พิพิธภัณฑ์ศิลปะในสหรัฐฯ จัดนิทรรศการ “พุทธศาสนาบนเส้นทางสายไหม : ศตวรรษที่ 5-8”
• สหรัฐอเมริกา : พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กำลังจัดแสดงนิทรรศการ “Buddhism along the Silk Road : 5th-8th Century” (พุทธศาสนาบนเส้นทางสายไหม : ศตวรรษที่ 5-8) ระหว่างวันที่ 2 มิถุนายน 2012 ถึง 10 กุมภาพันธ์ 2013
โดยมีการนำภาพเขียน ประติมากรรม และวัตถุโบราณที่ทำด้วยทอง จากประเทศอินเดีย ปากีสถาน อัฟกานิสถาน และด้านตะวันตกของเอเชียกลาง มาจัดแสดงให้เห็นถึงประวัติความเป็นมาเรื่องศาสนา เศรษฐกิจ การทหาร ในศตวรรษที่ 6 รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางด้านศิลปะทั่วอาณาบริเวณนี้ และการรุกรานของชาวฮั่น
(จาก Alpha Omega Arts)
ตำรวจปากีสถานยึดโบราณวัตถุ อายุกว่าสองพันปี มูลค่าหลายร้อยล้าน
• ปากีสถาน : เมื่อเดือนกรกฏาคม 2012 เจ้าหน้าที่ตำรวจปากีสถานได้เข้ายึดตู้คอนเทนเนอร์ที่นครการาจี ซึ่งกำลังถูกลำเลียงไปยังกรุงอิสลามาบัด ซึ่งเป็นเมืองหลวง เมื่อตรวจค้นภายในตู้ พบโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาจำนวนมาก นับเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านบาท ที่เตรียมลักลอบนำออกนอกประเทศ ไปขายในตลาดค้าของเก่านานาชาติ
ซาลิมุล ฮาก ผู้อำนวยการกองโบราณคดีแห่งชาติกล่าวว่า มีทั้งรูปปั้นพระพุทธรูปและโบราณวัตถุสมัยคันธาระ ที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่ามีอายุมากกว่า 2,000 ปี โดยคาดว่า ถูกลักลอบขุดออกมาจากแหล่งโบราณคดีทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน ซึ่งบริเวณนี้ ในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนอารยธรรมพุทธที่เจริญรุ่งเรืองสูงสุดในช่วงศตวรรษที่ 1-5 มีเนื้อที่พาดผ่านประเทศปากีสถานและอัฟกานิสถานในปัจจุบัน
(จาก AP)
กัมพูชาออกกฎห้ามสูบบุหรี่ ในนครวัดนครธม
• กัมพูชา : เมื่อเร็วๆ นี้ ตัน สัมพู รองเลขาธิการสำนักงานอัปสรา ซึ่งมีหน้าที่จัดการดูแลเมืองพระนครและจังหวัดเสียมราฐ เปิดเผยว่า รัฐบาลกัมพูชาได้ออกกฎห้ามสูบบุหรี่ทั่วบริเวณเมืองพระนคร เพื่อส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือน อีกทั้งยังช่วยป้องกันมิให้เกิดไฟป่า
เขากล่าวว่า จะมีการติดป้าย “ห้ามสูบบุหรี่” ทั่วบริเวณ และให้บรรดาเจ้าหน้าที่ช่วยเอ่ยปากเตือนด้วย
อนึ่ง เมืองพระนคร (Angkor Temples) ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 1992 ตั้งอยู่ในจังหวัดเสียมราฐ เคยเป็นราชธานีที่รุ่งเรืองที่สุดของอาณาจักรขอมโบราณ เป็นที่ตั้งของโบราณสถานสำคัญที่มีชื่อเสียงก้องโลก เช่น นครวัดนครธม ฯลฯ
(จาก Associated Press)
ศรีลังกาเตรียมฉายหนังพุทธประวัติ
• ศรีลังกา : มูลนิธิแสงสว่างแห่งเอเชีย ในศรีลังกา เตรียมนำโครงการล่าสุด “Sri Siddhartha Gautama” หรือ “สิทธัตถะ โคตมะ” ซึ่งเป็นภาพยนตร์มหากาพย์พุทธประวัติ เล่าเรื่องราวของเจ้าชายสิทธัตถะตั้งแต่ประสูติจนถึงตรัสรู้ ออกฉายในเดือนตุลาคม 2012
ทั้งนี้ ศรีลังกาจะเป็นประเทศแรกในโลกที่สร้างภาพยนตร์พุทธประวัติอย่างยิ่งใหญ่ โดยบทภาพยนตร์ได้ผ่านการอนุมัติจากมหาสังฆะ อันเป็นสภาสงฆ์สูงสุดของศรีลังกา เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของเจ้าชายสิทธัตถะที่สะท้อนให้เห็นถึงความรัก ความกล้าหาญ และความเห็นอกเห็นใจ
โดยมี เนวิน กุนรัตนี ประธานมูลนิธิแสงสว่างแห่งเอเชีย ร่วมกับ เจฟ กูนวาดีนา อดีตกงสุลทั่วไปและเจ้าของโรงแรมชื่อดัง เป็นผู้อำนวยการสร้าง กำกับการแสดงโดยสามัน วีระมัน และนำแสดงโดยนักแสดงนานาชาติ ซึ่งถ่ายทำในศรีลังกาเป็นส่วนใหญ่
(จาก Light of Asia Foundation)
รัสเซียพิมพ์สารานุกรมพุทธศาสนาฉบับสมบูรณ์เป็นครั้งแรก
• รัสเซีย : หลายปีที่ผ่านมา ความสนใจในพุทธศาสนาได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศรัสเซีย ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการจัดพิมพ์สารานุกรมปรัชญาพุทธศาสนาฉบับสมบูรณ์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเปิดตัวเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2012 ในการประชุมปรัชญาเปรียบเทียบนานาชาติครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นที่สถาบันปรัชญาศึกษาแห่งรัสเซีย ในกรุงมอสโคว์ โดยมีนักวิชาการจำนวนมากจากทั่วโลกเข้าร่วมสัมมนา
สารานุกรมดังกล่าว หนา 1,045 หน้า มี ดร.มาเรียตต้า สเตปันเนียนส์ เป็นบรรณาธิการ โดยได้รับการสนับสนุนและช่วยเหลือจากนักวิชาการหลายท่าน
ดร.อับดูซาลัม กุไซนอฟ ผู้อำนวยการสถาบันปรัชญาฯ กล่าวว่า นับเป็นสารานุกรมปรัชญาพุทธศาสนาเล่มแรกในประเทศที่มีเนื้อหาจากแหล่งกำเนิดครอบคลุมในทุกๆด้าน
(จาก Shambhalasun.com)
จีนต่อต้านการนำวัดดังเข้าตลาดหุ้น
• จีน : สืบเนื่องจากรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี่ เมื่อเดือนมิถุนายน 2012 ที่ระบุว่า ฝ่ายบริหารของบริษัทพัฒนาการท่องเที่ยวยอดเขาผู่โถวซาน ที่ดูแลยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ผู่โถวซาน (เป็นหนึ่งในสี่ยอดขุนเขาแห่งพุทธศาสนาของจีน อันเป็นสถานที่สถิตแห่งองค์เจ้าแม่กวนอิมศักดิ์สิทธิ์ ที่ชาวจีนและคนทั่วโลกนิยมมาสักการะขอบุตร) ซึ่งอยู่ในมณฑลเจ้อเจียง ทางตะวันออกของจีน ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ และเตรียมการณ์เป็นเวลา 1 ปี เพื่อระดมทุน 750 ล้านหยวน (ราว 3,600 ล้านบาท) โดยนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรกนั้น
หลิว ไว ผู้อำนวยการกองบริหารงานศาสนาแห่งประเทศจีน กล่าวในที่ประชุมในนครเซี่ยงไฮ้ ว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลท้องถิ่น ในการนำวัดต่างๆ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะจะส่งผลเสียต่อสิทธิทางกฎหมาย ทำลายภาพพจน์ของพุทธศาสนิกชน และยังทำร้ายความรู้สึกของผู้มีจิตศรัทธาด้วย
โดยระบุว่า วัดเป็นสถานที่ให้ผู้มีจิตศรัทธาใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร อีกทั้งยังไม่เคยมีที่ไหนในโลก ที่นำวัดเข้าตลาดหุ้น ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจควรมีข้อจำกัด และไม่ควรก้าวข้ามเส้นแบ่งทางศีลธรรม
ที่ผ่านมา มีวัดพุทธของจีนและลัทธิเต๋าหลายแห่งได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งสร้างรายได้ให้รัฐบาลท้องถิ่น ดังนั้น จึงมีความพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้วัดมีเสน่ห์ดึงดูด และสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น และหนึ่งในความพยายามนั้นคือการนำวัดเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้หรือฮ่องกง
ดังเช่นในปี 2009 มีความพยายามที่จะผลักดันวัดเส้าหลิน ซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อเสียงที่สุดของจีน ตั้งอยู่ในมณฑลเหอหนาน เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุน และนักท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น แต่ต้องล้มเหลว เพราะพระชิยงซิน เจ้าอาวาสวัด และหน่วยงานด้านศาสนาของรัฐ ได้ออกมาคัดค้าน
ปัจจุบัน จีนมีศาสนสถานทั่วประเทศราว 139,000 แห่ง แบ่งเป็นวัดพุทธ 33,000 แห่ง วัดเต๋า 9,000 แห่ง สุเหร่า 35,000 แห่ง และโบสถ์คริสต์ 56,000 แห่ง
(จาก Xinhua)
ยูเนสโกขึ้นทะเบียน “แม่พิมพ์ไม้แกะสลักบทสวดมนต์” เป็นมรดกความทรงจำโลก
• เวียดนาม : เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2012 องค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนชุดแม่พิมพ์ไม้แกะสลักบทสวดมนต์ขอเวียดนาม เป็นมรดกความทรงจำโลก อย่างเป็นทางการแล้ว
ชุดแม่พิมพ์ไม้นี้มีทั้งหมด 3,050 ชิ้น ตัวแม่พิมพ์ทำจากไม้เนื้ออ่อนที่ทนทานต่อสภาพอากาศได้ดี มีขนาดแตกต่างกัน โดยเฉลี่ยวัดได้ 33 x 23 x 2.5 ซม. แกะสลักเป็นตัวอักษรจีนฮั่นและนอม (ภาษาเวียดนามท้องถิ่น) มีสีดำ เนื่องจากหมึกพิมพ์ที่ตกค้างเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่เป็นแม่พิมพ์ที่พิมพ์ได้ทั้งสองด้าน
แม่พิมพ์ไม้ดังกล่าวแกะสลักในช่วงศตวรรษที่ 19-20 โดยเหล่าภิกษุแห่งวัดวิญเหงียม ในจังหวัดบั๊กซาง ทางตอนเหนือของเวียดนาม นอกจากจะเป็นบทสวดมนต์ และเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนา และวิวัฒนาการและปรัชญาของนิกายเซน “ตรัค ลัม” ซึ่งก่อตั้งโดยพระเจ้าตรัน นานถ่อง ในศตวรรษที่ 13 แล้ว ยังมีเรื่องราวความเป็นมาของการแกะสลักแม่พิมพ์ไม้ และการพิมพ์ รวมทั้งวิธีการแกะสลักอย่างประณีตของบรรดาภิกษุที่มีชื่อเสียงแห่งวัดวิญเหงียมด้วย
(จาก VNA)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 140 สิงหาคม 2555 โดย เภตรา)