xs
xsm
sm
md
lg

อาหารเป็นยา : กินพืช ผัก ผลไม้ ช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในทางเคมีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) คือ สารที่สามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดกระบวนการออกซิเดชั่น

กระบวนการออกซิเดชั่นมีได้หลายรูปแบบ เช่น กระบวนการที่ทำให้เหล็กกลายเป็นสนิม ทำให้แอปเปิ้ลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล หรือทำให้น้ำมันพืชเหม็นหืน ส่วนกระบวนการออกซิเดชั่นที่เกิดในร่างกาย เช่น การย่อยสลายโปรตีนและไขมันจากอาหารที่กิน การใช้ออกซิเจนจากอากาศที่หายใจเข้าไปไปเผาผลาญอาหารที่ร่างกายได้รับให้เป็นพลังงานสำหรับการทำงานของเซลล์ต่างๆ ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ

อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจะทำปฏิกิริยากับโมเลกุลที่สำคัญในร่างกาย เช่น ไขมัน โปรตีน ทำให้เกิดความเสียหาย ตัวอย่างเช่น เมื่ออนุมูลอิสระทำปฏิกิริยากับแอลดีแอล ซึ่งเป็นโคเลสเตอรอลตัวเลว ทำให้เกิดออกซิไดซ์แอลดีแอล ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือด และเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหัวใจ

อนุมูลอิสระ คืออะไร

อนุมูลอิสระเป็นสารพิษต่อเซลล์ร่างกาย ถ้ามีมากในเซลล์ก็เป็นอันตราย โดยจะทำลายดีเอ็นเอ เยื่อหุ้มเซลล์และอื่นๆ อนุมูลอิสระมีผลต่อการอักเสบและการทำลายเนื้อเยื่อในระยะสั้น ในระยะยาวอาจมีผลต่อความเสื่อมและความแก่ของเซลล์ และอาจเป็นสารการก่อมะเร็งและโรคหัวใจด้วย

• อนุมูลอิสระมีที่ไหนบ้าง

มีทั้งภายนอกและภายในร่างกาย ภายนอกได้แก่ มลพิษในอากาศ โอโซน ควันบุหรี่ ฝุ่นควัน แสงแดด อาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัว ส่วนภายในร่างกาย ได้แก่ ออกซิเจน เพราะในกระบวนการเผาผลาญสารอาหารของร่างกายซึ่งมีความจำเป็นต้องอาศัยออกซิเจนช่วย จะเกิดออกซิเจนที่มีประจุลบ (O2) ซึ่งก็คืออนุมูลอิสระนั่นเอง

• ความสำคัญของสารต้านอนุมูลอิสระ

สารต้านอนุมูลอิสระสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคหลายโรค โดยเฉพาะโรคที่มีความสัมพันธ์กับอาหาร เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคสมอง (เช่น อัลไซเมอร์) เป็นต้น และยังช่วยชะลอความแก่
โดยปกติร่างกายสามารถกำจัดอนุมูลอิสระก่อนที่มันจะทำอันตราย แต่ถ้ามีการสร้างอนุมูลอิสระเร็วหรือมากเกินกว่าร่างกายจะกำจัดทัน อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจะสร้างความเสียหายต่อเซลล์และเนื้อเยื่อได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

สารต้านอนุมูลอิสระลดความเสียหาย ที่เกิดจากอนุมูลอิสระได้ 2 ทาง คือ ลดการสร้างอนุมูลอิสระในร่างกาย และลดอันตรายที่เกิดจากอนุมูลอิสระ

สารต้านอนุมูลอิสระไม่สามารถแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว แต่สามารถชะลอให้ความเสียหายเกิดช้าลงได้

ดังนั้น เราจึงควรได้รับสารต้านอนุมูลอิสระให้พอเพียงต่อความต้องการในแต่ละวัน เพื่อให้เกิดความสมดุลในร่างกายระหว่างสารต้านอนุมูลอิสระ และอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้น

• สารต้านอนุมูลอิสระได้แก่ อะไรบ้าง
และมีในอาหารประเภทใด


สารต้านอนุมูลอิสระหรือสารแอนติออกซิแดนซ์ (antioxidants) ได้แก่ วิตามินซี วิตามินอี ซีลีเนียม วิตามินเอ พฤกษาเคมีต่างๆ (phytochemicals) เช่น สารประกอบ ฟีโนลิก(polyphenol) จากชาและสมุนไพรบางชนิด ไอโซฟลาโวน (isoflavones) จากถั่วเหลือง เบตาแคโรทีนจากผักใบเขียว (ตำลึง ผักบุ้ง) ผัก ผลไม้ที่มีสีเหลือง (มะละกอสุก, ฟักทอง, มะม่วงสุก) และอาหารที่ให้วิตามินซีสูง ได้แก่ พืชผักสีเขียวและผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อให้ร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระพอเพียงกับความต้องการ จึงควรกินผักผลไม้สีเข้มเป็นประจำ เพราะนอกจากจะได้รับสารต้านอนุมูลอิสระแล้ว ยังได้รับใยอาหารด้วย ซึ่งจะช่วยในการขับถ่าย ป้องกันอาการท้องผูก ช่วยนำโคเลสเตอรอลออกจากร่างกาย และเร่งการนำสารพิษที่อาจทำให้เป็นมะเร็งบางชนิดออกจากร่างกายเร็วขึ้น

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 138 มิถุนายน 2555 โดย ปุยฝ้าย)





กำลังโหลดความคิดเห็น