กรมแพทย์แผนไทยฯ เผยผลพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการ หญ้าหยาดน้ำค้าง พบเป็นกาบหอยตัวเมีย ยังไม่พบงานวิจัยว่ามีสรรพคุณรักษาโรคมะเร็ง โรคเรื้อรัง ชี้ ในไทยนำใบอ่อนกินเป็นผักแกล้มได้ มีรายงานใช้ในหมอพื้นบ้านภาคอีสาน ใช้ลำต้นรักษาโรคกามโรค
จากกรณีที่มีข่าวแพร่สะพัดที่ตำบลวังพิกุล อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก เกี่ยวกับนำหญ้าหยาดน้ำค้างมาต้มกินรักษาโรคได้เกือบทุกชนิด ทำให้มีผู้คนทั่วไปตระเวนหาหญ้าดังกล่าวมาต้มกินจำนวนมาก เนื่องจากมีการอ้างสรรพคุณ สามารถรักษาโรคได้สารพัด โดยเฉพาะโรคมะเร็ง หรือโรคที่รักษาไม่หาย รวมทั้งโรคปวดเข่า ข้อกระดูก และอ้างว่าเป็นยาผีบอกนั้น
ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว วันนี้( 1 ก.ค.) นายแพทย์ สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า หญ้าหยาดน้ำค้างนี้ เคยเป็นข่าวมาแล้วที่จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2555 โดย นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ เก็บตัวอย่างหญ้าดังกล่าวมาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลการตรวจพบว่า หญ้าดังกล่าวเป็นหญ้ากาบหอยตัวเมีย มีชื่อทางพฤษศาสตร์รู้จักกันทั่วโลก ว่า ลินเดอเนีย ครัสตาซี (Lindernia crustacea (L.) F.Muell.var.crustacea) ในไทยเรียกชื่อหญ้าชนิดนี้แตกต่างกัน เช่น กรุงเทพฯเรียกตะขาบไต่ดิน นราธิวาสเรียกว่าหญ้ามันลิง หรือเรียกหญ้าหยาดน้ำค้าง
นายแพทย์ สุพรรณ กล่าวต่อว่า จากรายงานการใช้ประโยชน์จากหญ้าชนิดนี้ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ยังไม่มีงานวิจัยว่ามีสรรพคุณรักษาโรคมะเร็ง โรคปวดเข่า หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ แต่อย่างใด ในไทยพบเพียงมีการนำใบอ่อนใช้กินเป็นผักแกล้ม หมอพื้นบ้านในภาคอีสาน ใช้ลำต้นเป็นยารักษากามโรค ใช้ใบปรุงเป็นยาต้มดื่มหลังคลอด ส่วนในต่างประเทศ พบในอินเดีย มีการนำหญ้ากาบหอยตัวเมีย มาตากแห้ง บดเป็นผงและละลายน้ำ ดื่มในตอนเช้าเพื่อล้างท้อง ใช้ใบเคี้ยวกับน้ำมะนาวเพื่อเพิ่มการหลั่งของน้ำดี และใช้เป็นยาทาภายนอก รักษาโรคกลากเกลื้อน แผลน้ำร้อนลวก โรคผิวหนัง เพื่อต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และมีรายงานที่มาเลเซีย ใช้ทั้งลำต้น ใส่แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลอักเสบ โดยเฉพาะแผลที่โดนเห็บป่ากัด และใช้ในสตรีหลังคลอด
“จึงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวลือ หรือยาผีบอก ที่ไม่ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรือการรักษาในตำราของหมอพื้นบ้าน ขอให้ติดตามข่าวสารทางราชการ โดยเฉพาะในรายที่เป็นโรคเรื้อรังเช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่ต้องกินยาตามแผนการรักษาของแพทย์ ขอให้กินอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอาการไม่ให้กำเริบ และหากต้องการกินยาสมุนไพร ขอให้ปรึกษาแพทย์ที่ให้การดูแลรักษาก่อน จะเกิดประโยชน์และปลอดภัยกว่า” นายแพทย์ สุพรรณ กล่าว
ทั้งนี้ หญ้ากาบหอยตัวเมีย พบขึ้นได้ทั่วไปบริเวณริมถนน นาข้าว ริมน้ำ ในไทยพบทุกภาค เช่น ที่ เชียงใหม่ พิษณุโลก ตาก แม่ฮ่องสอน ชัยภูมิ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ชลบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช นราธิวาส ตรัง สตูล กระจายพันธุ์กว้างในหลายทวีป เช่น ทวีปแอฟริกา อเมริกา ออสเตรเลีย และ เอเชีย