xs
xsm
sm
md
lg

กทม.กระตุ้นสถานประกอบการเตรียมแผนป้องกันภัยจากสารเคมี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กทม.เตรียมความพร้อมแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย หวังกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจการจัดการสารเคมีและวัตถุอันตราย อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตประชาชนและสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (20 มิ.ย.) พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมผู้ประกอบการในกลุ่มสถานประกอบการที่มีการจัดเก็บ สะสม ผลิต ขนส่ง การใช้งานสารเคมีและวัตถุอันตราย ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม.เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจและหารือมาตรการในการป้องกันและเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาอุบัติภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

พญ.มาลินี กล่าวว่า จากประสบการณ์ในช่วงน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 พบว่า มีปัญหาอุบัติภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายเกิดขึ้น กรุงเทพมหานครซึ่งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมการประกอบกิจการค้าที่มีสารเคมีในกระบวนการผลิตตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 จึงได้จัดโครงการสำรวจและประเมินความเสี่ยง เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมความปลอดภัยของกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่มีความเสี่ยงสูง พร้อมดำเนินงานตามแผนแม่บทพัฒนาความปลอดภัยด้านเคมีวัตถุแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ได้แก่ พัฒนาเครือข่ายข้อมูลข่าวสารเคมีแห่งชาติ พัฒนาระบบการจัดการและป้องกันอุบัติภัยจากสารเคมี รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพการจัดการของเสียวัตถุเคมี ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มีผู้ประกอบการในกลุ่มสถานประกอบการที่มีการจัดเก็บ สะสม ผลิต ขนส่ง และการใช้งานสารเคมีและวัตถุอันตราย ร่วมหารือถึงมาตรการในการป้องกันและเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาอุบัติภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย มีการจัดการสารเคมีที่มีประสิทธิภาพลดความเสี่ยง สร้างความปลอดภัยต่อชุมชนและสภาพแวดล้อม

ทั้งนี้กทม.ถือเป็นศูนย์รวมด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศมีสถานประกอบการที่ผลิต เก็บรักษา บรรจุ และการขนส่งสารเคมีจำนวนมากซึ่งที่ตั้งสถานประกอบการอยู่ใกล้ชุมชน จากการสำรวจพบว่า มีจำนวน 4,750 แห่ง ส่วนใหญ่พบปัญหาการบริหารจัดการสารเคมี คือ ผู้ประกอบการขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการจัดการสารเคมีและวัตถุอันตราย อันตรายจากการสัมผัสสารเคมีและวัตถุอันตราย ขาดมาตรการป้องกันอันตรายและแผนฉุกเฉิน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติภัยสารเคมี กระทบต่อสุขภาพและทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบของสถานประกอบการได้

นอกจากนี้ กทม.ได้ทำการสำรวจและประเมินความเสี่ยงสถานประกอบการที่มีการจัดเก็บการผลิต การใช้งานการสะสมและการขนส่งสารเคมีและวัตถุอันตราย และนำเข้าข้อมูลเข้าสู่ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการสารเคมีและฐานข้อมูลโปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อสืบค้นข้อมูลสารเคมี (Material Safety Data Sheet) ของกทม.ไปแล้ว 2,871 ราย คิดเป็นร้อยละ 60.44 ของสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงอุบัติภัยสารเคมี จำนวนทั้งหมด 4,750 แห่ง โดยผลการประเมินความเสี่ยงสถานประกอบการพบว่าสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงยอมรับไม่ได้ มีจำนวน 28 แห่ง (1.01%) มีความเสี่ยงสูง จำนวน 241 แห่ง (8.69%) มีความเสี่ยงปานกลาง จำนวน 436 แห่ง (15.72%) ที่มีความเสี่ยงน้อย จำนวน 207 แห่ง (7.46%) และมีความเสี่ยงยอมรับได้ มีจำนวน 1,862 แห่ง (67.12%)
กำลังโหลดความคิดเห็น