xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : สารพัดปัจจัยเสี่ยง โรคหัวใจคร่าชีวิต พบสถิติใหม่อายุต่ำกว่า 40 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรคที่เกิดกับหัวใจที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตมากที่สุดของประชากรทั่วโลกคือ โรคหัวใจขาดเลือด (หลอดเลือดแดงที่หัวใจตีบ) และโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นเสมือนเพชฌฆาตเงียบที่มาเยือนเมื่อไรก็อาจทรุดฮวบลงได้ทันที

พ.ญ.วิไล พัววิไล กรรมการบริหารสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย และสมาคมหลอดเลือดแดงแข็งแห่ง ประเทศไทย และอายุรแพทย์โรคหัวใจ หน่วยโรคหัวใจ โรงพยาบาลราชวิถีเผยว่า

ปัจจุบันคนไข้โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมีอัตราการเสียชีวิตในโรงพยาบาล 3-17% (Thai ACS Registry สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย พ.ศ.2549) ซึ่งขึ้นกับชนิดของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และอัตราการเสียชีวิตยังขึ้นอยู่กับความเร็วในการมาถึงโรงพยาบาลอีกด้วย หากคนไข้มาถึงโรงพยาบาลภายใน 3 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ ก็สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้

โรคหัวใจขาดเลือด หรือหลอดเลือดแดงที่หัวใจตีบ (Ischemic heart disease =IHD, Coronary artery disease = CAD) คือโรคที่ทำให้หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจ (โคโรนารีย์) ตีบอย่างมีนัยยะ สำคัญ กล่าวคือ ตีบมากกว่า 50% ของเส้นผ่าศูนย์กลางของหลอดเลือด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บอก เหนื่อยหอบ ใจสั่น เป็นลม หมดสติ และตาย แต่ถ้าตีบน้อยกว่า 50% ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆ

สาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือด (หลอดเลือดแดงที่หัวใจตีบ) ส่วนใหญ่เกิดจากไขมันและเนื้อเยื่อสะสมอยู่ในผนังของหลอดเลือดแดง ทำให้เยื่อบุด้านในของผนังหลอดเลือดส่วนนั้นหนา และทำให้หลอดเลือดตีบ

โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดไขมันสะสมในผนังหลอดเลือดแดงที่หัวใจ ได้แก่ ไขมันในเลือดสูงผิดปกติ สูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน อายุ (ชายอายุมากกว่า 45 ปี หญิงอายุมากกว่า 55 ปี) มีประวัติเป็นโรคหัวใจขาดเลือดก่อนวัยอันควร ในญาติสายตรง และปัจจัยอื่นๆ เช่น การอักเสบ การติดเชื้อ มีสารโฮโมซิสติอีนมากไป ไม่ออกกำลังกาย เครียด ซึมเศร้า และอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome)

ปัจจุบันในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดในอายุเฉลี่ยที่น้อยลง เรื่อยๆ โดยพบมากขึ้นในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตมีมากขึ้น เช่น การบริโภค อาหารฟาสฟู้ดส์ที่อุดมด้วยไขมันชนิดร้าย สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น

กลุ่มอาการสำคัญของโรคหัวใจขาดเลือด ได้แก่ อาการเจ็บหน้าอกแบบแองไจนา หัวใจล้มเหลว น้ำท่วมปอดเฉียบพลัน ใจสั่น หมดสติ เสียชีวิตเฉียบพลัน

ทั้งนี้ ตำแหน่งของการเจ็บหน้าอกแบบแองไจนา อาจมีอาการเจ็บได้ทั้งที่หน้าอกด้านซ้ายและด้านขวา ตั้งแต่ใต้ลิ้นปี่ (เหนือระดับสะดือ) ไปถึงคอ โดยลักษณะการเจ็บ จะเจ็บแน่นๆลึกๆ เจ็บรัด หายใจไม่ออก เจ็บปวดมากๆในอก และบางทีอาจ มีอาการเจ็บร้าวไปที่ไหล่ แขน คอ คาง หรือไม่มีก็ได้

• เจ็บอกแบบไหน
เสี่ยงเป็นโรคหัวใจขาดเลือด


ผู้ป่วยจะเจ็บหน้าอกขณะทำงานหนัก เช่น ยกของหนักๆ รีบเร่งทำงาน ตื่นเต้น โกรธ หรือถูกอากาศเย็นจัด โดยมีระยะเวลาเจ็บอกนานประมาณ 2-10 นาที และหายเจ็บเมื่อหยุดพัก หรืออมยา/พ่นยาใต้ลิ้น

บางครั้งอาจมีอาการเหนื่อย ใจสั่น จะเป็นลม หรือเหงื่อแตกร่วมด้วย แต่ถ้าเจ็บอกนาน 20 นาที หรือมากกว่านั้น จะถือเป็นการเจ็บอกแบบกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute coronary syndrome, ACS) ซึ่งเกิดจากการฉีกขาด หรือปริแตกที่ด้านในของผนังหลอดเลือดแดงส่วนที่เสื่อมสภาพอย่างเฉียบพลัน ทำให้เกล็ดเลือดจำนวนมากไปเกาะตรงบริเวณนั้น เป็นก้อนลิ่มเลือดอุดหลอดเลือด และถ้าเจ็บอกนาน 30 นาที หรือมากกว่า อาจเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งการเจ็บอก 2 แบบหลังนี้ต้องรีบพบแพทย์ทันที

• 5 วิธีดูแลตัวเองให้ห่างไกล
โรคหัวใจขาดเลือด

1. ไม่สูบบุหรี่
เพราะบุหรี่ทำให้หลอดเลือดแดงที่หัวใจเกร็ง และทำให้เลือดผ่านเข้าหลอดเลือดแดงน้อยลงทันที ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้ นอกจากนั้นบุหรี่ยังทำให้หลอดเลือดแดงที่หัวใจแข็ง ไขมันชนิดดีลดลง คนสูบบุหรี่จึงเป็นโรคหลอดเลือดแดงที่หัวใจมากกว่าคนไม่สูบถึง 2 เท่า

2. คุมไขมันในเลือดให้ดี ควรงดรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันชนิดร้าย (LDL: low density lipoprotein) เช่น ฟาสฟู้ดส์ ขนมเค้ก ไข่แดง น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว(ที่ไม่ได้กลั่นพิเศษ) เพราะถ้าไขมันชนิดร้ายเข้าไปอยู่ในผนังหลอดเลือดเยอะ จะทำให้ก้อนไขมันโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผนังหลอดเลือดเสื่อมสภาพ ปริแตก และเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้

สำหรับระดับไขมันในเลือดของคนทั่วไป ควรมีระดับโคเลสเตอรอลต่ำกว่า 200 และไขมันชนิดร้าย (LDL) ไม่เกิน 160 แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยง 2 อย่างหรือมากกว่าไขมันตัวร้ายต้องต่ำกว่า 130 และกรณีที่เป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงที่หัวใจตีบ หรือเป็นเบาหวาน หรือเป็นอัมพฤกษ์จากหลอดเลือดในสมองอุดตัน ต้องมีไขมันตัวร้ายไม่เกิน 100

3. ถ้าเป็นความดันโลหิตสูง ต้องควบคุมความดันให้ต่ำกว่า 140/90 โรคความดันโลหิตสูงโดยทั่วไปไม่มีอาการให้ทราบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการของโรคแทรกซ้อน เช่น หลอดเลือดแดงในสมองแตก เป็นอัมพาต ดังนั้นในคนอายุ 40 ปีหรือมากกว่า ควรต้องวัดความดันโลหิตทุกปี เราสามารถป้องกันความดันโลหิตสูงด้วยการลดความอ้วน ลดพุง รับประทานผักผลไม้ที่ไม่หวานจัด ลดเค็ม ออกกำลังกาย

4. ควรตรวจเช็คโรคเบาหวาน หากสังเกตพบว่ามีอาการปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำมาก กินมากขึ้น แต่ผอมลง

5. การออกกำลังกายสามารถป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดได้ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มไขมันชนิดดี และช่วยลดไขมันชนิดร้ายที่เรียกว่า “ไตรกลีเซอไรด์” (triglyceride) โดยการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับคนทั่วไป ต้องออกกำลังกายวันละ 30 นาที 3 วันต่อสัปดาห์ ส่วนผู้ป่วยเป็นเบาหวานต้องออกกำลังกายวันละ 40-50 นาที 5 วันต่อ สัปดาห์ แต่ถ้าอ้วนต้องออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน

อย่างไรก็ดี การออกกำลังกายสำหรับคนที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงที่หัวใจตีบแล้ว ไม่ควรหักโหม เช่น เดินช้าๆ หากเริ่มเหนื่อยหรือเริ่มเจ็บหน้าอกต้องหยุดพัก พอหายเจ็บค่อยออกกำลังกายต่อ

ส่วนคนที่ยังไม่เป็น หากออกกำลังกาย แล้วมีอาการแน่นหน้าอก ยิ่งเดินยิ่งแน่นมากขึ้น ควรต้องหยุดจนกระทั่งหายดีแล้ว จึงไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คหัวใจ

“เดิน” สู้โรคหัวใจขาดเลือด

การเดินและการว่ายน้ำเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ แต่การว่ายน้ำไม่แนะนำให้ว่ายคนเดียวโดยไม่มี Lifeguard เพราะเสี่ยงต่อการจมน้ำจากตะคริว

การเดินเป็นการออกกำลังกายที่ผู้เดินต้องแบกน้ำหนักตัวเอง เหมาะกับผู้มีอายุ และสามารถทำได้ทุกที่ทั้งในและนอกบ้าน โดยค่อยๆเดิน พอเริ่มเหนื่อยก็หยุดพัก หากเดินไม่ไหวก็ยืนกางขาแล้วขยับเอวเบาๆ เพราะการยืนอย่างน้อยก็ยังเป็นการแบกน้ำหนักของตัวเอง

การเดินควรเดินต่อเนื่องเป็นเวลา 30 นาที/วัน 3 วัน/สัปดาห์ แต่ถ้าแบ่งเดินตอน เช้า 10 นาที กลางวันเดินอีก 10 นาที ตอนเย็นเดินอีก 10 นาที ควรต้องเดิน 5 วัน/สัปดาห์ ส่วนผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานควรเดินต่อเนื่องเป็นเวลา 40-50 นาที/วัน 5 วัน/สัปดาห์ เพื่อให้ Insulin Receptor ทำงานได้ดีขึ้น

นอกจากการเดินจะช่วยต่อสู้กับโรคหัวใจได้เป็นอย่างดีแล้ว การเดินเล่นยังให้ประโยชน์ทางอ้อมคือช่วยคลายเครียด และทำให้ปลงได้ เพราะการเดินจะพาเราไปพบชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย ไม่ได้มีแต่เราเท่านั้นที่ต้องต่อสู้กับอาการเจ็บป่วยของร่างกาย โลกยังมีแง่งามให้ชื่นชม และมีอีกหลายคนที่แย่กว่า ขณะที่เรายังแข็งแรงดี เมื่อร่างกายแข็งแรง ก็ไม่มีอะไรต้องกลัว

หากมีเวลาว่างก็ทำงานอดิเรก เช่น ร้องเพลง ปลูกต้นไม้ ถักโครเชท์ ทำสิ่งที่ชอบ ช่วยให้จิตใจมีความสุข ผ่อนคลายจากความตึง เครียด โรคภัยไข้เจ็บก็ไม่กำเริบ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 137 พฤษภาคม 2555 โดย ศิรินทิพย์)




พ.ญ.วิไล พัววิไล
กำลังโหลดความคิดเห็น