ลูกเสือคนที่ 1 : โอ้โห.....เจ๋งมากเลย!
ลูกเสือคนที่ 2 : ข้าวไม่ไหม้ด้วย ไหนลองชิมซิว่าสุกไหม โอ้.... ทั้งนุ่มทั้งหอม
ลูกเสือคนที่ 1 : เก่งมากนะ โนบีตะ เอ๊ย! ดิว
ตอนแรกเซ็งเลยที่ได้นายมาเข้ากลุ่ม เห็นจ๋องๆ นึกว่าจะไม่ได้เรื่อง แต่จริงๆนายเจ๋งว่ะ
ลูกเสือคนที่ 2 : ใครสอนนายหุงข้าวหม้อสนามเนี่ย?
ดิว : พ่อ พ่อสอนตอนพาไปเที่ยวป่า
ลูกเสือคนที่ 2 : เหรอ! พ่อนายดีเนอะ พ่อฉันให้รอกินอย่างเดียว บอกว่าขืนให้ฉันหุงเดี๋ยวข้าวไหม้
ลูกเสือคนที่ 1 : ฉันนะเคยขอแม่หุงข้าว ขนาดหม้อไฟฟ้าที่ง่ายกว่านี้เยอะ แม่บอกไม่ต้อง กลัวเสียของ
ดิว : พ่อสอนให้ติดไฟแบบไม่ใช้ไม้ขีดด้วยนะ (น้ำเสียงภูมิใจ)
ลูกเสือคนที่ 2 : เหรอ! เก่งจัง ดิวสอนพวกเราด้วยน้า นะๆๆ
ดิว : ได้สิ โน่น ครูเดินมาให้คะแนนแล้ว
ครูฝึก : ไหน ครูขอดูข้าวกลุ่มนี้หน่อยซิ กลุ่มที่แล้วเป็นข้าวสามกษัตริย์ ข้างล่างไหม้ ตรงกลางแฉะ ข้างบนดิบ (เด็กๆหัวเราะ) เปิดฝาซิ ข้าวกลุ่มนี้ยอดจริงๆ เอาไปเลย 10 คะแนน
เด็ก : เย้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
พ่อแม่มักให้ความสำคัญกับความรู้จากหนังสือเรียนมากกว่าความรู้ที่พ่อแม่มีเพราะมองว่าไม่สำคัญ การฝึกให้ลูกช่วยตัวเองและทำงานบ้านรวมถึงการให้ลูกได้มีประสบการณ์ที่หลากหลายแทนการเรียนหนังสืออย่างเดียว จะช่วยให้ลูกเก่งและพึ่งตนเองได้ค่ะ
ความรู้จากพ่อแม่
พ่อแม่มักทุ่มเทให้ความสำคัญในการเรียนหนังสือ หรือความรู้ในตำราของลูก มากกว่าการส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้ทักษะชีวิตด้านอื่นๆ ทั้งๆที่การเรียนรู้เหล่านี้เป็นประโยชน์และจำเป็นต่อลูกๆในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะความรู้จากพ่อแม่ซึ่งเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ตั้งแต่เด็กจนเป็นพ่อแม่คน เราสามารถถ่ายทอดความรู้ได้หลายรูปแบบและวิธีการไว้เป็นความสามารถติดตัวลูกได้ เช่น
• ผ่านการเล่น
เช่น การสอนลูกทำของเล่น ทำสิ่งประดิษฐ์ เล่นเกมหมากกระดาน
• ผ่านการเดินทางท่องเที่ยว
เช่น การเตรียมตัวเดินทาง การจัดกระเป๋า การศึกษาพื้นที่ที่จะไปเที่ยว การดูแผนที่ การกางเต็นท์ ก่อไฟ หุงข้าวหม้อสนาม ฯลฯ
• ผ่านงานสวน
ปลูกต้นไม้ สมุนไพรและประโยชน์ใช้สอย วงจรชีวิตแมลง การขยายพันธุ์ การให้ปุ๋ย การสังเกตธรรมชาติ ดูนก
• ผ่านงานครัว
เรื่องโภชนาการ พืชผักต่างๆ การเลือกเนื้อสัตว์ เคล็ดลับการทำอาหาร เครื่องปรุง ขั้นตอนการทำอาหาร สูตรอาหารต่างๆ อาหารนานาชาติ ของหวาน เครื่องดื่ม ประวัติศาสตร์อาหาร
• ผ่านการสอนด้านการเงิน
เช่น ทำบัญชีรับจ่าย การออมเงิน เปิดบัญชีธนาคาร เบิกถอนบัญชี
• ผ่านการช่วยกิจการของครอบครัว
เช่น การบริการลูกค้า การพูดคุยให้ข้อมูลสินค้า การคำนวณเงิน
เมื่อความรู้ความชำนาญหลายๆด้านที่พ่อแม่สอนทำให้เด็กเก่ง มีในสิ่งที่เพื่อนไม่มี หรือทำเป็นในสิ่งที่เพื่อนทำไม่เป็น จะยิ่งทำให้ได้รับการยอมรับจากกลุ่ม มีสภาวะผู้นำ เกิดภาคภูมิใจในพ่อแม่ที่สอนความรู้เหล่านี้ให้
ควรทำ
• เปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ทั้งจากครอบครัวและโลกรอบตัวซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ที่แท้จริงของเด็ก ไม่ควรจำกัดเฉพาะความรู้แคบๆในห้องเรียน
• ความรู้ที่มีอยู่ในตัวพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ญาติ เป็นความรู้สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นความรู้มหาศาลที่ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่ง นอกจากความรู้ที่ได้ เด็กยังมีความภาคภูมิใจต่อผู้ใหญ่ในครอบครัว ซึ่งเป็นสายสัมพันธ์ที่ยึดโยงจิตใจคนในครอบครัวเอาไว้
• ความรู้อย่างเดียวยังสู้ทำสำเร็จไม่ได้ เช่น อธิบายการหุงข้าวได้ดี แต่หุงข้าวเองไม่ได้ ยังสู้อธิบายคนอื่นก็ได้และหุงข้าวให้คนอื่นดูก็ได้
• สอนความรู้ให้ลูกช่วยเหลือตนเองได้เร็ว ลูกก็จะยิ่งเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือคนอื่นได้มากขึ้น ทำได้มากกว่าเพื่อน ก็เท่ากับสอนภาวะผู้นำให้เด็ก
ไม่ควรทำ
• การห้าม ดุว่า เร่งรัด บีบบังคับ จะเป็นตัวทำลายความอยากเรียนรู้ของเด็ก
* หัวใจการเลี้ยงดู
ความรู้ของพ่อแม่เป็นขุมทรัพย์สำคัญในการฝึกฝนลูก
จัดทำข้อมูลโดย : แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย
สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 141 กันยายน 2555 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)