยคำ คำเบิกความและคำให้การของจำเลยที่ 3 ที่ให้ไว้ที่พรรคประชาธิปัตย์ กกต. ตุลาการรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ สรุปได้ว่า ปลายเดือนก.พ. 49 นายยุทธพงศ์ หรือพงษ์ศรี ศิวโมกข์ แจ้งกับจำเลยที่ 3 ว่านายทวี สุวรรณพัฒน์ คนสนิทของจำเลยที่ 1 ต้องการพรรคเล็กที่จะลงสมัคร โดยจำเลยที่ 3 โทรศัพท์ถามจำเลยที่ 4 แล้วทราบว่ามี 4 พรรค ร่วมทั้งพรรคพัฒนาชาติไทย โดยวันที่ 2 มี.ค.49 จำเลยที่ 3 ได้รับโทรศัพท์จากนายยุทธพงศ์ว่าจำเลยที่ 1 ต้องการพบ ซึ่งได้พาไปพบที่ที่ทำงานพรรคไทยรักไทย และได้ตกลงกันว่าจะใช้วิธีลบชื่อสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยออกจากบัญชีรายชื่อ และใส่ชื่อบุคคลที่จะลงสมัครส.ส.เข้าไปแทน โดยใช้เลขสมาชิกเดิมที่เรียกว่าวิธีตัดต่อพันธุกรรม เพื่อหลีกเลี่ยงการไม่ประกาศผลการเลือกตั้งในเลขการเลือกตั้งที่มีผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียว และมีคะแนนเลือกตั้งไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และวันที่ 3 มี.ค.49 จำเลยที่ 3 นายยุทธพงศ์ นายทวี และนายธีรชัย จุลพัฒน์ ไปพบจำเลยที่ 1 ที่ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อนายทวีเข้าไปพบจำเลยที่ 1 ได้กลับออกมาพร้อมเงินสดจำนวน 50,000 บาท และมอบให้จำเลยที่ 3 เพื่อนำไปให้จำเลยที่ 5 ใช้ชำระค่าลงสมัครส.ส.และบัญชีรายชื่อของพรรคพัฒนาชาติไทย โดยวันที่ 6 มี.ค.49 นายทวีนำเงินจำนวน 760,000 บาท มอบให้จำเลยที่ 3 เพื่อจัดแบ่งให้ผู้สมัคร และวันที่ 8 มี.ค.49 นายทวีนำเงิน 140,000 บาทมอบให้จำเลยที่ 3 เพื่อโอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 4 ที่จังหวัดนครพนม โดยตามบันทึกการเบิกความของจำเลยที่ 4 ได้ความว่า เมื่อได้รับการติดต่อจากจำเลยที่ 3 แล้วได้หาผู้สมัคร โดยวันที่ 6 มี.ค.49 เวลา 21.00 น. จำเลยที่ 5 นำแผ่นบันทึกข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทย และรายชื่อบุคคลที่จะลงสมัครส.ส.มาให้จำเลยที่ 4 แก้ไข และจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏเมื่อวันที่ 2 เม.ย.49 พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ไม่ลงผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง โดยมีเพียงพรรคไทยรักไทยและพรรคเล็กส่งผู้สมัคร ซึ่งเดิมส.ส.ในเขตเลือกตั้งพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้เกือบทั้งหมดเป็นส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ จึงเป็นที่คาดหมายได้อย่างชัดแจ้งว่า หากมีผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียวโอกาสที่จะได้คะแนนเสียงมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้มาใช้สิทธิ์เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 4 จัดส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งโดยเน้นพื้นที่จังหวัดภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ จึงสมประโยชน์ของพรรคไทยรักไทยที่มีจำเลยที่ 1 เป็นรองหัวหน้าพรรค และวิธีการจัดหาผู้สมัครลงเลือกตั้งของพรรคพัฒนาชาติไทยก็เป็นไปตามวิธีที่จำเลยที่ 3 แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบเมื่อวันที่ 2 เม.ย.49 ที่พรรคไทยรักไทย ส่วนเงินที่พวกจำเลยให้การถึงก็รับฟังได้โดยเชื่อว่าเป็นเงินที่นายทวีรับมอบจากจำเลยที่ 1 เพื่อมอบให้กับจำเลยที่ 3 ดำเนินการตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งจำเลยที่ 5 ในฐานะหัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทยก็ให้การมาตลอดว่าพรรคไม่มีเงินสนับสนุนให้ผู้สมัคร มีเพียงบางรายที่ได้รับเงินสนับสนุนเพียงเล็กน้อย จึงเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่า เงินดังกล่าวไม่ใช่เงินของพรรคพัฒนาชาติไทย หรือของจำเลยที่ 3-5
แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่านายทวีมาให้ข่าวเกี่ยวกับภาคใต้ แต่ผลการตรวจสอบประวัติสื่อมวลชนสายทหารไม่พบประวัติหรือการออกบัตรผู้สื่อข่าวให้นายทวี โดยจำเลยที่ 1 ก็เคยให้การกับปปช.ไว้ว่านายทวีเป็นนายหน้าของผู้ที่จะลงสมัครเลือกตั้ง โดยมาพบกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 3 มี.ค.49 เพื่อเป็นนายหน้าแนะนำผู้ที่ต้องการลงสมัครเลือกตั้ง จึงเป็นข้อพิรุธที่ทำลายน้ำหนักข้ออ้างของจำเลยที่ 1 เองว่านายทวีเป็นนักข่าว ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นรมว.กลาโหมได้รับมอบหมายและความไว้วางใจจากประชาชนทั้งแผ่นดินให้บริหารราชการในส่วนนี้ก็เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน จำเลยที่ 1 ต้องกระทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ประพฤติตนในสิ่งที่ดีงามตามจริยธรรมของนักการเมืองให้เหมาะสมกับที่ได้รับการไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 1, 3, 4 และ 5 นำสืบมาไม่มีนำหนักให้รับฟังเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้
จึงพิพากษาว่า จำเลยที่ 1,3,4 ,5 มีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ให้จำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กกต. มีความผิดตามพ.ร.บ.เดียวกันมาตรา 6 ให้จำคุก 5 ปี โดยไม่รอลงอาญาทั้งหมด และให้ริบเงินสดของกลางจำนวน 30,000 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ธรรมรักษ์เป็นหนึ่งใน 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคและสั่งเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.50 ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 31 พ.ค.55 แต่พล.อ.ธรรมรักษ์ได้ถูกพิพากษาให้จำคุกในคดีอาญา จากกรณีจ้างวานพรรคเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งกับพรรคไทยรักไทยอีก 3 ปี 4 เดือน ทั้งนี้คดีอาญาสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน
อย่างไรก็ดีภายหลัง พล.อ.ธรรมรักษ์ จำเลยที่ 1 และนายบุญทวีศักดิ์ จำเลยที่ 5 ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี โดยศาลอนุญาตปล่อยตัว โดยตีราคาประกันคนละ 5 แสนบาท
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ : ย้อนรอย “ธรรมรักษ์-พรรคไทยรักไทย” จ้างพรรคเล็ก!!