ผมรู้สึกตกใจต่อผลสำรวจของกรมประมง ที่บอกว่าคนไทยในวันนี้บริโภค “ปลานิล” มากที่สุด แสดงให้เห็นว่าถึงวันนี้ประเทศที่มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น ห้วยหนอง คลองบึง และมีพื้นที่ชายฝั่งยาวกว่า 2,600 กิโลเมตร เคยเป็นประเทศที่เคยส่งออกอาหารทะเลติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก มาถึงวันนี้ประชากรของประเทศนี้ต้องมากินปลานิล ปลาที่เกิดจากการตัดต่อพันธุกรรมและถูกควบคุมทั้งพันธุ์และอาหารจากบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ควบคุมทั้งแหล่งโปรตีนจากไก่ หมู ของประเทศนี้ไว้ในมืออย่างเบ็ดเสร็จมาแล้ว
ในบรรดาอาหารโปรตีนที่มีความจำเป็นและสำคัญมากๆ ต่อชีวิตของผู้คนในสังคม ไข่นับว่าเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีคุณภาพดีเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารชนิดอื่นๆ ในคะแนนเต็ม 100 ไข่มีคะแนนถึง 94 ในไข่หนึ่งฟอง ประกอบขึ้นด้วยไข่ขาวและไข่แดง ไข่แดงมีคอเลสเตอรอลสูง โดยมีไขมันถึง 6 กรัม แต่มีโปรตีนเพียง 1.5 กรัม ส่วนไข่ขาวมีโปรตีนมากกว่าไข่แดงคือมีโปรตีนประมาณ 4.5 กรัม และที่สำคัญคือไม่มีไขมัน ไข่จึงเป็นอาหารโปรตีนที่ประคับประคองให้คนไทยไม่เป็นโรคขาดอาหารมากนัก
อันดับต่อมาก็คือน้ำนม ซึ่งเป็นอาหารที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกเพศทุกวัย ผู้ที่ต้องการเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง น้ำนมมีคะแนนโปรตีน 82 แต่น้ำนมเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยากสำหรับประชาชนทั่วๆ ไปและมีราคาแพงเกินกว่าที่ประชาชนทั่วๆ ไปจะซื้อหามาบริโภคได้ ยังไม่นับถึงวัฒนธรรมการดื่มนมซึ่งเป็นเรื่องใหม่ ที่ไม่ได้ขยายตัวกว้างขวางมากนักในสังคมของเรา
“ปลา” จึงคือคำตอบที่สำคัญ เพราะปลามีคะแนนโปรตีน 80 ซึ่งต่ำกว่าน้ำนมเพียงเล็กน้อย เนื้อปลาเป็นสารอาหารที่มีไขมันต่ำยกเว้นปลาดุก นอกจากเนื้อปลาจะมีสารอาหารโปรตีนแล้ว ในเนื้อปลายังมีสารอาหารชนิดหนึ่งมีชื่อว่าโอเมก้า-3 ( omega - 3 fatty acids) ซึ่งมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันโรคหัวใจได้
“ปลา” จึงเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์อื่นๆ ปลามีโปรตีนคุณภาพดีวัดได้ถึง 76% ในขณะที่เนื้อวัววัดได้ 74.6% อาหารโปรตีนมีความสำคัญต่อชีวิตของผู้คน เพราะโปรตีนช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่สึกหรอ สร้างกล้ามเนื้อ มีกรดไขมัน โดยเฉพาะปลาที่มีสารอาหารที่เรียกว่าโอเมก้า-3 (omega - 3 fatty acids) ดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งในทางการแพทย์พบว่าช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ลดการเกาะตัวของเม็ดเลือด ช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ กระตุ้นการสร้างสารเคมีซีโรโทนินในสมอง มีฤทธิ์ต้านการซึมเศร้า เป็นสารอาหารที่สำคัญในการสร้างเซลล์ประสาทในเด็กและทารกในครรภ์
สมาคมแพทย์โรคหัวใจสหรัฐฯ แนะนำให้บริโภคปลาไม่น้อยกว่า 2 มื้อต่อสัปดาห์ แต่ผลจากการศึกษาพบว่าคนไทยยังบริโภคปลาน้อย คือเพียง 32 กก.ต่อคนต่อปี ขณะที่สหรัฐฯ บริโภคปลา 50 กก.ต่อคนต่อปี ญี่ปุ่นบริโภค 69 กก.ต่อคนต่อปี คุณภาพของประชาชนอาหารโปรตีนจากปลาจึงมีส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย การกลับมารณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการบริโภคเนื้อปลา จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะประเทศของเราปลาเป็นอาหารโปรตีนที่มีอยู่ทั่วไปทั้งปลาน้ำจืดและปลาน้ำเค็ม
คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าโอเมก้า-3 (omega - 3 fatty acids) มีเฉพาะในปลาทะเล ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดเพราะในปลาน้ำจืด ก็มีโอเมก้า-3 สูง บางประเภทสูงกว่าปลาทะเล เช่น ปลาสวายเนื้อขาว มีโอเมก้า-3 สูงถึง 2,570 มก.ต่อน้ำหนัก 100 กรัม ปลาช่อนมีโอเมก้า-3 ถึง 870 มก.ต่อน้ำหนัก 100 กรัม ขณะที่ปลาแซลมอนมีโอเมก้า-3 ประมาณ 1000-1,700 มก.ต่อน้ำหนัก 100 กรัม ปลากะพงขาว 310 มก.ต่อน้ำหนัก 100 กรัม เป็นต้น
การที่สังคมไทยยังปล่อยให้มีการทำการประมงด้วยเรืออวนลาก เรืออวนรุน และเรือปั่นไฟ ซึ่งเป็นเครื่องมือทำการประมงแบบทำลายล้าง จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปลาในทะเลของประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นเครื่องมือที่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน เพราะร้อยละ 60 ของปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ทั้งหมดจากเรืออวนลาก เรืออวนรุน และเรือปั่นไฟ ประกอบด้วยลูกปลาทางเศรษฐกิจ เช่น ลูกปลาหลังเขียว ลูกปูม้า ลูกปลาจวด ร้อยละ 65-70 ของปริมาณปลาเป็ดที่จับได้ ในปีหนึ่งๆ สัตว์น้ำที่จับได้จากอวนประมาณ 26,289 ตัน ประกอบด้วยกุ้งใหญ่ ร้อยละ 15-16 ปูม้าร้อยละ 8-9 ปลาร้อยละ 7 ปลาหมึกร้อยละ 4-5 นอกนั้นเป็นสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ
ในปี 2550 ประเทศไทยของเราส่งออกปลามากเป็นประเทศที่ 3 ของโลก รองจากจีน และนอร์เวย์ คือส่งออก 1,163,398 ตัน มูลค่า 85,230 ล้านบาท ในขณะเดียวกันเราก็นำเข้าปลาจากต่างประเทศเข้ามาบริโภคภายในประเทศถึง 1,298,061 ตัน มูลค่า 53,077 ล้านบาท เรานำปลาเข้ามาบริโภค แต่ปลาตัวเล็กๆ ในทะเลของเราถูกจับขึ้นมาด้วยเครื่องมือทำลายล้าง อย่างอวนลาก อวนรุนและเรือปั่นไฟซึ่งลูกปลาเล็กๆ เหล่านั้นก็จะแปรรูปเป็นปลาป่น ซึ่งในปี 2551 ประเทศไทยมีปริมาณการส่งออกปลาป่น 2.4 หมื่นตัน ปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 2.6 หมื่นตัน และปี 2553 สามารถส่งออกสูงขึ้นถึง 8 หมื่นตัน นี่คือสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของวิกฤตสัตว์น้ำในทะเลของเรา ทำให้คนไทยต้องกินปลานำเข้าและได้กินแต่ปลานิล
ถึงเวลาแล้วที่ “คนกินปลา” จะได้ลุกขึ้นมาปกป้องแหล่งอาหารโปรตีนของสังคม โดยเฉพาะพันธุ์สัตว์น้ำคือปลา ให้หลุดออกจากการควบคุมของบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่เอาเปรียบและเห็นแก่ตัว ทุกวันนี้ลูกหลานเยาวชนหรือแม้แต่คนส่วนใหญ่ของสังคมก็ถูกจำกัดให้บริโภคอาหารโปรตีนจากไก่ขาว หมูขุน ที่เต็มไปด้วยสารเร่งเนื้อ ยาปฏิชีวนะที่อยู่ในส่วนผสมของอาหารสัตว์ เราปล่อยปละละเลยให้ปลาชนิดอื่นๆ ถูกกวาดล้างทำลายโดยกลุ่มนายทุนนักธุรกิจจำนวนน้อย แล้วให้ผู้คนในสังคมมีทางเลือกแค่กินปลานิล...เราจะยอมกันหรือไง?.