xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : "ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง" ทางรอด "โรคเรื้อรัง"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
โรงพยาบาลพญาไทเพิ่มความเข้มข้นโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพหวังให้ลูกค้าและผู้ป่วย “ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง” เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตด้วย “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” ที่มีข้อบ่งชี้ว่าป่วยและตายสูงขึ้นทุกปี

โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากขึ้น ได้แก่ มะเร็ง โรคหัวใจ เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง อัมพาต อัมพฤกษ์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มโรคที่มีความสัมพันธ์กันกับปัจจัยเสี่ยง คือ ไขมันในเลือดสูง ความดันสูง สูบบุหรี่ และ ดื่มสุรา เป็นต้น

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัว เครือโรงพยาบาลพญาไท บอกว่า สถิติของคนไทยตาย เพราะ “โรคไม่ติดเชื้อ” สูงขึ้นทุกปี ตามวิถีการดำเนินชีวิต หรือไลฟ์สไตล์

นพ.สันต์ ย้ำว่า คนไทยยุคใหม่ที่มีอายุ 50 ลงมา มีโครงสร้างของปัจจัยเสี่ยงต่างไปจากยุคเก่า

อย่างงานสำรวจวิจัยที่ทำกับคนไข้อายุ 50 ปีขึ้นไป พบว่าคนไทย 1 ใน 3 เป็นความดันเลือดสูง และอีกครึ่งหนึ่งตรวจพบว่ามีไขมันในเลือดสูง

ก่อนหน้านี้ รพ.พญาไท 2 ใช้วิธีปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง (Total Lifestyle Modification) กับคนไข้โดยแบ่งเป็น 2 โปรแกรม โปรแกรมแรก Ultimate Life รับคนไข้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ให้การดูแลสุขภาพตลอดชีวิต มีแพทย์พยาบาลและผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลและติดตามการใช้ชีวิต สอนให้ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม มีการตรวจวัดดัชนีมวลกาย และหาก เกิดเจ็บป่วยก็ไม่ต้องเสียเงินค่ารักษาอีกตลอดชีพ คิดค่าบริการคนละ 2 ล้านบาท

โปรแกรมที่สอง PMP (Personalize Medicine Program) เหมือนโปรแกรมแรก แต่ต่างกันที่เมื่อเจ็บป่วยแทรกซ้อน คนไข้ต้องจ่ายค่ารักษาเอง คิดค่าบริการรายปี ปีละ 25,000 บาท/คน

ผลลัพธ์ที่น่าสนใจ คือความสำเร็จในการเปลี่ยนพฤติกรรมคนไข้ 60% และมีที่เลิกบุหรี่ได้ 80% จึงเห็นว่าควรขยายผลการดูแลโดยตรวจวัดดัชนีมวลกายที่มีโปรแกรมการตรวจที่ดี สำหรับไปใช้กับโปรแกรมและแผนตรวจสุขภาพอื่นๆ และขยายผลไปสู่ผู้ป่วยที่เป็นโรคไม่ติดเชื้ออยู่แล้ว รวมถึงเตรียมเปิดบริการ เฮลท์ โปรโมชั่น ฮอลล์ (Health Promotion Hall) เป็นศูนย์บริการข้อมูลความรู้การดูแลสุขภาพ และเปิดห้องเอ็กเซอร์ไซส์ให้บริการด้านการฝึกบริหารร่างกาย การเต้นแอโรบิก การบริหารกล้ามเนื้อ เป็นต้น

แม้ว่าวิธีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิงมีข้อบ่งชี้ชัด ว่าช่วยลดอัตราการตายของผู้ป่วยโรคไม่ติดเชื้อ แต่ นพ.สันต์ ก็บอกว่า

“ความยากในการจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยชินของคนไข้ต่างหากเป็นอุปสรรคใหญ่ ความยากแรก แนะนำและชักจูงใจให้ออกกำลังกายเป็นประจำและต่อเนื่อง ความยากที่สอง คือการควบคุม และเลือกบริโภคอาหาร และความยากที่สาม ให้คนไข้พักผ่อนอย่างเพียงพอ”

• 5 หลักปฏิบัติ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างสิ้นเชิง •

ตัวผู้ป่วยเองจะต้องให้ความร่วมมือตามหลักปฏิบัติ 5 ประการ คือ 1) ออกกำลังกายให้ได้ระดับมาตรฐาน 2) โภชนาการที่ถูกต้อง โดยเฉพาะหลีกเลี่ยงการบริโภคตัวเพิ่มไขมันเลว 3) ได้พักผ่อนนอนหลับเพียงพอ อย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง 4) ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วน แม้จะเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม 5) ได้รับการตรวจประเมินความเสี่ยงสุขภาพประจำปี เพื่อให้รู้ว่าตัวเองมีปัจจัยเสี่ยงสุขภาพอะไรบ้าง และมีแผนจัดการปัจจัยเสี่ยงให้กับตนเอง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 139 กรกฎาคม 2555 โดย วิบูลย์)
กำลังโหลดความคิดเห็น