xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : เสียชีพอย่าเสียสัตย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หลวงปู่...วันนี้ผมได้เข้าปฏิญาณตนเป็นลูกเสือสำรองแล้วครับ..”

“เขาว่ายังไงบ้างล่ะ”

“ข้าขอสัญญาว่า ข้อ ๑ ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์...ข้อ ๒ ข้าจะยึดมั่นในกฎของลูกเสือสำรอง และบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นทุกวัน..ครับ”

“ทิดนวย...ดีใจไหมล่ะ..ลูกเป็นลูกเสือสำรองแล้ว”

“ดีใจสิครับ..สมัยผมยังเด็กอยู่ก็อยากเป็นลูกเสือมากเลยครับ เห็นรูปสมเด็จพระบรมฯ ตอนทรงชุดลูกเสือแล้ว..อยากเป็นสุดๆเลยครับหลวงพ่อ..นี่เจ้าหนูเขามารบเร้าให้ไปซื้อชุดตั้งแต่เปิดเทอมเลยครับ..คิดแล้วก็ภูมิใจ..ได้เป็นลูกเสือตามพระองค์ท่าน”

“รู้ไหมว่าเป็นลูกเสือแล้ว ต้องปฏิบัติตนอย่างไร เจ้าอ๊อด...”

“ต้องทำตาม กฎของลูกเสือ คุณครูให้ท่องจำ มี ๑๐ ข้อครับหลวงปู่ ...ข้อ ๑. ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้ ข้อ ๒. ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และซื่อตรงต่อผู้มีพระคุณ ข้อ ๓. ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่น ข้อ ๔. ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคนและเป็นพี่น้องกับลูกเสืออื่นทั่วโลก ข้อ ๕. ลูกเสือเป็นผู้ สุภาพเรียบร้อย ข้อ ๖. ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์ ข้อ ๗. ลูกเสือเชื่อฟังคำสั่งของบิดามารดา และผู้บังคับบัญชา ด้วยความเคารพ ข้อ ๘. ลูกเสือมีใจร่าเริง และไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ข้อ ๙. ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์ ข้อ ๑๐. ลูกเสือประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ ครับ”

“แล้วคติพจน์ลูกเสือสำรองว่าอย่างไรล่ะ?”

“คติพจน์ของลูกเสือสำรอง คือ “ทำดีที่สุด” หมายความว่า การทำเพื่อคนอื่นหรือเพื่อส่วนรวม ต้องเป็นการกระทำที่ดีที่สุด”

“เจ้าอ๊อดต้องจำไว้นะว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ผู้สถาปนาลูกเสือไทย ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้เด็กชายจดจำหลักสำคัญ ๓ ประการคือ ๑. ความจงรักภักดีต่อผู้ทรงดำรงรัฐสีมาอาณาจักร โดยต้องตามนิติธรรมประเพณี ๒. ความรักชาติบ้านเมือง และนับถือพระศาสนา ๓. ความสามัคคีในคณะ และไม่ทำลายซึ่งกันและกัน ต่อมาพระองค์พระราชทานคติพจน์ให้กับลูกเสือว่า เสียชีพอย่าเสียสัตย์”

“หลวงปู่ครับ คำว่า ‘ลูกเสือ’ หมายความว่าอะไรครับ?”

“คำว่า ‘ลูกเสือ’ นี้ ร.๖ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า ลูกเสือ บ่ ใช่สัตว์เสือไพร เรายืมมาใช้ด้วยใจกล้าหาญปานกัน ใจกล้ามิใช่กล้าอาธรรม์ เช่นเสืออรัญสัญชาติชนคนพาล ใจกล้าต้องกล้าอย่างทหาร กล้ากอปรกิจการแก่ชาติประเทศเขตตน ทิดนวยจำความหมายของคำว่าลูกเสือของฝรั่งได้ไหมล่ะ?”

“ได้ครับ ลูกเสือมาจากคำว่า SCOUT ซึ่งแต่ละอักษรก็มีความหมายอันเป็นคุณธรรมแฝงอยู่ S : Sincerity หมายถึง ความจริงใจ มีน้ำใสใจจริงต่อกัน C : Courtesy หมายถึง ความสุภาพอ่อนโยน เป็นผู้มีมารยาทดี O : Obedience หมายถึง การเชื่อฟัง อ่อนน้อมถ่อมตน อยู่ในโอวาท U : Unity หมายถึง ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รู้รักสามัคคี T : Thrifty หมายถึง ความมัธยัสถ์ ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด แค่นี้ครับ”

“โอ้โห มีความหมายทุกอักษรเลยหรือครับคุณพ่อ”

“ใช่ซิ.. หลวงพ่อครับ แล้วคำขวัญลูกเสือที่ว่า เสียชีพอย่าเสียสัตย์ มีที่มาอย่างไรครับ ?”

“อาตมาก็ไม่ทราบนะ ร.๖ ท่านทรงเป็นปราชญ์ ท่านอ่านหนังสือธรรมะมากเล่ม ไม่รู้ว่าจะนำมาจากเรื่องนันทิยมิคราชชาดกหรือไม่ เพราะเรื่องนี้กล่าวถึงการรักษาสัจจะของกวางนันทิยะ ที่ยอมตายแต่ไม่ยอมเสียสัจจะ อาตมาก็ไม่แน่ใจนะทิดนวย”

“ผมอยากฟังครับหลวงปู่”

“เรื่องมันเกิดสมัยพุทธกาลโน้น วันหนึ่ง ณ พระวิหารเชตวัน พระพุทธเจ้าทรงปรารภภิกษุผู้เลี้ยงมารดา แล้วตรัสถามภิกษุรูปนั้นว่า ได้ทราบความว่า เธอเลี้ยงคฤหัสถ์หรือ? ภิกษุทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า จึงตรัสถามต่อไปว่า เขาเป็นอะไรกับเธอ? ภิกษุทูลว่า เป็นมารดาบิดาของข้าพระองค์ พระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดีแล้ว ดีแล้วภิกษุ เธอรักษาวงศ์ของโบราณบัณฑิตทั้งหลายไว้ เพราะว่าโบราณบัณฑิตทั้งหลาย แม้เกิดในกำเนิดเดียรัจฉาน ก็ได้ให้แม้ชีวิตแก่มารดาบิดา ทั้งหลาย เราจะเล่าเรื่องในอดีตกาลให้ฟัง...

“ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าโกศลครองราชย์สมบัติอยู่ในเมืองสาเกต แคว้นโกศล พระโพธิสัตว์เกิดเป็นกวาง เมื่อเติบโตแล้วมีชื่อว่านันทิยะ ถึงพร้อมด้วยศีลและอาจาระ เลี้ยงมารดาบิดา

พระเจ้าโกศลมีพระทัยฝักใฝ่กับการล่าสัตว์ ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนมาก ไม่สามารถทำมาหากินได้ เพราะต้องไปคอยต้อนสัตว์ให้พระเจ้าโกศลล่า ชาวบ้านจึงประชุมกันว่าจะล้อมสวนป่าอัญชันกั้นคอกไว้ แล้วต้อนกวางเข้าไปให้พระราชาได้ล่าได้ตามประสงค์ คิดแล้วก็จัดแจงช่วยงานกันเต็มกำลัง เมื่อเสร็จแล้วก็ออกไปต้อนกวางเข้ามาอยู่ในป่านี้...

ขณะนั้น กวางนันทิยะได้พาพ่อแม่ไปนอนอยู่ที่พื้นดินในดอนเล็กๆแห่งหนึ่ง เมื่อเห็นชาวบ้านเข้ามาต้อนกวางในป่าที่ตนอยู่ กวางนันทิยะก็คิดว่า วันนี้เราควรจะสละชีพให้ชีวิตเป็นทานเพื่อพ่อแม่ คิดแล้วจึงลุกขึ้นทำความเคารพพ่อแม่ แล้วขอขมาพร้อมกล่าวว่า

ข้าแต่พ่อและแม่ ถ้าคนเหล่านี้เข้ามาในดอนนี้แล้ว จักเห็นพวกเราทั้ง ๓ การที่พ่อแม่มีชีวิตอยู่เป็นสิ่งประเสริฐสำหรับลูก ลูกจักให้ทานชีวิตเพื่อพ่อแม่ พอคนเหล่านั้นมาถึงชายดอน ลูกก็จะออกไปยืนให้พวกเขาเห็น พวกเขาจะเข้าใจว่า ในดอนเล็กๆ นี้ คงจักมีกวางตัวเดียวเท่านั้น แล้วก็ไม่พากันเข้าไปดอน ขอพ่อแม่จงอย่าประมาทเถิด

เมื่อบอกเสร็จแล้วกวางนันทิยะไปยืนอยู่ที่ชายดอน รออยู่อย่างสงบ พอชาวบ้านมาพบ ก็คิดว่ามีกวางตัวเดียว จึงต้อนให้ไปอยู่รวมกับฝูงกวางตัวอื่นๆ แล้วนำไปยังสวนป่าอัญชันที่จัดเตรียมไว้ พร้อมกับส่งคนไปทูลให้พระเจ้าโกศลทรงทราบ...

ตั้งแต่นั้นมา พระเจ้าโกศลก็เสด็จไปล่ากวางในสวนป่าอัญชันด้วยพระองค์เอง ฝูงกวางก็ทำกติกากันจัดเวรให้กวางไปรอรับการล่าของพระเจ้าโกศลทีละตัว.. กวางนันทิยะก็ได้อาศัยอยู่ในสวนนั้น หาอาหารไปตามอัธยาศัย แม้จะมีความสามารถในการกระโดดข้ามรั้วหนีกลับไปหาพ่อแม่ได้... ก็ไม่ยอมกระทำ

หลายวันต่อมา... พ่อแม่ของกวางนันทิยะก็คิดถึงลูกมาก จึงไปเลาะเล็มหญ้าข้างทางเดินในป่าที่ตนอยู่ เมื่อเห็นพราหมณ์คนหนึ่งเดินผ่านมา ก็เข้าไปถามว่าจะไปไหน พราหมณ์ก็ตอบว่าจะไปเมืองสาเกต พ่อแม่กวางนันทิยะก็ฝากความไปแจ้งแก่ลูกของตนว่าอยากจะพบลูก พราหมณ์ก็รับปาก

รุ่งเช้าวันต่อมา พราหมณ์ก็ไปที่สวนป่าอัญชัน สืบหากวางนันทิยะจนเจอ แล้วแจ้งข้อความจากพ่อแม่ของกวางนันทิยะที่ได้ฝากมา กวางนันทิยะขอบคุณพราหมณ์ และบอกว่า

ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าจะต้องกลับไปหาพ่อแม่ แต่จะไม่กระโดดข้ามรั้วหนีไป เพราะข้าพเจ้าได้กินหญ้าน้ำที่เป็นของพระราชาแล้ว ข้าพเจ้าจึงอยู่ในฐานะเป็นหนี้พระราชา ทั้งข้าพเจ้าก็อยู่ในท่าม กลางหมู่กวางเหล่านี้มานานแล้ว การจะไปโดยไม่ได้แสดงกำลังของตนเอง ไม่ทำความสวัสดีให้แก่พระราชา และกวางทั้งหลายเหล่านั้น นี่ไม่สมควรแก่ข้าพเจ้า แต่เมื่อถึงวาระที่ข้าพเจ้าจะไปให้พระราชาล่า ข้าพเจ้าจักทำความสวัสดีแก่พระองค์และกวางเหล่านั้นให้ถึงสุขสบาย แล้วข้าพเจ้าจึงจะกลับไปหาพ่อแม่...

เมื่อถึงวาระของกวางนันทิยะ กวางนันทิยะก็ออกยืนเล็มหญ้าในบริเวณที่เหมาะสม วันนั้นพระเจ้าโกศลได้เสด็จมายังสวนป่าพร้อมด้วยข้าราชบริพารจำนวนมาก เมื่อพระองค์เห็นกวางนันทิยะ ก็ทรงโก่งลูกธนู ด้วยหมายพระทัยว่า เราจะยิงกวางตัวนี้

กวางนันทิยะมองเห็นแล้วก็ไม่หนีไปเหมือนสัตว์ทั้งหลาย ที่เห็นคนจะมาทำร้าย ก็หนีไป กวางนันทิยะยืนเล็มหญ้าทำเป็นเหมือนไม่มีภัย และแผ่เมตตาให้เป็นอารมณ์แล้ว ก็ยืนเอียงข้างเอาท้องที่อ้วนพีให้เป็นเป้าแก่พระราชา โดยไม่กระดิกเลย

พระเจ้าโกศลเห็นดังนั้น ก็ไม่สามารถปล่อยลูกศรได้ กวางนันทิยะจึงทูลว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์ทรงปล่อยลูกศรไม่ออกหรือ ขอพระองค์จงทรงยิงลูกศรมาเถิด

พระเจ้าโกศลทรงตอบว่าเราไม่สามารถ ปล่อยลูกศรออกไปได้
กวางนันทิยะจึงทูลต่อไปว่า ข้าแต่มหาราช ถ้าเช่นนั้น พระองค์ก็ทรงรู้คุณธรรมของผู้มีคุณธรรม แล้วก็สนทนากับพระเจ้าโกศล จนพระองค์ทรงเลื่อมใส ทรงทิ้งธนู แล้วตรัสว่า

แม้ท่อนไม้ท่อนนี้ไม่มีจิตใจ ก็ยังรู้คุณธรรมของท่านก่อน ฝ่ายข้าพเจ้าเป็นมนุษย์ มีจิตใจหารู้ไม่ ขอจงให้อภัยฉัน ฉันให้อภัยเจ้า

กวางนันทิยะจึงทูลว่า ข้าแต่มหาราช พระองค์ทรงพระราชทานอภัยแก่ข้าพระพุทธเจ้าแล้ว แต่ฝูงกวางในสวนนี้จักทำอย่างไร? พระเจ้าโกศลตรัสตอบว่า แม้สัตว์ทั้งหมดในสวนนี้ เราก็ให้อภัย

กวางนันทิยะก็ให้พระเจ้าโกศลทรงประดิษฐานอยู่ในศีล ๕ แล้วทูลว่า ข้าแต่มหาราช ธรรมดาพระราชาควรทรงละการ ลุอำนาจอคติ ไม่ทรงยังทศพิธราชธรรมให้กำเริบ ครองราชย์โดยธรรม โดยสม่ำเสมอ ขอพระองค์จงทรงตรวจดูกุศลธรรมเหล่านี้ที่สถิตอยู่แล้วในพระองค์ คือ ทาน ศีล การบริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเคร่งครัด ความไม่พิโรธ การไม่เบียดเบียน ความอดทน ความไม่ผิดพลาดเถิด

พระเจ้าโกศลได้สดับแล้ว ก็ทรงปีติและโสมนัส รับสั่งให้พากวางนันทิยะกลับไปยังพระราชวัง บำรุงให้เป็นสุข ๒ - ๓ วัน กวางนันทิยะก็ทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงทรงโปรดให้ราชบุรุษตีกลองร้องป่าว ประกาศการพระราชทานอภัยแก่สรรพสัตว์ในพระนครนี้เถิด และอย่าได้ทรงประมาทในสรรพกิจเลย แล้วกวางนันทิยะก็ลากลับไปหาพ่อแม่”

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประมวลชาดกจบแล้ว ทรงเล่าต่อไปว่า ใน พุทธกาลนี้ พ่อแม่ของกวางนันทิยะ ได้แก่ ตระกูลมหาราช พราหมณ์ ได้แก่ พระสารีบุตร พระราชาได้แก่ พระอานนท์ ส่วนกวางนันทิยะ ได้แก่ เราตถาคต ในที่สุดแห่งสัจธรรม ภิกษุผู้เลี้ยงมารดาบิดา ดำรงอยู่แล้ว ในโสดาปัตติผล..

“จบแล้ว .. ฟังเพลินเลยนะเจ้าอ๊อด”

“หลวงปู่ครับ แล้วมันเกี่ยวกับคำขวัญลูกเสือที่ว่า เสียชีพอย่าเสียสัตย์ ตรงไหนครับ?”

“สังเกตไหมว่า กวางนันทิยะสามารถที่จะหนีไปจากสวนป่าอัญชันได้ แต่ก็ไม่หนี เพราะกวางนันทิยะถือสัจจะที่ยอมสละชีพให้กับพ่อแม่ ตอนที่ถูกจับไง และตอนที่บอกกับพราหมณ์ว่าตนเป็นหนี้พระราชา และฝูงกวางในสวนป่าอัญชัน จึงยึดถือเป็นสัจจะไว้ ยอมตายตามวาระ ไม่ยอมหนีไปด้วยกำลังของตนเพียงตัวเดียว นี่ก็เป็นลักษณะของการยอมเสียชีวิต แต่ไม่ยอมเสียสัจจะ

ซึ่งหลวงปู่คิดว่า ร.๖ ท่านเป็นสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ท่านก็คงเอาคำพ้องเสียง “สัจจะ” กับ “สัตย์” ในซื่อสัตย์มาสลับกัน แล้วทรงประดิษฐ์คำขวัญพระราชทานแก่ลูกเสือว่า เสียชีพอย่าเสียสัตย์คือ ยอมตาย แต่ไม่ยอมเสียความซื่อสัตย์ ซึ่งเป็นคุณธรรมของลูกเสือที่สำคัญที่สุด”

“ผมฟังชาดกแล้ว คิดตามคำพูดหลวงพ่อ พระราชอัจฉริยภาพในภาษาไทยของ ร.๖ นี่เป็นเลิศจริงๆ เลยครับ”

“ทิดนวยคงลืมพระราชดำรัสของในหลวงแล้วกระมัง ที่ตรัสว่า “ .....เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่ง ต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้... สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก..” นี่ก็สำคัญนะ ต้องจำไว้ จะได้ทำตัวให้เป็นแบบอย่างแก่ลูกๆ ในการใช้ภาษาไทยเรา”

“ครับหลวงพ่อ เอ้า..เจ้าอ๊อด กราบลา หลวงปู่ได้แล้ว หลวงปู่ต้องไปลงโบสถ์แล้วลูก ขอกราบลาหลวงพ่อครับ”

“เจริญพร”

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 139 กรกฎาคม 2555 โดย พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)



กำลังโหลดความคิดเห็น