xs
xsm
sm
md
lg

ตัดต่อยีนหนอนไหมสร้างใย “สไปเดอร์แมน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เส้นใยที่มีความแข็งแรงมากของ ไอ้แมงมุม เป็นแรงบันดาลใจให้นักวิจัยพัฒนาวิธีผลิตเส้นใยที่แข็งแรงเช่นนี้ออกมาในปริมาณมากๆ
นักวิจัยสหรัฐฯ พยายามตัดต่อพันธุกรรมหนอนไหมเพื่อให้ผลิตเส้นใยที่แข็งแรงกว่าเดิม ด้วยเป้าหมายในการพัฒนาเส้นใยที่แข็งแรงดุจใยแมงมุมและมีปริมาณมากพอสำหรับการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมเช่นใยไหม โดยรวมจุดเด่นของแมงมุมที่ผลิตใยได้แข็งแรงและหนอนไหมที่ผลิตเส้นใยได้ปริมาณมากๆ เข้าด้วยกัน

นักวิจัยจากไวโอมิง (University of Wyoming) สหรัฐฯ ระบุในวารสารพีเอ็นเอเอส (PNAS) ว่า พวกเขามีเป้าหมายที่จะผลิตใยไหมจากตัวหนอนที่มีความเหนียวระดับกับใยแมงมุม ทั้งนี้ เมื่อเทียบกันน้ำหนักต่อน้ำหนักแล้ว ใยแมงมุมมีความแข็งแรงยิ่งกว่าเหล็กกล้า

ฮีโรจากหนังสือการ์ตูน “สไปเดอร์แมน” (Spiderman) สามารถผลิตใยแมงมุมที่สามารถจับผู้ร้ายแล้วยังใช้ยึดโยงเพื่อเหวี่ยงตัวเองไปตามตึกระฟ้าของเมืองใหญ่ได้ ซึ่งบีบีซีนิวส์ระบุว่า ทีมวิจัยจากไวโอมิงได้พยายามผลิตเส้นใยดังกล่าวมานานหลายทศวรรษแล้ว

หากแต่เป็นไปไม่ได้ที่จะทำฟาร์มเลี้ยงแมงมุมเพื่อการผลิตเส้นใยในเชิงพาณิชย์ เพราะเจ้าแปดขาไม่สามารถผลิตเส้นใยได้เพียงพอ อีกทั้งมีแนวโน้มว่าเมื่อเลี้ยงรวมกันเยอะๆ แมงมุมเหล่านั้นจะกินกันเองด้วย ดังนั้น การผลิตเส้นไหมจากตัวหนอนจึงเป็นเรื่องง่ายกว่าที่จะเพาะเลี้ยงและผลิตเส้นไหมปริมารมาก แต่เส้นใยเหล่านั้นก็ช่างเปราะบาง

นักวิจัยพยายามอยู่หลายปีเพื่อจะรวมข้อดีของสัตว์ให้เส้นใยทั้งสอง นั่นคือการผลิตเส้นไหมที่แข็งแรงในปริมาณมากพอสำหรับอุตสาหกรรม ด้วยการตัดต่อยีนจากแมงมุมให้แก่หนอนไหม แต่จนถึงขณะนี้หนอนไหมที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรมแล้วก็ยังผลิตเส้นใยแมงมุมได้ไม่มากพอ

ดูเหมือนว่าหนอนไหมที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมโดยทีมของ ศ.ดอน จาร์วิส (Prof.Don Jarvis) จากมหาวิทยาลัยไวโอมิง นั้นจะผลิตเส้นใยที่เป็นลูกผสมระหว่างใยไหมและใยแมงมุมออกมาในปริมาณมาก ซึ่งนักวิจัยระบุว่าเส้นใยดังกล่าวมีความแข็งแรงเทียบเท่าเส้นใยแมงมุม

สำหรับความเห็นต่องานวิจัยดังกล่าวนั้น ทาง ดร.คริสโตเฟอร์ ฮอลแลนด์ (Dr.Christopher Holland) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) ในอังกฤษ ระบุว่า การพัฒนาดังกล่าวนั้นแสดงถึงอีกขั้นในการผลิตเส้นไหมที่แข็งแรงขึ้นในเชิงพาณิชย์ได้

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่รายงานวิชาการนี้ได้แสดงให้เห็นคือพวกเขาใช้ชิ้นส่วนของใยแมงมุมและผลิตออกมาเป็นเส้นใยของหนอนไหมเองได้ พวกเขายังแสดงให้เห็นด้วยว่าเส้นใยผสมซึ่งมีใยแมงมุมนิดหน่อยกับใยไหมเป็นส่วนใหญ่นี้มีคุณสมบัติเชิงกลที่ดีขึ้น” ดร.ฮอลแลนด์ให้ความเห็น

สำหรับการประยุกต์ใช้งานหลักๆ นั้นสามารถใช้งานทางด้านการแพทย์เพื่อผลิตไหมละลายที่มีความแข็งแรง วัสดุปลูกถ่ายและเอ็นยึดที่มีความแข็งแรงขึ้น แต่เส้นไหมแมงมุมนี้ก็ยังผลิตเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างพลาสติกที่มีความทนทาน ซึ่งปกติต้องใช้พลังงานปริมาณมากในการผลิตได้

อย่างไรก็ดี มีความเป็นห่วงว่าหากผลิตเส้นไหมตัดต่อพันธุกรรมนี้ในระดับอุตสาหกรรมแล้ว อาจมีการหลุดลอดสู่สิ่งแวดล้อมได้ แต่ตามความเห็นของ ศ.กาย พัพพี (Prof.Guy Poppy) จากมหาวิทยาลัยเซาท์แธมป์ตัน (Southampton University) ในสหราชอาณาจักร ระบุว่าหนอนไหมเหล่านั้นจะไม่คุกคามสิ่งแวดล้อม และเขายังเชื่ออีกว่าประโยชน์จากใยไหมที่แข็งแรงขึ้นนี้จะมีน้ำหนักมากกว่าความเสี่ยงใดๆ

“มันยากที่เข้าใจได้ว่าหนอนไหมที่ผลิตเส้นใยแมงมุมนี้จะเอาเปรียบธรรมชาติได้อย่างไร” ศ.พัพพีให้ความเห็น
การตัดต่อพันธุกรรมเป็นวิธีผสานจุดเด่นของเส้นใยแมงมุมที่แข็งแรงและใยไหมที่ผลิตในปริมาณมากๆ ได้สะดวก
กำลังโหลดความคิดเห็น