xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยชี้ “ไข่แดง” ร้ายกาจพอกับ “บุหรี่” ตัวการก่อโรคหัวใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แอลเอไทมส์ - ผลการศึกษาชิ้นใหม่ที่เผยแพร่ในวารสารแอเทอโรสเคลอโรซิส ในวันอังคาร (14) เตือนผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีว่า จำนวนไข่แดงที่พวกเขาบริโภคต่อสัปดาห์นั้นจะยิ่งเร่งให้ผนังหลอดเลือดแดงหนาขึ้นได้ร้ายแรงพอๆ กับการสูบบุหรี่ทีเดียว

ผลการศึกษาดังกล่าวตรวจวัดความหนาของผนังหลอดเลือดแดงใหญ่คาโรติด ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเสี่ยงโรคหัวใจ ในผู้ป่วย 1,231 คนของคลีนิกแห่งหนึ่ง และสอบถามลักษณะนิสัยทางสุขภาพ ตั้งแต่การสูบบุหรี่ การออกกำลัง และการบริโภคไข่แดงของผู้ป่วยเหล่านั้นเป็นรายบุคคล

ประชากรในการศึกษาชิ้นนี้ถูกส่งไปยังคลีนิกดังกล่าว หลังป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (ทีไอเอ) ซึ่งอาการของโรคอาจไม่ปรากฏอย่างรวดเร็ว แต่มักส่งสัญญาณของอาการที่ร้ายแรงกว่าตามมา

ทั้งการสูบบุหรี่ และการกินไข่แดงต่างเพิ่มความหนาของผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ในรูปแบบเดียวกัน กล่าวคือ อัตราการเพิ่มขึ้นของความหนาของผนังหลอดเร็วถูกเร่งโดยการสูบบุหรี่ หรือบริโภคไข่แดง ตรงข้ามกับผู้ที่ไม่พ่นควัน หรือแทบไม่กินไข่แดง ผนังหลอดเลือดคาโรติดหนาขึ้นหลังอายุ 40 ปี แต่เป็นไปอย่างคงที่ช้าๆ

“เราเชื่อว่าการศึกษาของเราได้แสดงให้เห็นความจำเป็นในการประเมินบทบาทของไข่แดง และคอเลสเตอรอลโดยทั่วไปใหม่อีกครั้ง เนื่องจากเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ” คณะผู้เขียนรายงานผลการศึกษาระบุ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักโภชนาการเริ่มเห็นด้วยว่าไข่ไก่ ซึ่งทั้งถูกและเต็มไปด้วยโปรตีนนั้น เป็นแหล่งที่มาของคอเลสเตอรอลอันตราย แต่บางผลวิจัยชี้ว่าไข่อาจเพิ่มเอชแอลดี หรือคอเลสเตอรอลดี ที่ป้องกันโรคหัวใจได้ แม้ว่าจะเป็นที่มาของคอเลสเตอรอลแอลดีแอล ที่ทำให้หลอดเลือดอุดตันด้วย

อย่างไรก็ตาม สถาบันหัวใจ เลือด และปอดแห่งชาติ แนะนำว่า การจำกัดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจนั้น ชาวอเมริกันควรจำกัดการรับคอเลสเตอรอลเข้าร่างการไม่ให้เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งไข่แดง 1 ฟองก็มีคอเลสเตอรอลเกินกว่า 200 มิลลิกรัมแล้ว ส่วนผู้ที่เป็นโรคหัวใจ เบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง หรือหลอดเลือดสมอง ก็ควรจำกัดการบริโภคคอเลสเตอรอลไม่ให้เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน
กำลังโหลดความคิดเห็น