xs
xsm
sm
md
lg

นักกอล์ฟที่ความดันโลหิตสูง……..อ่านตรงนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ข้อมูลทางการแพทย์ระบุไว้ว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีโอกาสเสียชีวิตจากหัวใจวายถึง 60-75% เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่มีความดันโลหิตสูงมักจะไม่รู้ตัวว่าเป็น เพราะไม่แสดงอาการ เลยไม่ได้ให้ความสนใจและรักษา นั่นอาจทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร

ซึ่งการควบคุมความดันโลหิตให้ปกติอย่างสม่ำเสมอ สามารถลดโอกาสเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ ความดันโลหิตนั้นเปลี่ยนแปลงได้ตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ดังนี้

1.อายุ ส่วนใหญ่เมื่ออายุมากขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ขณะอายุ 18 ปี ความดันโลหิตเท่ากับ 120/70 มม.ปรอท แต่พออายุ 60 ปี ความดันโลหิตอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 140/90

2.เวลา ความดันโลหิตจะขึ้นๆ ลงๆ ไม่เท่ากันตลอดวัน ตัวอย่างเช่น ในตอนเช้า ความดันซิสโตลิกอาจจะวัดได้ 130 มม.ปรอท ขณะที่ตอนช่วงบ่ายอาจวัดได้ถึง 140 มม.ปรอท ขณะนอนหลับอาจวัดได้ต่ำถึง 100 มม.ปรอท เป็นต้น

3.จิตใจและอารมณ์ พบว่ามีผลต่อความดันโลหิตได้มาก ขณะที่ได้รับความเครียดอาจทำให้ความดันโลหิตสูงกว่าปกติได้ถึง 30 มม.ปรอท

4.เพศ พบว่า เพศชายจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้บ่อยกว่าเพศหญิง

5.พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ผู้ที่มีบิดามารดาเป็นโรคความดันโลหิตสูง มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติในครอบครัว สิ่งแวดล้อมที่เคร่งเครียดก็ทำให้มีแนวโน้มการเป็นโรคความดันสูงขึ้นเช่นกัน

6.สภาพภูมิศาสตร์ ผู้ที่อยู่ในสังคมเมืองจะพบภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าในสังคมชนบท

7.เชื้อชาติ พบว่าชาวนิโกรอเมริกันความดันโลหิตสูงมากกว่าชาวอเมริกันผิวขาว

8.ปริมาณเกลือที่รับประทาน ผู้ที่รับประทานเกลือมากจะมีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ที่รับประทานเกลือน้อย

ภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงนานๆ ทำให้
♥ หัวใจทำงานหนักขึ้น ทำให้ผนังหัวใจหนาตัว และถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผนังหัวใจจะยืดออกและเสียหน้าที่ ทำให้เกิดหัวใจโต และหัวใจวายได้ในที่สุด
♥ อาจเกิดภาวะหลอดเลือดในสมองตีบตัน หรือแตก ทำให้เป็นอัมพาต หรือเสียชีวิตได้ ถ้าเป็นเรื้อรังอาจกลายเป็นโรคความจำเสื่อม สมาธิลดลง
♥ เลือดอาจไปเลี้ยงไตไม่พอ เนื่องจากหลอดเลือดเสื่อม ทำให้ไตวายเรื้อรัง และภาวะไตวาย จะยิ่งทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นอีก
♥ หลอดเลือดแดงในตาจะเสื่อมลงอย่างช้าๆ อาจมีเลือดที่จอตา ทำให้ประสาทตาเสื่อม ตามัวลงเรื่อยๆจนตาบอดได้

การป้องกันโรคหัวใจแทรกซ้อนจากการเป็นความดันโลหิตสูง
♥ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น การเดินเร็วๆ วิ่งเหยาะ หรือว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ควรออกกำลังกายประมาณ 15-20 นาที อย่างน้อย 3-6 ครั้งต่อสัปดาห์
♥ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เพื่อลดปริมาณเกลือ ซึ่งจะทำให้ความดันโลหิตสูงได้
♥ ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
♥ ลดความเครียดของงานและภาวะแวดล้อม
♥ ลดน้ำหนักตัว โดยเฉพาะในรายที่น้ำหนักเกินมาตรฐาน ความอ้วนถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคความดันโลหิตสูง
♥ รับประทานยา และพบแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อตรวจวัดความดันโลหิต และปรับยาให้เหมาะสม

ด้วยความห่วงใยพวกเรานักกอล์ฟ ใครรู้ตัวว่ามีความดันโลหิตสูง อย่าดันทุรังครับ! รีบปรึกษาแพทย์ด่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น