xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : "ขัณฑสกร" ยาจากหยดน้ำบนต้นไม้?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้อ่านอาจเคยได้พบเห็นคำว่า “ขัณฑสกร” และ “ซัคคารีน” เพราะเคยมีผู้รู้หลายท่านเปิดประเด็นเขียนเรื่องดังกล่าวเผยแพร่ไปแล้วหลายท่าน แต่ปัจจุบันยังมีผู้เข้าใจผิดคิดว่า “ขัณฑสกร” คือ ซัคคารีน (โซเดียมซัคคารีน) หรือที่เรียกกันว่า “น้ำตาลเทียม” กันอยู่มาก ที่จริงมันเป็นคนละสิ่งกัน หากเราจะใช้หลักวิเคราะห์ช่วงเวลาการเกิดและใช้คำศัพท์ ก็จะพิสูจน์ทราบได้ทันที

“ซัคคารีน (saccharine)” เป็นสารเคมี ให้ความหวานที่ถูกสังเคราะห์โดยบังเอิญ ครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1879 (พ.ศ.2422) ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 ของไทยเรา สารนี้ถูกสังเคราะห์โดยนักวิจัยสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ Ira Remsen และ Constantine Fahlberg แห่งมหาวิทยาลัย จอหน์ฮอบกินส์ และได้ตั้งชื่อตามสูตรเคมี เรียกใช้กันหลายชื่อ ซึ่งก็มีซัคคารีนรวมอยู่ด้วย

ส่วนคำว่า “ขัณฑสกร” มีปรากฏอยู่แล้วตามคัมภีร์ยาไทยแผนโบราณ ตามสมุดข่อยหรือแผ่นหินที่สลักไว้ที่วัดโพธิ์ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และที่เก่ากว่านั้น ก็ยังมีปรากฏในตำราโอสถพระนารายณ์ สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยตำรายาของไทยอธิบายไว้ว่า ขัณฑสกรเป็นเครื่องยาไทยอย่างหนึ่ง มีหลายชนิดและมีแหล่งกำเนิดต่างๆกันดังนี้

1. ขัณฑสกรที่เกิดจากหยาดน้ำค้าง ซึ่งตกค้างอยู่บนใบไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกว่าต้นขัณฑสกร ต้นไม้นี้อยู่ในต่างประเทศ ขัณฑสกรนี้จะหาได้ในฤดูหนาว เมื่อน้ำค้างตกลงมาขังอยู่ตามใบต้นขัณฑสกรในเวลากลางคืน รุ่งเช้าก็ไปเก็บใส่กระบอกไม้ไผ่แขวนไว้จนน้ำค้างแห้ง ก็จะได้ขัณฑสกรเป็นเกล็ดสีขาวนวล มีรสหวานจัดจนขม ขัณฑสกรนี้มีสรรพคุณใช้บำรุงกำลัง ทำให้ปัสสาวะคล่อง แก้เสมหะจุกคอ ทำให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ

2. ขัณฑสกรที่เกิดจากน้ำอ้อย สรรพคุณใช้บำรุงธาตุ บำบัดฝีผอมเหลือง

3. ขัณฑสกรที่ทำขึ้นจากน้ำผึ้ง รวงที่เกิดริมฝั่งทะเล มีสรรพคุณแก้นิ่ว แก้ท้องมาน แก้สะอึก แก้กำเดา แก้ไข้เซื่องซึม แก้จุกเสียด ลมพิษ คอแห้ง

4. ขัณฑสกรที่เกิดจากเกสรบัวหลวง รสหวานจัดจนขม สรรพคุณเหมือนข้อ 1.

ส่วน ‘ยาจากหยดน้ำบนใบต้นไม้’ นั้นเมื่อปี ค.ศ. 2000 ที่สหรัฐอเมริกามีรายงานจากการค้นคว้าวิจัยของนักวิทยาศาสตร์พบว่า บรรดาต้นพืชเป็นแหล่งผลิตสร้างสสารทุกๆสิ่ง ตั้งแต่วัคซีนไปถึงพลาสติก โดยเฉพาะโปรตีนที่ได้จากเนื้อเยื่อต้นพืชนั้น ถ้าใช้วิธีสกัดออกมาจะยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูง จึงทดลองหาวิธีให้พืชคายสารโปรตีนออกมาในรูปของหยดน้ำค้างที่พบตามใบไม้ ที่จริงจะเรียกว่า ‘น้ำค้าง’ ก็ไม่ถูกต้อง เพราะน้ำค้างเกิดจากภายนอก จากสภาพอากาศกลั่นตัวลงมา แต่การคายตัวของสารโปรตีน (หรือสารอื่นๆ) ออกมาให้เห็นเป็นหยดน้ำบนใบไม้ เกิดจากภายในเซลของพืช เราเรียกขบวนการนี้ว่า ‘กัตเตชั่น’ (Guttation) กล่าวคือในระหว่างตอนกลางคืนใบไม้ของพืชจะระเหยไอความชื้นออกมาได้น้อย ฉะนั้นจะเกิดความดันของเหลวขึ้นภายในเซล พืชจะดันเอาของเหลวออกนอกเซล พืชในของเหลวนี้ก็จะมีพวกโปรตีนอยู่ด้วย

ด้วยหลักการนี้เองนักวิทยาศาสตร์พยายามทดลองกับต้นใบยาสูบ เพื่อให้มันผลิตของเหลวโปรตีนออกมา 3 ชนิด ในรูปของน้ำค้างตอนเช้ามืด พวกเขาหวังว่าในอนาคตจะทดลองกับพืชชนิดอื่นๆ เช่น หญ้า มะเขือเทศ และสามารถนำไปเตรียมยา, วัคซีนต่อไป

หยาดหยดน้ำของสารของเหลวภายในต้นพืชนี้ เมื่อมาพบเห็นในตอนเช้าจึง ดูเหมือนน้ำค้างมาก ฉะนั้น ขัณฑสกรตามการบันทึกที่คนโบราณว่าไว้นั้น อาจจะเป็นสิ่งเดียวกันกับที่นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันค้นพบและดำเนินการวิจัยอยู่ก็ได้ และในเมื่อขบวนการกัตเตชั่นนี้เกิดขึ้นได้กับบรรดาต้นไม้ชนิดต่างๆ ซึ่งต้นไม้แต่ละชนิดมีสสารให้คุณสมบัติทางยาแตกต่างกันไป จึงอาจทำให้เกิดขัณฑสกรชนิดต่างๆ ได้

(ข้อมูลจากปกิณกเภสัชศาสตร์
องค์การเภสัชกรรม)


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 139 กรกฎาคม 2555 โดย กองบรรณาธิการ)

กำลังโหลดความคิดเห็น