xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.ให้สวนดุสิตสำรวจเรียนฟรีเพิ่มเติมแบบเจาะลึก‏

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชินภัทร ภูมิรัตน
สพฐ.มอบ สวนดุสิตโพล สำรวจผลนโยบายเรียนฟรีเพิ่มเติมแบบเจาะลึก และให้สำรวจความต้องการในพื้นที่ที่น้ำท่วม และไม่ท่วม คาดโพลเสร็จสมบูรณ์ ธ.ค.นี้ ก่อนจะนำมาสู่การพิจารณาปรับนโยบายเรียนฟรี ขณะที่ผลโพลสำรวจในเบื้องต้น พบผู้ปกครองรักความยุติธรรมอยากให้จัดสรรงบประมาณด้วยวิธีที่เหมาะสม

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มอบสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายเรียนฟรี 15 ปีจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชาชนทั่วไป ผู้ปกครอง ครู และบุคลากรทางการศึกษา รวม 2,672 คน กระจายในทุกภูมิภาคและกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ผลการสำรวจความคิดเห็น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้และสนับสนุนนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ที่รัฐได้จัดสรร 5 รายการให้ผู้ปกครองนักเรียนฟรี ได้แก่ ค่าเล่าเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียน ตำราเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้กับนักเรียนตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ส่วนวิธีจัดสรรเงินค่าอุปกรณ์การเรียน และเครื่องแบบนักเรียนที่เหมาะสมนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.95 เห็นว่า ควรให้ผู้ปกครองจัดซื้อเองและนำใบเสร็จมาเบิกที่สถานศึกษา รองลงมา ร้อยละ 30.90 ให้ใช้ระบบคูปองแทนเงินสด ไปซื้อที่ร้านจำหน่าย ขณะที่ ร้อยละ 25.90 ให้ใช้ระบบบัตรเงินสด

สำรับรายการที่ผู้ปกครอง/นักเรียน ต้องการนำงบประมาณที่ได้รับจากโครงการเรียนฟรีไปซื้อเองมากที่สุดนั้น เป็นเสื้อนักเรียน ร้อยละ 18.56 รองลงมาเป็น กางเกง/กระโปรงนักเรียน ร้อยละ 16.32 รองเท้านักเรียน ร้อยละ 14.35 เครื่องเขียน ร้อยละ 11.51 ชุดลูกเสือ/เนตรนารี ร้อยละ 10.60 ถุงเท้า ร้อยละ 9.73 กระเป๋านักเรียน ร้อยละ 9.20 ชุดกีฬา ร้อยละ 8.30 และอื่นๆ เช่น สื่อการเรียน เน็ตบุ๊ก โน๊ตบุ๊ก ร้อยละ 0.75 ส่วนความคิดเห็นเรื่องการสละสิทธิ์เรียนฟรีของผู้ปกครองนั้น ร้อยละ 68.71 เห็นด้วยกับการสละสิทธิ์ และต้องการให้นำงบประมาณที่สละสิทธิ์ไปสมทบกับโรงเรียนขนาดเล็กหรือในถิ่นทุรกันดาร

นายชินภัทร กล่าวต่อว่า ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นด้วยกับการสละสิทธิ์นั้น ได้คะแนนน้อยเพราะประชาชนต้องการให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดสรรงบประมาณเรียนฟรีให้เกิดความเป็นธรรมแต่แรก สะท้อนได้จากความคิดเห็นในคำถามเรื่องการจัดสรรงบประมาณอย่างมีคุณภาพควรทำอย่างไร ซึ่งร้อยละ 43.59 ต้องการให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนอย่างเหมาะสม โดยแยกกำหนดอัตราให้แตกต่างกันตามประเภทและขนาดของโรงเรียน ซึ่งก็สอดคล้องกับที่ ศธ.ดำเนินการอยู่ ที่มีการกำหนดอัตราอุดหนุนเงินเรียนฟรีแยกตามระดับการศึกษา และในอนาคต สพฐ.ยังต้องแยกอัตราเงินอุดหนุนตามประเภทและขนาดของโรงเรียนด้วย โรงเรียนขาดเล็กกับขนาดใหญ่ โรงเรียนในเมืองและโรงเรียนนอกเมือง ควรได้รับจัดสรรเงินอุดหนุนในอัตราที่แตกต่างกัน โดยยึดหลักการว่า โรงเรียนที่มีความพร้อม มีศักยภาพสูงควรได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนในอัตราที่น้อยกว่า เพื่อนำงบประมาณที่ประหยัดได้ไปช่วยเหลือโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล

ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้แท็บเล็ตเพื่อการเรียนการสอนนั้น ร้อยละ 38.92 เห็นว่า ทำให้เกิดการเรียนรู้เท่าทันเทคโนโลยีในปัจจุบันมากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 33.87 เห็นว่า เป็นการใช้สื่อที่ทันสมัยในการจัดการเรียนการสอน และร้อยละ 31.85 เห็นว่า เด็กจะได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษไปในตัว อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นร้อยละ 47.08 ห่วงว่า จะมีการนำแท็บเล็ตไปใช้ในทางที่ผิดทำให้การตั้งใจเรียนน้อยลง และร้อยละ 18.81 ห่วงว่า การใช้แท็บเล็ตจะทำให้ขาดความสามารถในทักษะอ่านเขียน ขณะที่ ร้อยละ 13.88 เห็นว่า เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณทั้งการจัดหาและบำรุงรักษา อย่างไรก็ตาม สวนดุสิตโพล ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นเพิ่มเติมเจาะลึกในเรื่องแท็บเล็ตจากกลุ่มตัวอย่างอีก 400 คน ที่เป็นกลุ่มครูวิชาคอมพิวเตอร์ หรือวิชาอื่นๆ ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ประกอบการสอน รวมทั้งผู้ปกครองที่มีความรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี เพื่อจะได้เห็นแนวทางว่า การใช้แท็บเล็ตเพื่อการเรียนการสอนนั้น ควรใช้อย่างไร ในวิชาใดบ้าง และควรมีสเป็กและราคาระหว่างใดจึงจะเหมาะสม

“ขณะเดียวกัน ได้มอบให้สวนดุสิตโพลไปสำรวจเพิ่มเติมแบบเจาะลึกในเรื่องนโยบายเรียนฟรีเพิ่มเติมอีกครั้งด้วย เลือกสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง และผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมเพื่อดูว่า มีความต้องการเพิ่มเติมในเรื่องใดบ้าง คาดว่า ผลโพลจะเสร็จสมบูรณ์ประมาณต้นเดือนธันวาคม จากนั้น สพฐ.จะนำผลโพลดังกล่าวมาตั้งวงเสวนาเรื่องนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ถึงตอนนั้น จึงจะรู้ว่า ควรปรับเปลี่ยนนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างไรบ้าง ซึ่ง สพฐ.จะเร่งทำข้อสรุปดังกล่าวเสนอกระทรวงศึกษาธิการในเดือนมากราคม 2555” นายชินภัทร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น