ใกล้เปิดเทอม พ่อแม่บางคนก็เหมือนจะสิ้นใจ กับมหกรรมซื้อหนังสือ ชุดนักเรียน ตลอดจนอุปกรณ์การเรียนของเด็ก ๆ ตามรายการที่โรงเรียนจัดมาให้
ผู้ปกครองเครียด!
จากการสอบถามความคิดเห็นของครอบครัวที่มีลูกวัยเรียนจำนวน 30 ครอบครัวโดยทีมงาน Life & Family พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของลูกใน พ.ศ. นี้ของแต่ละครอบครัวนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัวมีค่านิยมเรื่องการเลือกโรงเรียนจากชื่อเสียง ความเด่นดังหรือไม่ พ่อแม่ยอมรับและสามารถจ่ายเงินบริจาคจำนวนมากเพื่อแลกกับการเข้าเรียนได้หรือไม่ โรงเรียนมีการผูกขาดการจำหน่ายชุดนักเรียน - หนังสือเรียนกับพ่อแม่หรือไม่ ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้การเตรียมเงินสำหรับช่วงเปิดเทอมของลูกนั้นแตกต่างกันไปตามปัจจัยดังกล่าว แต่จากการสอบถามพบว่า การเตรียมเงินสำหรับใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของลูกในภาคการศึกษานี้ ครอบครัวผู้ตอบแบบสอบถามมีการเตรียมเงินตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาทกันเลยทีเดียว
โดยในเด็กอนุบาลนั้น ค่าใช้จ่ายที่แพงที่สุดหนีไม่พ้น ค่าเทอม และค่าแรกเข้าที่ทางโรงเรียนเรียกเก็บ จากการสอบถามพ่อแม่ผู้ปกครองนั้น พบว่าค่าเทอมเด็กอนุบาลมีตั้งแต่หลักหมื่นต้น ๆ จนถึงหลักหมื่นปลาย ๆ ซึ่งพ่อแม่ส่วนหนึ่งยอมรับว่า แม้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะค่อนข้างสูง แต่เพราะผู้ปกครองต้องการหาโรงเรียนที่ปลอดภัย และไว้วางใจได้สำหรับลูก ๆ จึงยอมจ่ายเพื่อแลกกับความสบายใจนั่นเอง
นอกจากนี้ ยังพบว่าพ่อแม่ที่เริ่มพาลูกเข้าเรียนในชั้นอนุบาล และประถมศึกษาปีที่ 1 นั้นมีระดับความเครียดค่อนข้างสูง เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายยิบย่อยมากมายนอกเหนือจากค่าเทอม เช่น การเรียนซัมเมอร์เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก อีกทั้งการซื้อชุดนักเรียนให้ลูกวัยอนุบาล - ประถมปีที่ 1 นั้นก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากเด็กไม่ค่อยให้ความร่วมมือ กับผู้ปกครองเท่าใดนัก แม้จะมีบางโรงเรียนจัดวันซื้อชุดนักเรียนขึ้นที่โรงเรียนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ปกครองแล้วก็ตาม
ขณะที่พ่อแม่ที่มีลูกเรียนในระดับชั้น ป.2 - ป.6 หรือ มัธยมศึกษาขึ้นไปนั้นพบว่า ความเครียดเรื่องการจัดการเกี่ยวกับการเรียนของลูกน้อยลง เนื่องจากมีความคุ้นเคยกับระบบของทางโรงเรียนมากขึ้น อีกทั้งเด็กบางคนยังสามารถสวมชุดนักเรียน - รองเท้าเก่าได้ จึงทำให้ภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ในจุดนี้ลดลง
จากการสำรวจความคิดเห็นยังพบว่า "รองเท้า" คือเครื่องแต่งกายเด็กที่พ่อแม่ยอมรับว่าต้องซื้อใหม่บ่อยมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงชั้นประถมศึกษาตอนปลายไปจนถึงช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น รองลงมาคือกระโปรง - กางเกง
ค้าปลีกเผยต้นทุนเพิ่งต้องขึ้นราคา
อย่างไรก็ดี ในส่วนของเครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนนั้น มีเสียงโอดครวญจากผู้ปกครองส่วนหนึ่งด้วยเช่นกันว่าร้านค้าปลีกได้มีการปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งจากการสอบถามราคาของผู้ค้าปลีกย่านบางลำภูโดยทีมงาน Life & family พบว่า ผู้ค้าปลีกบางรายยอมรับว่าต้นทุนของสินค้าที่วางจำหน่ายนั้นเพิ่มขึ้นประมาณ 10 - 20 บาทต่อชิ้นจริง ทำให้ทางร้านค้าต้องปรับราคาเพิ่มขึ้น 20 - 30 บาทต่อชิ้นเป็นอย่างน้อย
นอกจากนี้ หากอ้างอิงข้อมูลราคาชุดนักเรียนปี พ.ศ. 2554 ที่ร้านจำหน่าย พบว่า ราคาชุดนักเรียนชั้นอนุบาลอยู่ที่ 300 บาทต่อชุด แต่จากการสำรวจของทีมงาน Life & Family ในปีการศึกษา 2555 นี้พบว่าอยู่ที่ราคา 375 - 430 บาทต่อชุดเลยทีเดียว หรือเท่ากับว่า ชุดนักเรียน 1 ชุดแพงขึ้นประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ หรือในระดับชั้นประถมศึกษาที่เคยมีราคาขาย (พ.ศ. 2554) อยู่ที่ 360 บาทต่อชุดเป็นอย่างต่ำ มาในพ.ศ. 2555 นี้ก็พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 450 - 900 บาทต่อชุดกันเลยทีเดียว
ส่วนชุดลูกเสือ เนตรนารี ปีการศึกษานี้ ชุดดังกล่าวมีราคาอยู่ที่ 300 - 690 บาท (ลูกเสือ) และ 350 - 650 บาท (ชุดเนตรนารี)
สำหรับอุปกรณ์การเรียน พ่อแม่ส่วนหนึ่งยอมรับว่า ลูกในวัยมัธยม มีความต้องการใช้เครื่องเขียนที่มีลักษณะพิเศษมากขึ้น เช่น ปากกาเน้นข้อความ ปากกาเมจิกที่มีสีสัน หรือกลิ่นหอม ซึ่งมีราคาค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับปากกาลูกลื่นธรรมดา
พ่อแม่กด Like "ผ่อนค่าเทอม"
เพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองในภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ บางโรงเรียนจึงได้มีมาตรการ "ผ่อนค่าเทอม" ออกมาแบ่งเบาภาระ โดยอาจแบ่งจ่าย 3 เดือน เพื่อให้ผู้ปกครองได้หายใจทั่วท้องมากขึ้น นอกจากนี้บางโรงเรียนก็อาจทำการเรียกเก็บค่าเทอมเด็กล่วงหน้าไปแล้ว ตั้งแต่สอบปลายภาคเสร็จ เพื่อกระจายภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองไม่ให้มากระจุกตัวในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคมมากจนเกินไป
สำหรับเทคนิคการบริหารเงินของพ่อแม่ในช่วงใกล้เปิดเทอมนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามรายหนึ่งกล่าวว่า ครอบครัวของเธอจะใช้บัตรส่วนลด หรือคูปองต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์ โดยจะดูว่าช่วงใดทางร้านค้ามีการลดราคาสินค้าที่ต้องการ ครอบครัวก็จะซื้อในช่วงลดราคา พร้อมมองต่างมุมในประเด็นที่เด็ก ๆ มีเครื่องแต่งกาย หรืออุปกรณ์การเรียนใหม่ในวันเปิดเทอมแรกด้วยว่า
"มันจะเหมือนกันหมดเลย จนแยกไม่ออก ที่โรงเรียนลูกให้ถอดรองเท้าไว้หน้าห้องเรียน ทีนี้พอเปิดเทอม เด็กใส่รองเท้าใหม่กันหมดเลย พอเลิกเรียนออกมา ก็จะจำไม่ได้ว่าของใครคู่ไหน เคยมีเด็กใส่ผิด สลับรองเท้ากลับบ้านไปก็มี"
อย่างไรก็ดี จากการสอบถามความคิดเห็นของพ่อแม่ผู้ปกครอง กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่า ค่าใช้จ่ายของลูกในปีนี้เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา แต่เป็นการเพิ่มในระดับที่รับได้ ไม่มากจนเกินงบประมาณที่เตรียมไว้แต่อย่างใด
เปรียบเทียบราคาเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2554 - 2555
ระดับชั้น อนุบาล
ปีการศึกษา 2554/ราคาต่อชุด 300 บาท
ปีการศึกษา 2555/ราคาต่อชุด 375 - 430 บาท
ประถมศึกษาปีที่ 1 - 6
ปีการศึกษา 2554/ราคาต่อชุด 360 บาท
ปีการศึกษา 2555/ราคาต่อชุด 450 - 900 บาท
มัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6
ปีการศึกษา 2554/ราคาต่อชุด 450 บาท
ปีการศึกษา 2555/ราคาต่อชุด 450 - 900 บาท
หมายเหตุ: - ข้อมูลปี 2544 มาจากนิตยสาร POSITIONING ฉบับเดือน พ.ค.2544 ส่วนปี 2555 ทีมข่าว Life & Family ได้ทำการสำรวจ